“สารที่เราทำก็เป็นเรื่องเดียวเสมอมาและจะเป็นตลอดไป คือความเป็นมนุษย์ของผู้คนในทุกๆ ที่ การนำเสนอประเด็นหรือความขัดแย้งก็ต้องยกเอาความเป็นคนขึ้นมาแบบไม่เข้าข้างใคร ไม่ใช่ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือเปล่า แต่ความคิดแรกของเราคือเราเข้าใจเขาหรือยัง”
นี่เป็นคำพูดที่ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ บอกกับเรา ตอนที่ชวนเขาพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ ‘เถื่อนแปด’ เมื่อปลายปีที่แล้ว (อ่านได้ที่ https://thematter.co/pulse/travelwithwannasingh/37740)
จากวันนั้นที่นั่งลงคุยกัน เรายังคงเห็นวรรณสิงห์โผล่ไปเช็คอินยังมุมต่างๆ ของโลก ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่เขานิยามว่าเป็น ‘ที่ที่คนอื่นเขาไม่บ้าไปกัน’ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางอันยาวนานผ่านทะเลทรายซาฮารา ฝ่าความหนาวไปที่ขั้วโลกเหนือ แอบเข้าไปในพื้นที่สงครามอย่างอิรักหรือซีเรีย รวมถึงบุกดินแดนแห่งแก๊งค้ายาอย่างโคลัมเบีย
เมื่อเทรลเลอร์ของ ‘เถื่อน ทราเวล ซีซั่น 2’ เราจึงอดรนทนไม่ไหว ขอไปนั่งฟังผู้ชายคนนี้อีกสักครั้ง ว่าการเดินทางไปยังพื้นที่สงครามที่เราเห็นกันในข่าวแทบทุกวันนั้นเป็นอย่างไร? เห็นโลกและเรื่องราวที่แตกต่างไปจากโลกบนจอไหม? ในความขัดแย้งมีความเกลียดชัง ฮีโร่และผู้ร้าย แบบที่หลายคนคิดจริงหรือเปล่า? รวมถึงชวนลุ้นให้มี ‘เถื่อน ทราเวล’ ในไทย ก็น่าจะสนุกดี!
ใน ‘เถื่อน ทราเวล ซีซั่น 2’ เราจะได้เห็นอะไรที่แตกต่างไปจากซีซั่นหนึ่งบ้าง
เหมือนเป็นการอัพเกรดจากซีซั่นแรกครับโหดกว่าเดิม ร้อนกว่าเดิม เหนื่อยกว่าเดิม (หัวเราะ) ซีซั่นที่แล้วเราไปอัฟกานิสถาน ซึ่งตาม Global Peace Index เป็นประเทศที่อันตรายเป็นอันดับสามของโลก ซีซั่นนี้เราเก็บที่หนึ่ง ที่สอง รวมถึงที่สี่ได้ ก็คือซีเรีย อิรัก และโซมาเลีย รอบที่แล้วไปทะเลทรายนามิบ รอบนี้ก็ไปทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดคือซาฮารา ใช้เวลาข้ามกันหนึ่งเดือน
แล้วก็มีเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นโคเคนที่โคลัมเบีย ชีวิตในขั้วโลก ไปจนถึงเรื่องผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือที่หนีมาเกาหลีใต้ เราจะพาไปดูว่าชีวิตของพวกเขาเริ่มต้นยังไง มีการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง กว่าจะตั้งตัวในเกาหลีใต้นี่เป็นยังไง รวมถึงคนเกาหลีใต้รับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สงครามเกาหลี หรือว่ามองเรื่องของการรวมชาติยังไงบ้าง
แล้วตัววรรณสิงห์เอง มีการ ‘อัพเกรด’ อะไรจากซีซั่นหนึ่งบ้าง
ตอนซีซั่นหนึ่งนี่เป็นสนามซ้อมครับ เพราะเป็นรายการแรกที่เคยถ่ายเอง ก่อนหน้านั้นไม่เคยจับกล้องวิดีโอ ไม่เคยเรียนรู้ด้านเทคนิคอะไรมาก่อนเลย มีความผิดพลาดด้านภาพและด้านเทคนิคค่อนข้างเยอะ แล้วก็เนื่องจากซีซั่นหนึ่ง เรามาจากสายสารคดีก่อนหน้านั้น ก็เลยอาจจะเน้นเรื่องข้อมูลและการเล่าเรื่องในแบบสารคดีจ๋าๆ ไปหน่อย
แต่มาซีซั่นนี้เราก็พยายามเปลี่ยนหลายๆ อย่าง หนึ่งคือพยายามอัพเกรดด้านการถ่ายให้ดียิ่งขึ้น ก็เลยพยายามเรียนรู้หลายอย่าง โดยเฉพาะโดรน ก่อนหน้านี้ไม่เคยบินโดรนเองเลย ส่วนวิธีการเล่าเรื่องเราก็พยายามปรับปรุง ซีซั่นที่แล้วเราคิดไม่ออกตรงพื้นที่ เราก็จะกลับมาพูดตรงสตูดิโอบ้าง เป็นวอยซ์โอเวอร์บ้าง รอบนี้เรามีความตั้งใจว่าจะพูดทุกอย่างให้ได้ในสถานที่นั้นๆ เลยแปลว่าต้องทำข้อมูลก่อน ต้องรู้เรื่องทั้งหมดก่อนจะไป แล้วไปถึงต้องคิดให้ออก ณ ตรงนั้น ก็เลยเป็นความท้าทายในการถ่ายอินเสิร์ตไปด้วย คิดเรื่องให้ออกไปด้วย
วันนึง 24 ชั่วโมง เราใช้เวลาประมาณ 15-16 ชั่วโมงในการทำงาน โอกาสที่จะไปเที่ยวแล้วนั่งพักเฉยๆ ก็มีบ้าง แต่มันก็ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จจริงๆ แล้วบางที่ก็แอบเสียดาย เพราะไปถึงแล้วโคตรสวยเลย แต่เราไม่มีโอกาสได้นั่งเฉยๆ แล้วเอนจอยกับมัน เพราะว่าเราคิดแต่ว่าจะเก็บยังไงให้มันออกมาในรายการให้ดีที่สุด
จากที่เคยไปวิ่งหลบระเบิดหรือติดหล่มกลางทะเลทรายมาในซีซั่นที่แล้ว ในซีซั่นนี้มีประสบการณ์ระทึกใจบ้างไหม
ที่โหดสุดเรายกให้กรีนแลนด์นะ คือฟังชื่อประเทศแล้วเหมือนอยู่ยุโรป แต่ลองคิดภาพคนไทยอยู่กรุงเทพฯ 32-33 องศา บินไปเจออุณหภูมิ -32 องศาสิ! เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ขี้มูกเราแข็งบนหนวด แล้วฉี่เป็นละอองน้ำแข็ง เราเห็นแล้วแบบ เชี่ย! เสียดายถ่ายไว้ไม่ได้นะ คือมันทรมานมากนะทริปนี้ ตอนกลับมา ปลายประสาทชานิ้วเราหมดเลย แล้วก็เรื่องกล้อง ปกติไม่ค่อยมีปัญหากล้องเสียเท่าไหร่ แต่ไปถึงกรีนแลนด์แล้วน็อคกันทุกตัวเลย แบตมันไม่ทำงาน บินโดรนก็จะแข็งกลางอากาศ แล้วก็จะร่วงลงมา มันหนาวมาก ไม่เคยคิดว่าความหนาวจะทำให้ทุกอย่างพังได้ขนาดนี้ รวมถึงตัวเราก็พังด้วย
แล้วมีอะไรน่าสนใจบ้างในกรีนแลนด์ (สปอยล์ให้ฟังนิด)
จริงๆ มันไม่ใช่ยุโรปด้วยซ้ำนะ มันเป็นเกาะที่แยกออกไป เกือบจะถึงขั้วโลกเหนืออยู่แล้ว ที่มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเพราะเดนมาร์กไปยึดมาเป็นอาณานิคม จริงๆ วัฒนธรรมดั้งเดิมของเขาคือชาวเอสกิโม ซึ่งคนไทยได้ยินคำว่าเอสกิโมมาเป็นชาติแล้ว เราไม่เคยเห็นจริงๆ ว่าเอสกิโมเขาอยู่กันยังไง รอบนี้เราก็ไปถ่ายให้ดูว่าเอสกิโมเป็นยังไงกันแน่
ที่น่าสนใจคือชื่อของประเทศกรีนแลนด์นี่ตั้งโดย Erik the Red ชาวไวกิ้งที่โดนเนรเทศไปจากไอซ์แลนด์ ตอนนั้นบนเกาะไม่มีใครอยู่เลยนอกจากชาวเอสกิโม พอไปถึง Erik the Red ต้องการจะเรียกให้คนมาตั้งรกรากเยอะๆ อยากสร้างเมืองสร้างประเทศของตัวเอง เลยตั้งชื่อว่ากรีนแลนด์ เหมือนเป็นดินแดนสีเขียว ชวนให้ผู้คนอยากมาทำไร่ทำนา อยากมาอยู่ แต่มาถึงนี่ไม่มีสีเขียวเลยนะ ทั้งเกาะไม่มีต้นไม้สักต้น แล้วนี่คือเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ยากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
แต่พื้นที่สงครามหรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งก็ดูเหมือนจะเป็นที่ที่ดึงดูดวรรณสิงห์ได้อยู่ใช่ไหมในการทำเถื่อน ทราเวล
(หัวเราะ) เรื่องอันตรายต่างๆ ก็มีเยอะเหมือนกัน ซีซั่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการล้วงลึกเรื่องโคเคนที่โคลัมเบีย เราได้ไปสัมภาษณ์มือปืนซิคาริโอตัวจริงเสียงจริงมา แล้วขั้นตอนในการเข้าไปสัมภาษณ์ก็สยองขวัญใช้ได้ หรืออีกที่ก็ที่อิรัก ไปที่กรุงแบกแดด ก่อนไปเราก็พยายามเช็คข่าว ISIS เพิ่งพ่ายแพ้รัฐบาลไป ไม่เกิดเหตุอะไรมาสักพัก แต่พอเราเข้าไปกรุงแบกแดดวันแรก ระเบิดลง คนตายไป 30 คนเลย
แล้วก็เรื่องมิชชั่นทูซีเรีย ที่เราพยายามข้ามชายแดนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเขตประเทศซีเรียให้ได้ ซึ่งตอนนี้อันดับซีเรียนี่เป็นประเทศที่อันตรายอันดับหนึ่งของโลก เราก็อยากให้ติดตามดูว่าเราจะทำสำเร็จไหม แล้วในมิชชั่นนี้เราต้องเจออุปสรรคอะไรกันบ้าง
การได้ลงพื้นที่จริง ไปเจอของจริง ทำให้เรามองหรือรู้สึกกับสถานการณ์บนโลกยังไงบ้าง
ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายอย่างมากขึ้นเยอะครับ เข้าใจที่มาที่ไปของหลายๆ ฝ่าย รวมถึงฝั่งที่เรามองเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นตาลีบัน เป็น ISIS เข้าใจนี่ไม่ได้เห็นด้วยนะครับ แต่เข้าใจว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร แล้วกระบวนการทั้งหมดก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นเอง เรามักจะมองเป็นเรื่องของศาสนาอยู่ แต่มันก็มีองค์ประกอบเรื่องการเมืองและการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองค่อนข้างเยอะ
อย่างเช่นกลุ่ม ISIS ที่โผล่ขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ มันก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์อิรักเหมือนกัน เพราะในยุคที่ซัดดัม ฮุสเซนมีอำนาจอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชากรชาวซุนนีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย มีอำนาจเหนือชาวชีอะห์ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ แล้วพอซัดดัมโดนล้มโดยอเมริกา แล้วอเมริกาเอาชาวเคิร์ตกับชาวชีอะห์ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจ ขั้วอำนาจมันก็สลับกัน ทีนี้อเมริกาดันไปยุบกองทัพอิรัก ซึ่งมีพลทหารอยู่เป็นล้าน ทำให้ชายติดอาวุธ ชายผู้มีอำนาจ นายพลทั้งหลาย เคยมีอำนาจอยู่ก็เคว้ง ก็เลยเกิดพวกวอร์ลอร์ดต่างๆ ประกอบกับประชากรชาวซุนนีมีเหตุผลให้ต้องสู้ รู้สึกว่าเรารวมตัวกันได้เพราะเราถูกกดขี่ ก็เลยเป็นเหตุในการรวมคนที่อาจจะต้องการใช้ความรุนแรงในการพลิกขั้วอำนาจกลับขึ้นมา อันนี้เล่าคร่าวๆ นะ แต่เราก็เข้าใจที่มาที่ไป แล้วก็เข้าใจผ่านมุมมองคนท้องถิ่นจริงๆ แล้วก็ได้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงหลังยุคซัดดัมมันมีผลต่อผู้คนยังไงบ้าง
ส่วนในซีเรีย เราก็ได้คุยกับคนว่าสมัยอัล อัสซาด เขาอยู่กันยังไง แล้วตอนนี้อยู่กันยังไง ที่ชอบมากคือเขาบอกว่าตอนที่เริ่มอาหรับสปริงใหม่ๆ หลังจากโดนปิดปากเงียบมาตลอดทั้งชีวิต แล้วได้ออกไปที่ถนน ได้ตะโกนเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ตัวเองเป็นครั้งแรก สายตาและน้ำเสียงเขาบอกว่ามันเหมือนอยู่ในความฝัน
ในแง่หนึ่งเราก็อยากดึงให้คนไทยหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้มากยิ่งขึ้น มันดึงมาเป็นกระแสหลักไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเรารู้สึกว่า กับอัฟกานิสถานในซีซั่นที่แล้ว เราก็ดึงให้คนหันมาเข้าใจประเทศนี้ได้มากขึ้น หรือกับเกาหลีเหนือก็ตามแต่ เราก็อยากจะทำอย่างเดียวกันกับความขัดแย้งในหลายๆ ที่ ยังเป็นมิชชั่นหลักเราอยู่นะ
ที่วรรณสิงห์เคยบอกว่า “อยากนำเสนอความเป็นมนุษย์ของคนในทุกๆ ที่” ในวันนี้ ซีซั่นนี้ ก็ยังคงเป็นเมสเสจเดิมใช่ไหม
จริงๆ เราก็ไม่ได้พูดมันออกมาอย่างชัดเจนในรายการ เราแค่รู้สึกว่าถ้าทำให้คนเห็นและเข้าใจได้ว่า นี่คือใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ศักดิ์ศรีอย่างไร มีวัฒนธรรมอย่างไร ก็โอเคแล้ว ซึ่งสิ่งที่เรารู้สึกประสบความสำเร็จมากในซีซั่นที่แล้วคือทำให้คนเห็นและเคารพดาราเอวีได้ เพราะก่อนหน้านั้นเรามองแค่ว่าพวกเขาอาจจะเป็นวัตถุทางเพศอย่างเดียว
ซีซั่นนี้ก็เช่นกัน เราก็ยังนำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่น่าจะก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสจะได้มาพูดอะไรให้คนไทยเราได้ฟังเท่าไหร่ ก็พยายามไปดึงพวกเขามาจนได้ ซึ่งบางคนอาจจะไม่ใช่คนที่เราเห็นด้วย อาจจะเป็นอาชญากรอย่างเช่นมือปืนของกองทัพค้ายาโคเคน แต่ว่าเราก็ไม่ได้ทำให้คนเห็นด้วย เราแค่ทำให้คนเข้าใจว่าเขามาจากไหน
จากการลงพื้นที่ ได้เห็นอะไรแตกต่างจากที่สื่อนำเสนอบ้างไหม
โอ้ เยอะเลย อย่างอิรักนี่สวยมาก แล้วเจริญมากด้วย ไปถึงวันแรก เราไปที่เมืองนาจาฟ ซึ่งอยู่ในโซนที่สงบหน่อย ทางตอนใต้ ที่นั่นการค้าขายเจริญมาก เราไปถึงมีห้างเปิด แบรนด์สวยงาม เราก็งงนะว่านี่อิรักเหรอ ลงผิดที่หรือเปล่า ได้เห็นแล้วก็เข้าใจนะว่า ในบรรดาประเทศที่มีสงครามผ่านมาเยอะๆ อย่างอัฟกานิสถานนี่ไม่มีน้ำมันคือฟื้นไม่ได้ แต่พออิรักมีน้ำมัน ล้มกี่ครั้งก็ฟื้นได้ ได้เห็นความเจริญในประเทศเขา ได้เห็นอารยธรรมที่สวยงามต่างๆ มัสยิดที่นาจาฟ ข้างในจะเต็มไปด้วยกระจก เป็นการตกแต่งสไตล์เปอร์เซีย-อิหร่าน แล้วในนั้นเขาจะติดกระจกชิ้นเล็กๆ แบบเฉียงๆ ให้มันสะท้อนแสง เข้าไปแล้วเหมือนตึกที่ทำด้วยเพชร สะท้อนแสงทุกมุม น่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สวยที่สุดในโลกในเชิงสถาปัตยกรรมเท่าที่เคยไปมาเลย
ก่อนไปอิรักก็ไม่คิดว่าจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน ตอนแรกตั้งใจจะไปทำเรื่องสงคราม กลับมาได้ทำเรื่องวัฒนธรรมเยอะกว่า สงครามเป็นแค่แบคกราวด์ของวัฒนธรรมเขาเท่านั้น แง่ที่ไม่เสี่ยง แง่ที่ไม่อันตราย แง่ที่น่ารักของพื้นที่เหล่านี้มีเต็มไปหมด อย่างแบกแดด มีเขตสงคราม (War Zone) อยู่ก็จริง แต่ก็มีสวนสาธารณะที่น่ารักมาก มีคนหนุ่มสาวเดินจีบกัน มีสวนสนุกขนาดใหญ่ มีห้างสไตล์เดียวกับดูไบหรือคูเวต มีด้านที่โลกไม่เคยเห็นเยอะมาก เราก็พยายามดึงสิ่งเหล่านี้มาว่ามันอยู่ควบคู่กับสงครามยังไง อย่างห้างที่พูดถึงนี่ ข้างในขายของหรูหราไม่ต่างอะไรจากพารากอนบ้านเรา แต่ข้างหน้ามีรถถังประจำการอยู่ เราชอบภาพพวกนี้มาก เพราะทำให้เห็นว่า นี่คือชีวิต นี่คือสงคราม มันอยู่พร้อมๆ กัน
ได้คุยกับคนที่นั่น พวกเขามองชีวิตที่ดำเนินไปพร้อมสงครามว่ายังไง
บางคนอยู่ตั้งแต่เกิดจนแก่ ไม่เคยเห็นระเบิด ไม่เคยเห็นคนยิงกันเลย เพราะไม่ได้อยู่ถูกที่ถูกเวลา แต่แน่นอนมันมีผลกระทบกับชีวิตเขา เวลาการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ข้าวยากหมากแพง หรือบางครอบครัวก็ต้องส่งลูกชายไปรบ แล้วก็เสียชีวิต เพราะงั้นความรุนแรงมันไม่ต้องอยู่ตรงหน้าอย่างเดียว แต่มันส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมอยู่แล้ว อีกแง่หนึ่งก็คือความเคยชิน เราไปนั่งคุยกับวัยรุ่นชาวอิรัก เราถามว่ารู้สึกชีวิตอันตรายไหม เขาก็บอกว่าก็ต้องอยู่ “Life goes on” เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเขาก็ไม่ได้แย่อะไร แล้วเขาก็ไม่ได้คิดมากอะไร
ในแง่หนึ่งคือ หลายอย่างที่เมืองไทยเราชิน อย่างถนนที่รถติดบรรลัย ประเทศอื่นเขาไม่เคยมีอย่างนี้กันนะ แต่เราก็อยู่กันจนชินแล้ว เช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกที่บนโลกสามารถอยู่กับความเคยชินได้
ที่คนมักจะพูดกันว่าสงครามเป็นพื้นที่ของความเกลียดชัง วรรณสิงห์เห็นความเกลียดชังในพื้นที่ที่ไปบ้างไหม
ความเกลียดชังจะเกิดขึ้นในผู้ที่เดือดร้อน อย่างเช่นผู้ลี้ภัย แต่มันไม่ใช่ความเกลียดชังเสียทีเดียว มันเป็นความโกรธที่ไม่มีใครดูแลพวกเขาเลย เป็นความโกรธที่ไม่ได้โกรธใครเป็นพิเศษ แต่โกรธโลกใบนี้ แต่ถ้าเป็นความเกลียดระหว่างคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เท่าที่คุยกับคนธรรมดาเดินดิน แทบไม่มีใครพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย ไม่มีใครมานั่งแบ่งแยก
ตอนที่เราได้ยินว่าซุนนีทะเลาะกับชีอะห์ จริงๆ แล้วคือกลุ่มขั้วการเมืองของซุนนีทะเลาะกับกลุ่มขั้วการเมืองของชีอะห์ แล้วทีนี้ถามว่ามีผลกระทบกับคนทั่วไปไหม มีตรงที่ว่ามันเกิดความระแวงขึ้น พอมีอิหม่ามของซุนนีโดนยิงตาย หลายคนก็นึกว่าเป็นชีอะห์ทำ พอมีอิหม่ามของชีอะห์ตาย หลายคนก็นึกว่าเป็นซุนนีทำ เพราะงั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ความเกลียดชังเสียทีเดียว มันเป็นภาวะของความไม่เชื่อใจ แล้วพอไม่เชื่อใจก็สื่อสารกันไม่ได้ พอสื่อสารกันไม่ได้ มีกำแพง ก็เป็นโอกาสให้ขั้วแต่ละขั้วยิ่งแบ่งแยกประชาชนสองกลุ่มออกจากกัน สร้างความไม่เชื่อใจ แล้วก็มีฐานอำนาจจากความไม่เชื่อใจตรงนั้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเป็นความเกลียดชังทีหลังได้
เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตะวันออกกลาง มันมีอยู่ในทุกสงครามที่เคยไปมา เราเคยเห็นสิ่งนั้นเกือบจะเกิดขึ้นขั้นสุดๆ ในเมืองไทยแล้วเหมือนกัน แต่ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เราก็เหมือนกับหยุดตัวเองไว้ได้ เราไม่ได้ดูแค่ตะวันออกกลางอย่างเดียว เราดูเรื่องความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นทั่วโลก แล้วก็เห็นธีมที่มันคล้ายๆ กัน แต่เงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งมันอาจจะต่างกัน
แล้วในการต่อสู้ สงคราม หรือความขัดแย้ง จริงๆ แล้วมีฮีโร่กับผู้ร้ายเหมือนในหนังไหม
สิ่งที่หนังสร้างมัน simplied มากๆ เลย คือเราก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีฮีโร่หรือผู้ร้ายไปเลย แต่ถามว่ามีชัดเจนไหม อันนั้นไม่มีแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคนที่สร้างความรุนแรงและความเสียหายมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง แต่แรงจูงในในการยุติความขัดแย้งทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดจากความดีปะทะความเลว แต่คือการตกลงกันได้ว่า ตกลงจะเอายังไง จะอยู่กันยังไง จะได้อะไรกันบ้างแต่ละฝั่งแต่ละฝ่าย
อย่างตอนนี้การค้าโคเคนที่โคลัมเบียก็ยังมีอยู่ แล้วก็รุ่งมากกว่าตอนเอสโคบาร์อีก แต่ที่มันไม่เป็นปัญหาแล้ว เพราะว่าความรุนแรงมันจบลง เพราะรัฐบาลตกลงกับแก๊งค้ายาได้ว่า โอเค ก็ขายไป แต่ว่าอย่ายิงกันนะ แล้วตอนนี้การท่องเที่ยวของโคลัมเบียก็รุ่งมาก เพราะว่าเขาสามารถยุติความรุนแรงได้ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามมากมาย ที่ที่เคยยิงกัน เคยตัดหัวกัน ตอนนี้ก็เข้าถึงได้แล้ว ถ้าเราย้อนไป 20-30 ปีก่อน โคลัมเบียเคยอยู่ระดับเดียวกับอิรักและอัฟกานิสถาน ตอนนี้คือปลอดภัยขึ้นเยอะแล้ว หรืออย่างกลุ่มฟาร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลมา 50 ปี ตอนนี้ก็วางอาวุธ กลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกสังคม เพราะตกลงกันได้ อภัยโทษให้หมด
ปืนคือกำแพงในการเจรจาบนโลกใบนี้ เราได้เห็นจริงๆ ว่า หลายที่ที่มีความขัดแย้ง แล้วเราเห็นว่าเป็นคนเลวปะทะคนดี มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อีกแง่หนึ่งเราก็ได้เข้าใจคนที่เขาหยิบความรุนแรงขึ้นมา ไม่ใช่แง่ว่าเห็นด้วยว่าเขาใช้ความรุนแรง แต่ว่าถ้าเขาไม่มีปืนนี่ ไม่มีใครฟังกันจริงๆ
แล้วเราก็ได้เห็นว่าวิวัฒนาการของการมีปืน ส่วนใหญ่ที่เป็นกองกำลังต่างๆ มักจะเริ่มต้นด้วยคนหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ ตอนแรกก็ต้องการป่าวประกาศให้สังคมเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง แต่ไม่มีใครฟังด้วยสันติวิธี ก็เลยหยิบปืนขึ้นมา พอหยิบปืน ก็ต้องมีประเทศข้างๆ หรือประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีผลประโยชน์ในการล้มรัฐบาลปัจจุบันหรือว่าหนุนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็เอาปืนมาเพิ่มให้พวกเขา บวกกับโดนหนุนโดยต่างชาติ สักพักสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ตอนแรกก็เริ่มจะเขวไปแล้วว่าจะไปสู้เพื่ออะไร
พอมีปืนไปนานๆ 10-20 ปี สิ่งที่ต้องคิดหนักๆ ไม่ใช่อุดมการณ์แล้ว มันคือจะเลี้ยงกองทัพหมื่นสองหมื่นคนนี้ยังไง สักพักก็ต้องรับเงินจากสปอนเซอร์จากประเทศไหนประเทศหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องไปปล้นสดมภ์ แล้วก็ทำในนามของอุดมการณ์ สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมันกลายเป็นว่าการสู้กันด้วยอุดมการณ์นั้นหายไปไหนแล้วไม่รู้ อาจจะใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมคน ในการชี้ว่าคุณต้องตายเพื่ออะไรสักอย่าง แต่ทิศทางของมันก็หายไปตั้งแต่เริ่มมีปืนและเงินเข้ามาอยู่ในความขัดแย้งนั้นแล้ว
สิ่งนี้เกิดขึ้นในโคลัมเบีย ตอนแรกมีฝั่งซ้ายจัด ตั้งอุดมการณ์ขึ้นมาต้องการให้สังคมเสมอภาค สักพักกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ลักพาตัวผู้คนเรียกค่าไถ่ มีกองกำลังขวาจัด จัดขึ้นมาเพื่อต่อต้านฝั่งซ้ายจัด สักพักกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ชาวบ้านโดนทั้งสองฝั่งลักพาตัวและฆ่าตัดหัว ทั้งสองฝั่งได้รับเงินจากพ่อค้ายาเหมือนกัน เพราะพ่อค้ายาได้รับประโยชน์จากความขัดแย้ง ความขัดแย้งเกิดขึ้นปุ๊บ พื้นที่ตรงนั้นจะกลายเป็นพื้นที่โล่ง ก็สามารถเข้าไปปลูกโคเคนได้ เข้าไปทำแลบได้ เข้าไปสร้างโรงงานได้ โดยไม่มีตำรวจไม่มีทหารคอยปราบปราม วงจรเป็นอย่างนี้ เมื่ออุดมการณ์เจอเงินเจอปืน
สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในซีเรียอย่างชัดเจน แล้วก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอิรักมานานแล้ว ในอัฟกานิสถานก็เช่นกัน ในโคลัมเบียอาจจะใกล้จบ แต่ว่าเดี๋ยวก็คงมีที่อื่นๆ ในโลกนี้อีก แต่เราเห็นยุโรป เราก็แอบมีความหวังนิดนึง หรือเห็นญี่ปุ่นก็มีความหวังนิดนึง ว่าเมื่อ 40-50 ปีก่อน เขาก็ยังฆ่ากัน เพราะงั้นถ้าจะมีให้หวังก็คือ นี่คงเป็นวิวัฒนาการหนึ่งของสังคมมนุษย์มั้ง ที่ก่อนจะไปถึงจุด enlightened ได้ ต้องยิงกันให้ตายไปจนไม่รู้เรื่องกันแล้ว
อีกสัก 40-50 ปี เราอาจจะเห็นตะวันออกกลางมี Middle East Union ขึ้นมา ใช้เงินสกุลเดียวกันก็ได้ เพราะประเทศที่พร้อมจะเป็นฐานหลักทางเศรษฐกิจให้ตะวันออกกลางมีอยู่หลายที่ สามารถอุ้มประเทศที่เหลือได้ อาจจะมีหวังสำหรับตะวันออกกลางในอนาคต แต่อาจจะต้องผ่านกระบวนการนี้ไปก่อน
การเข้าไปอยู่ในพื้นที่สงครามหรืออยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากๆ เปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ในตัววรรณสิงห์ไหม
ในแง่หนึ่งก็แคร์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกมากขึ้นจริงๆ เพราะผ่านประสบการณ์ตรง ไม่ได้ผ่านการอ่านหนังสือเล่มไหน แต่แง่หนึ่งก็รู้สึกเฉื่อยชากับความขัดแย้ง แล้วก็สถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองไทยค่อนข้างเยอะ อันนี้พูดตรงๆ เพราะว่าหลังจากเห็นโลกในสเกลที่มันแย่ที่สุดมา อยู่ในเมืองไทยก็….
ไม่สนใจแล้วกับสถานการณ์บ้านเมืองของไทย?
พูดไปก็ไม่รู้จะโดนด่าหรือเปล่า พอเราหยิบประเด็นในเมืองไทยขึ้นมาปุ๊บ เราพยายามสุภาพเท่าไหร่ สุดท้ายก็เจอดราม่า มีคนหยิบไปด่า ไม่ด่าเราก็ด่ากันเอง มันทำให้เราค่อยๆ หมดกำลังใจในการมีส่วนร่วมกับสังคมไทยไปพอสมควร
ทีนี้คนเราจะอยู่โดยไม่มีการสร้างประโยชน์ต่อโลกมนุษย์เลยก็ไม่ได้ มันอาจจะไม่เติมเต็มเราเองด้วย เราก็ไปทำงานเรื่องผู้ลี้ภัยต่างประเทศแทน อาจจะเพื่อดับความรู้สึกผิดในใจ ในฐานะคนว่าเกิดมาทั้งที ต้องทำประโยชน์อะไรสักอย่าง เราก็ไปทำเรื่องที่เราสบายใจ ทำแล้วรู้สึกเราเกิดประโยชน์จริงๆ
ในเรื่องสังคมการเมืองไทยยังหาประโยชน์ตัวเองไม่เจอ เข้าไปก็รู้สึกว่าทำได้แค่สร้างความขัดแย้งเพิ่ม ถ้าจะมีส่วนร่วมกับสังคมไทยอีกครั้ง ก็คงต้องหาจุดที่ตัวเองมีไฟ แล้วอยู่แล้วสบายใจจริงๆ
หมดหวังกับสังคมไทยไหม
ไม่ได้หมด จริงๆ แล้วสังคมเราไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ มันอยู่สบายกว่าหลายๆ ที่บนโลกมาก แน่นอนเรามีเรื่องความไม่เสมอภาค เรามีเรื่องคอร์รัปชั่น เรามีเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดของนักการเมืองและผู้มีอำนาจทั้งหลาย แต่เราก็เห็นว่ามันก็ไม่ได้อยู่ในสเกลที่แย่เท่ากับประเทศที่โหดจริงๆ แน่นอนเราไม่ควรเทียบตัวเองกับประเทศเหล่านั้นมากเกินไป แต่เราก็ไม่ควรเทียบตัวเองกับประเทศอย่างไอซ์แลนด์ เยอรมนี หรือญี่ปุ่นมากเกินไปเหมือนกัน
แต่เราก็ยังรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตในไทยนั้นดีพอสมควร รวมถึงในชนบทด้วย ที่อาจมีปัญหาเรื่องเกษตรกรรม เรื่องความยากจน เรื่องความไม่เสมอภาคทางรายได้ แต่ว่าอากาศเราดี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหากับชาวโลกจำนวนมาก มีคนหนาวตายบนโลกนี้ตลอดเวลา มีคนแห้งตายบนโลกนี้ตลอดเวลา แล้วในชนบทเรามีดินที่ปลูกอะไรก็ขึ้น ในขณะที่แอฟริกา ในตะวันออกกลาง จะปลูกอะไรขึ้นต้องสร้างกรีนเฮ้าส์ ต้องไปดึงน้ำมาจากอีก 100 กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานที่เราชินกับมัน เพราะประเทศเราอุดมสมบูรณ์จริงๆ
เราไม่ได้พูดในเชิงว่ารักชาติอะไร เราพูดในเชิงว่า โอเค เห็นปัญหา แต่อย่าลืมว่ามันก็มีข้อดีของมันอยู่ แก้ตรงปัญหาไป แต่การเหมารวมว่าประเทศไทยเฮงซวย อยู่ไม่ได้ เราว่ามันมีหลายอย่างที่น่าอยู่
เราจะมีโอกาสได้เห็นเถื่อนทราเวลในเมืองไทยบ้างไหม
มีครับ เถื่อนในเมืองไทยนี่มีแน่นอน แต่น่าจะต้องเป็นออนไลน์เท่านั้น เพราะพอออกทีวีปุ๊บ ก็ต้องผ่านเซ็นเซอร์ของกสทช. เดี๋ยวรอให้จบซีซั่นนี้ ไว้เจอกัน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อีกเรื่องหนึ่งที่มีแน่นอนคือเรื่องหญิงบริการ ส่วนในทีวี เราก็ให้ดูเรื่องประเทศอื่นไป บางเรื่องเป็นเรื่องเซ้นซิทีฟ แต่มันไม่ได้เซ้นซิทีฟกับเรา มันก็เลยออนแอร์ได้ แต่พอเป็นเรื่องของประเทศไทย หรือบางทีเรื่องของเพื่อนบ้าน ก็ทำไม่ได้ถ้าจะทำออกทีวี
แต่อย่างโคเคนซึ่งถือว่าเป็นยาเสพย์ติดผิดกฎหมายสำหรับไทย ก็ยังออกทีวีได้?
เราไม่ได้พูดในเชิงว่ามันดี สิ่งหนึ่งที่ออกอากาศไม่ได้คือห้ามบอกวิธีทำหรือส่วนผสมของมัน ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงเลย แต่สิ่งที่เรานำเสนอคือเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโคเคน เรื่องของ Narcoeconomy เศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากยาเสพย์ติด ซึ่งโคลัมเบียในอดีตเป็นพื้นฐานของสิ่งนั้นอย่างชัดเจน เพราะว่านักการเมืองหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ล้วนเกี่ยวข้องกับผู้ค้ายาทั้งสิ้น มันเป็นธุรกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศเขา
เราพยายามนำเสนอให้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมยังไง ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงมีกฎหมายตามรัฐธรรมนูญว่าคุณสามารถมีโคเคนไว้ในครอบครองเพื่อเสพได้ในจำนวนเท่านี้ แล้วราคาของโคเคนที่นั่นถูกกว่าราคาโคเคนที่ขายในอเมริกา มันก็เลยทำให้เห็นว่าทำไมเอสโคบาร์ต้องส่งออกไปอเมริกา เห็นว่าทำไมมันถึงเป็นเรื่องระดับนานาชาติ เพราะมันไม่ได้อยู่แค่ที่โคลัมเบียอย่างเดียว
ในทุกๆ ที่ที่เดินทางไป เชื่อว่าคนดูหลายคนอาจจะมีภาพจำเกี่ยวกับสถานที่เหล่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่จะนำเสนอ มีวิธีจัดการกับภาพจำเหล่านั้นอย่างไร
ภาพจำมันมักจะมาจากเรื่องที่เป็นข่าว และเรื่องที่เป็นข่าวก็มักจะเป็นความรุนแรง ความขัดแย้ง เรื่องการเมืองต่างๆ ทุกประเทศบนโลกมันมีภาพจำหมด จนกระทั่งคุณได้ไปจริงๆ สิ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือแค่นำเสนอ แล้วไม่ตัดสินว่าอันนี้ดีไม่ดี เราเห็นว่ามันเป็นอย่างไร เราก็นำเสนอเช่นนั้น
เราแค่อยากนำเสนอพื้นที่ที่น่าสนใจกว่าตัวเรา คือพื้นที่ที่เราไปมา ถ้าจะพูดก็ให้คนอื่นพูดแทน พูดผ่านปากคนท้องถิ่น ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรา เราก็รู้สึกว่ามุมมองคนท้องถิ่นจะเป็นของแท้มากกว่า และดูเขาเข้าใจมันมากกว่าที่เราเข้าใจมัน แล้วไปทุกครั้งเราก็พยายามไม่คิดไปก่อนว่ามันจะเป็นอะไรยังไง เพราะรู้ว่ามันแตกสลายแน่นอน มายาคติและมโนภาพที่มีไว้ในหัว
ซึ่งสิ่งที่เรานำเสนอในซีซั่นนี้ ก็จะได้เห็นว่า โห ในทะเลทรายซาฮาร่า ท่ามกลางความเวิ้งว้าง มีโรงแรมโคตรหรูตั้งอยู่ ในอิรักซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง มีมัสยิดที่สวยมากๆ อยู่ หรือชาวเอสกิโมเขาไม่ได้กินกันแต่แมวน้ำ หรือว่าอยู่อิกลูกันแล้ว บ้านเขาสวยกว่าบ้านเราอีก หลายๆ อย่างที่เราคิดไว้มันขึ้นอยู่กับว่าเราฟังมาจากที่ไหนจริงๆ
เราเคยเขียนไว้ในหนังสือเราว่า “การเดินทางเป็นการละลายอคติที่ดีที่สุด” เราก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเรายอมรับคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เชิงเพศสภาพ และเชิงวัฒนธรรมได้หมดแล้ว เพราะเห็นความแตกต่างเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปตัดสินเขา เขาก็แค่เป็นของเขา แล้วเราในฐานะคนทำสารคดี เราจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราถ่ายทอดความเป็นคนอันหลากหลายมาให้ทุกคนได้ดู
วรรณสิงห์เชื่อในโลกที่ไม่มีสงครามไหม
เราว่าต้องเป็นวันที่มนุษย์ต่างดาวบุกโลก คือจะไม่มีสงครามในโลกแล้ว (หัวเราะ) จะรวมตัวกันไปสู้มนุษย์ต่างดาวแทน เพราะว่าสิ่งที่รวมตัวคนกันได้เยอะที่สุดก็คือมีศัตรูร่วมกัน
ไม่รู้มนุษย์เป็นอะไร อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถหาความหมายในชีวิตได้มั้ง ผ่านความขัดแย้งและการต่อสู้เพื่ออะไรสักอย่าง ซึ่งในหนังสือในหนังมันดูเท่นะ และดูเปี่ยมด้วยความหมาย แต่พอเห็นรอยเลือด เห็นคนขอขาด เห็นศพจริงๆ แล้ว มันโหดร้ายมาก ไม่ว่าจะตายหรือฆ่ากันเพื่ออะไรก็ตามแต่
Photos by Addidet Chaiwattanakul