ศาสนาถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเสมอ ในว่าจะในสังคมใด
ที่ผ่านมาแม้มีชาวพุทธบางกลุ่มพยายามกดดันให้รัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับ บัญญัติไว้ว่า ‘ให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ทำตาม ด้วยคำนึงความละเอียดอ่อนที่ว่า
ในช่วงของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็มีเสียงเรียกร้อดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ปฏิเสธ โดยเขียนไว้ในมาตรา 67 ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
แต่ กรธ.กลับเพิ่มข้อความไปในมาตรา 67 วรรคถัดไป ว่า
“ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานรัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญาและต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใดและพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนไว้ลักษณะนี้
ผลจากการเขียนโดยให้น้ำหนักกับบางศาสนาบางนิกายเป็นพิเศษ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ในการลงประชามติ เมื่อปี 2559 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนลงมติ ‘โหวตโน’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้ง จ.นราธิวาส ไม่เห็นชอบ 61.84% จ.ยะลา ไม่เห็นชอบ 59.54% และ จ.ปัตตานี ไม่เห็นชอบ 65.14%
อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ชี้แจงว่า ตามเจตนาของร่างรัฐธรรมนูญแม้จะเขียนให้ทำนุบำรุงศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่เป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้ไปเขียนกีดกันเสรีภาพของศาสนาอื่น หรือนิกายอื่น ยืนยันว่าคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และทุกศาสนาควรจะได้รับความคุ้มครอง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อบรรเทาความไม่พอใจดังกล่าว
มาตรา 67 เป็นเนื้อหาอีกส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เคยสร้างปัญหามาแล้ว
อ้างอิงจาก
https://thaipublica.org/2016/06/referendum-6/
https://news.thaipbs.or.th/content/254731
https://www.isranews.org/…/67-south…/49067-no_49067.html
https://library2.parliament.go.th/…/ncpo-head-order49…
#แก้ไขรัฐธรรมนูญ #รัฐธรรมนูญของเรา #ourconstitution #TheMATTER