“มันทำให้ค่าไฟประชาชนต้องแพงขึ้นปีละ 3,600 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 25 ปี มันก็หมายถึงค่าไฟของประชาชนที่ต้องจ่ายแพงขึ้น เกือบ 90,000 ล้านบาท นี่คือผลลัพธ์ของการที่ไปลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเอกชน และเป็นโครงการที่ไม่มีการประมูลแข่งขันราคา” วันนี้ (24 เมษายน 2568) วรภพ วิริยะโรจน์ และ ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ร่วมแถลงข่าวกรณีสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ที่อาคารรัฐสภา
“มหากาพย์ของขบวนการค่าไฟแพง ที่มีการสานต่อ ต่อเนื่องกันมาหลายรัฐบาล” สส.วรภพ เล่าว่านับตั้งแต่ปี 2565 หรือในรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการริเริ่มโครงการซื้อไฟฟ้า และทยอยลงนามในสัญญา จนถึงปีนี้ โดยตอนนี้ยังลงนามไม่ครบ ทำให้ยังมีโอกาสให้รัฐบาลทบทวน และแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น
วรภพระบุว่า สิ่งที่ทำให้ค่าไฟของประชาชนแพงขึ้น เพราะเป็นการกำหนดราคา ที่รัฐบาลจะไปซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ในราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น โดยค่าไฟพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลประกาศจะรับจากเอกชน ในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ส่วนพลังงานลม 3.1 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาที่ ‘คงที่’ ทั้งหมด สำหรับปี 2567-2573 โดยไม่มีการประมูลผ่อนผันราคา
ทั้งๆ ที่จริงแล้ว พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนถูกลงทุกปี วรภพยกตัวอย่าง ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน ก็อยู่ที่ 1.8 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่รัฐบาลประกาศรับซื้อคือ 2.2 บาทต่อหน่วย
ดังนั้นส่วนต่างที่อาจเกิดขึ้น จากการที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าในราคาคงที่ ขณะที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนกลับถูกลงทุกปี คือปีละ 3,600 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ถูกคิดจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่คำนวณได้ง่ายเท่านั้น
จึงหมายความว่า ตลอดระยะเวลาอายุสัญญา 25 ปีจากนี้ไป คนไทยอาจมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเกือบ 90,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อพิรุธในโครงการอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการคัดเลือกเอกชน ‘ผู้โชคดี’ ที่รัฐบาลไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ เพื่อคำนวณคะแนนทางเทคนิค ในการเลือกเอกชนที่จะร่วมซื้อขายพลังงาน ซึ่งโดยปกติแล้วการประมูลเพื่อแข่งขันราคา จะมีการให้คะแนนทางเทคนิคที่โปร่งใส ว่าคำนวณจากอะไร และปัจจัยใดมีน้ำหนักบ้าง
“ผลลัพธ์ของกระบวนการที่ไม่โปร่งใสนี้ มันเห็นได้ เมื่อมีการประกาศรายชื่อเอกชนผู้โชคดี ในเดือนเมษายน 2566” วรภพ กล่าวว่าตอนนั้นเป็นช่วง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ที่มีเอกชนรายใหญ่ถูกคัดเลือก ให้ขายไฟฟ้าถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็น 40% จากทั้งหมด อีกทั้งเอกชนรายนั้น ได้เสนอโครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไป 35 โครงการ และได้รับคัดเลือกทั้งหมด
จากนั้น ศาลปกครองก็มีคำพิพากษา ในเดือนตุลาคม 2566 ว่ากระบวนการคัดเลือกนี้ ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้คดีในศาลปกครองทั้งหมด ก็มีทั้งศาลปกครองยกคำร้อง หรือเอกชนผู้ฟ้อง ได้ถอนฟ้องเองด้วยเหตุผลส่วนตัว
สส.พรรคประชาชน ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ ก็มีข้อพิรุธเช่นกัน เพราะมีข้อกำหนดว่า หากเอกชนรายไหนที่เคยยื่นเสนอโครงการ ในการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟสแรกรอบ 5,200 เมกะวัตต์ จะได้รับโควตาในการรับซื้อเฟส 2 และให้สิทธิพิจารณาก่อนรายอื่นๆ อีกทั้งในเฟส 2 ยังมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นเอกชนที่ไม่มีคดีพิพาทกับหน่วยงานภาครัฐฯ อยู่ ซึ่งวรภพตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นสาเหตุให้เอกชนบางราย ถอนฟ้องศาลปกครอง ในกรณีที่ผ่านมา
“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ในขบวนการค่าไฟแพงตรงนี้ และมันยังไม่หมดสิ้นไป ที่เซ็นสัญญาไปแล้ว ก็ต้องหาลู่ทางกันว่า จะมีการแก้ไขสัญญาหรือหาช่องในการเอาผิดทางกฎหมายอย่างไร”
แต่ส่วนที่ยังไม่เซ็นสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 5,200 เมกะวัตต์ ที่เหลือก็คือ ‘พลังงานลม’ อีก 13 สัญญาที่ยังไม่มีการลงนาม ซึ่งวรภพระบุว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังคงมีอำนาจในการยกเลิกการลงนามได้