ห้ามผู้เป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ อยู่ในตำแหน่งรวมเกิน 8 ปี (แต่..)

เพราะอยู่ในยุคไม่ปกติ เนติบริกรมีเต็มบ้านเต็มเมือง เวลาพูดถึงกฎหมายน่าสนใจ จึงต้องมีคำว่า “แต่..” ต่อท้ายเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดวาระดำรตำแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหารอย่าง ‘นายกรัฐมนตรี’ ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อย่างน่าสนใจ เพราะนอกเหนือบทบัญญัติทั่วๆ ไป เรื่องวาระดำรงตำแหน่งสมัยละไม่เกิน 4 ปี ในมาตรา 158 วรรคสี่ ยังเขียนถึง ‘ระยะเวลาสูงสุดในการดำรงตำแหน่ง’ นายกฯ เอาไว้ว่า

“..นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่..”

ซึ่งบทบัญญัตินี้ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ไม่กำหนดระยะเวลาสูงสุดในการดำรงตำแหน่ง หรือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้กำหนดระยะเวลาสูงสุดในการดำรงตำแหน่งไว้ 8 ปีเช่นกัน แต่ต้องเป็นการดำรงตำแหน่ง ‘ติดต่อกัน’

พอเนื้อหากฎหมายเป็นเช่นนี้ ก็เลยนำมาสู่คำถามว่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 แปลว่าจะเป็นนายกฯ ได้แค่จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ใช่หรือไม่?

เมื่อมีคำถามเชิงข้อกฎหมาย คนที่จะออกมาชี้แจงแทนรัฐบาลก็คือ วิษณุ เครืองาม ซึ่งตอบคำถามข้างต้นแบบฟันธงเลยว่า ไม่ใช่! เพราะกำหนดระยะเวลาสูงสุดในการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จะต้องเริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2561 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561 ไม่ใช่นับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา

นั่นแปลว่า อดีตหัวหน้า คสช.จะอยู่บนเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายบริหารได้จนถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2569

ขณะที่อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปไกลกว่า คือให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ สมัยสอง คือวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2562 ที่แปลว่า อดีตหัวหน้า คสช.จะอยู่บนเก้าอี้นายกฯ ไปอย่างยืดยาวจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2570 โน่น


ซึ่งหากเจ้าตัวอยู่ไปถึงวันนั้นจริงๆ แปลว่าประเทศไทยจะมีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานถึง 13 ปีเต็ม


#แก้ไขรัฐธรรมนูญ #รัฐธรรมนูญของเรา #ourconstitution #TheMATTER

Share this article!