‘ผิดกฎหมาย’ ต้องให้ศาลตัดสินและคดีถึงที่สุด ก่อนหน้านั้นให้ถือว่า ‘ไม่ผิด’

ผู้มีอำนาจบางคนมักท่องคาถาว่า ตัวเองนั้น ‘ทำตามกฎหมาย’ ส่วนคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายบางอย่าง นั้นเป็นพวก ‘ทำผิดกฎหมาย’ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาปกติ หรือในช่วงเวลาที่ใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งๆ ที่การกล่าวอ้างดังกล่าว อาจขัดหรือแย้งกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญไทยหลายๆ ฉบับที่รับรองไว้ นั่นคือ สิทธิในการสันนิษฐานว่า คดีอาญาใดๆ ที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินถึงที่สุด ให้ถือว่าผู้นั้นยังไม่มีความผิด หรือภาษาพูดคือ ‘ยังบริสุทธิ์’

อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า “..ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้..”

ดังนั้น ในอนาคตหาเจอผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะสวมชุดสูท ชุดสีเขียว หรือชุดสีกากี กล่าวอ้างว่า ใครก็ตาม ‘ทำผิดกฎหมาย’ ให้ถามย้อนกลับไปว่า ศาลตัดสินหรือยัง? คดีถึงที่สุดแล้วหรือ?

เพราะหากท้ายที่สุดแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น อัยการไม่สั่งฟ้องหรือศาลตัดสินยกฟ้อง ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ไม่มีความผิด คนที่ไปพูดย้ำๆ ว่า เขา ‘ทำผิดกฎหมาย’ จะรับผิดชอบอย่างไร

ถ้าจะใช้คำที่เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง ควรจะเลี่ยงไปว่า ‘ถูกกล่าวหาว่า’ ทำผิดกฎหมาย จะดีกว่า

 

#แก้ไขรัฐธรรมนูญ #รัฐธรรมนูญของเรา #ourconstitution #TheMATTER

Share this article!