หากพูดถึงการลงทุนกับภาครัฐ หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ‘พันธบัตรรัฐบาล’ แต่ล่าสุดนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ ‘G-Token’ หรือโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล คล้ายพันธบัตรออมทรัพย์ แต่เป็นดิจิทัล เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนในหนี้ภาครัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อวานนี้ (13 พฤษภาคม 2568) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token หรือ G-Token) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยการออก G-Token จะอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่จะกำกับดูแลการออกและซื้อขายโทเคนดิจิทัลให้เป็นไปตามกฎหมาย
การออก G-Token ครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ
- เพิ่มเครื่องมือระดมทุนของรัฐบาล และขยายโอกาสการเข้าถึงการลงทุนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินลงทุนน้อย ซึ่งที่ผ่านมาอาจไม่สามารถเข้าถึงตราสารหนี้ของรัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ได้อย่างทั่วถึง
- รัฐบาลเชื่อว่า การออก G-Token จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องของระบบและกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
แล้ว G-Token คืออะไรกันแน่?
G-Token ไม่ใช่เงินดิจิทัล และไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี แต่เป็นเครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ภาครัฐจะใช้รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลในการระดมทุนจากประชาชนโดยตรงเป็นครั้งแรก
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า G-Token จะมีวงเงินทดลอง 5,000 ล้านบาท และอธิบายเพิ่มเติมว่า G-Token ไม่สามารถนำไปใช้แทนเงินสดหรือซื้อขายสินค้าได้ ไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงิน แต่ประชาชนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินทั่วไป และเริ่มต้นลงทุนได้น้อย อาจเริ่มต้นเพียง 100 บาท 1,000 บาท ก็ได้ “ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่” พิชัย กล่าว
กระทรวงการคลังได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อกำกับดูแล G-Token ให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนจะสามารถ ซื้อขายเปลี่ยนมือ G-Token ได้ผ่านผู้ให้บริการต่างๆ โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการในระบบตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่พร้อมรองรับ G-Token แล้วประมาณ 7–8 ราย
พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า การเสนอขาย G-Token ของรัฐบาล เป็นการดำเนินการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2568 ตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับแผนการกู้เงินพิเศษ เพื่อรองรับโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แต่อย่างใด
รัฐบาลชี้ว่า การออก G-Token ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ของรัฐบาลได้โดยตรง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ต้องการความมั่นคงและผลตอบแทนที่แน่นอน
การเปิดให้ประชาชนจองซื้อ G-Token คาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายใน กรกฎาคม 2568 และจะวางแผนเปิดจำหน่ายจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม ก่อนพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน
อ้างอิงจาก