‘เด็กหาย’ กลายเป็นข่าวที่เห็นได้แทบจะทุกวัน ไม่ว่าจะผ่านสื่อหลักทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ และยิ่งเห็นได้มากขึ้นจากการหน้าสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีหน่วยงานหลายแห่งช่วยเผยแผร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่หายตัวไป
ไม่ว่าสาเหตุของเด็กหายจะเป็นอย่างไร แต่ ณ เวลานี้ คดีเหล่านี้ก็ยิ่งอยู่ใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น อย่างสถิติเด็กหายของปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านเฉพาะจากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ก็มีมากถึง 224 กรณี แม้ว่าในเชิงสถิติจะมียอดลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังมีหลายคดีที่ยังเป็นคดีค้างคา และในทางกลับกันก็มีหลายคดีที่กลายเป็นข่าวที่ใหญ่ ระดับที่สื่อบางเจ้ายอมใช้เวลาหลายเดือนในการโฟกัสเล่าเรื่องของข่าวประเด็นดังกล่าว
เพราะเหตุนี้ เราเลยอยากมาเล่าถึงคดีเด็กถูกลักพาตัวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบแจ้งเตือนเด้กสูญหายที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน โดยหวังไว้ว่า เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ จะกลายเป็นแรงบันดาลใจหรือแรงผลักดัน เพื่อให้มีคนออกมาพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวทางการระมัดระวังจากกรณีที่เด็กหายตัวไปมากขึ้น
คดีต้นทางที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว
13 มกราคม ปี ค.ศ.1996 ภายในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา พี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งออกไปเล่นนอกบ้าน แต่เด็กหญิงตัดสินใจจะขี่จักรยานออกไปไกลจากที่พ่อแม่บอกไว้ ส่วนน้องชายที่กลัวโดนต่อว่าได้ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านก่อน แต่น้องชายก็ได้ถูกทักท้วงจากแม่ให้ไปตามพี่สาวกลับมาที่บ้าน เขาจึงรีบรุดขี่จักรยานไปบริเวณที่จอดรถของห้างใกล้ๆ แต่ก็พบว่าพี่สาวหายตัวไป เหลือเพียงแค่จักรยานคู่ใจของเด็กหญิงเท่านั้น
ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้น มีชายชราที่อยู่ใกล้เคียงกับห้างได้โทรไปแจ้งความว่า เห็นเด็กผู้หญิงร้องโวยวายโดนจับตัวขึ้นรถปิ๊กอัพสีดำ และขับรถหายไปบนไฮเวย์ที่อยู่ใกล้เคียง

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีลักพาตัวเด็กหญิง แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน (Amber Hagerman)
แถมข่าวร้ายยังเดินเข้ามาถึงอย่างรวดเร็ว เพราะในวันที่ 17 มกราคม ปีเดียวกัน มีผู้ชายคนหนึ่งได้พบร่างเด็กผู้หญิงนอนเปลือยอยู่ริมทางระบายน้ำห่างออกไปราว 8 กิโลเมตร เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพก็พบว่าเด็กหญิงมีรอยแผลช้ำ ถูกปาดคอ และถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เวลาผ่านมานานกว่า 25 ปี ยังไม่มีใครสามารถจับกุมบุคคลผู้ก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวได้ อันเป็นผลพวงจากสภาพการณ์หลายประการในช่วงนั้น ทั้งการที่มีพยานพบเห็นเพียงแค่คนเดียว กับในช่วงวันที่มีคนพบร่างก็เป็นของเด็กหญิง ก็มีพายุเข้า สายฝนจึงชะล้างหลักฐานหลายส่วนไป
ข่าวการหายตัวและข่าวการฆาตกรรมของเด็กหญิงที่ไร้ทิศทางต่อไป และคดีนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อของสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าเรื่องราวขั้นต้นจะจบลงด้วยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ แอมเบอร์ แต่มันกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดระบบใหม่ที่ได้ช่วยชีวิต ‘เด็กหาย’ อีกจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะในอเมริกา แต่ในหลายพื้นที่บนโลก
ข่าวร้ายกลายเป็นคลื่นขยับสังคม
ย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ข่าวการลักพาตัวของ แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน ยังสดใหม่ หญิงสาวคนหนึ่งได้รับฟังข่าวนี้ เธอรู้สึกตกใจกับการลักพาตัว โล่งใจที่มีพยานรู้เห็น และใจสลายเมื่อได้ทราบถึงข่าวการเสียชีวิตของเด็กหญิง หลังจากทบทวนเรื่องราว เธอกะระลึกขึ้นมาว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครเห็นพาหนะของผู้ต้องสงสัยเลย แต่ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากการที่ ไม่มีผู้คนรับรู้ว่าเกิดเหตุร้ายจนช่วยเป็นหูเป็นตาให้ โดยเฉพาะในยุคก่อนที่โทรศัพท์มือถือจะเฟื่องฟู และสื่อสังคมออนไลน์ยังไม่มีตัวตน

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
หญิงธรรมดาคนนั้น ครุ่นคิดจนถึงระดับหมกมุ่นเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับแอมเบอร์ และเริ่มกังวลว่าคดีในแบบใกล้เคียงกันจะเกิดขึ้นได้อีก แล้วมีอะไรที่เธอจะทำอะไรได้บ้างไหม เธอก็ระลึกได้ถึงเรื่องที่เธอเคยเจอเมื่อหลายปีก่อนหน้าที่มีเด็กหลงทางและแม่ของเด็กใช้วิธีอธิบายรายละเอียดของเด็กหลงคนนั้น บอกคนแบบปากต่อปากในบริเวณที่เด็กหลงอยู่ แล้วก็ใช้เวลาไม่นานทุกคนในสถานที่ก็ร่วมมือกันหาได้
ไดอาน่า ซิโมน (Diana Simone) คิดเรื่องนี้อยู่นาน จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากบาทหลวงที่คุ้นเคยว่า ‘ทำไมไม่ใช้วิทยุล่ะ’ ด้วยเหตุที่ว่าในยุคนั้น การเตือนภัยด้านภมิอากาศก็มีการประกาศผ่านทาง คำพูดจุดประกายนั้นทำให้ ‘หญิงสาวธรรมดา’ เริ่มทำการติดต่อคลื่นวิทยุ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความกังวลใจ แต่ความมุ่งมั่นที่ว่าเรื่องนี้อาจจะช่วยเด็กสักคนได้ ทำให้เธอติดต่อไปยังสถานีวิทยุแห่งแรก และได้รับการตอบรับอย่างดี
จากคลื่นวิทยุแห่งแรก ตามมาด้วยเจ้าอื่นๆ ที่เห็นพ้องกับไอเดียตั้งต้น ทำให้ระบบการแจ้งเด็กหายเริ่มใช้งานในท้องที่รัฐเท็กซัส อย่างไรก็ตาม กว่าระบบดังกล่าวที่ช่วยกันแจ้งข่าวเด็กหายในท้องที่ผ่านคลื่นวิทยุจะมีผลงานได้ก็ใช้เวลาระยะหนึ่ง และนานพอทำให้เอกสารต้นไอเดียหายไป จึงทำให้ชื่อของ ไดอาน่า ซิโมน ที่ริเริ่มเรื่องนี้กลายเป็นบุคคลนิรนามไปช่วงหนึ่ง
หญิงสาวที่วางอิฐก้อนแรกไม่ได้ขัดข้องใจมากนัก ด้วยเหตุที่เธอมองว่าการช่วยเด็กให้ได้นั้นสำคัญกว่าการสร้างชื่อ รวมไปถึงว่ายังมีบุคคลและหน่วยงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ช่วยทำให้ระบบดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างที่เช่นในช่วงปี ค.ศ.1998 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Child Alert Foundation ได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ จากเดิมที่ก่อนหน้าต้องใช้โทรสารในการยืนยันก่อนจะทำการส่งสัญญาณเตือน และภายหลังก็เชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับอินเตอร์เน็ตด้วย

ภาพจาก – https://www.missingkids.org/
แต่ชื่อของ ไดอาน่า ไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีบาทหลวงที่ร่วมเสนอไอเดียแจ้งกับสื่อให้รู้จักชื่อเธออีกครั้ง และเธอได้ร่วมเป็นสักขีพยานเมื่อครั้งที่มีการออกกฏหมายให้ระบบแจ้งเตือนเด็กหาย ถูกบังคับใช้งานทุกพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2003

ภาพจาก – https://amberalert.ojp.gov/
ระบบดังกล่าวได้ชื่อนำเอาชื่อของเด็กหญิงแอมเบอร์ มาตั้งชื่อย้อนกลับเป็น AMBER (America’s Missing: Broadcast Emergency Response) Alert ปัจจุบันระบบดังกล่าวไม่ได้แจ้งข่าวผ่านทางคลื่นวิทยุเท่านั้น การแจ้งเตือนดังกล่าวจะถูกพิจารณาจากทางสายด่วนด้านอาชญากรรม (อย่างเบอร์โทร 911 ในสหรัฐอเมริกา) ว่ามีเหตุที่เด็กตกอยู่ในอันตราย และมีรูปการณ์ชัดเจนว่าเกิดเหตุลักพาตัวขึ้น
จากนั้นข้อความแจ้งเตือนก็ส่งผ่านไปยังสถานีโทรทัศน์, ป้ายสัญญาณจราจร (ที่สามารถขึ้นอักษรแจ้งได้), โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงบนสื่อสังคมออนไลน์หลายตัว เพิ่มโอกาสให้เด็กรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น และลดคราบน้ำตาของครอบครัวที่ไม่ได้รับคำตอบจากเหตุลักพาตัวได้อีกหลายคณานับ
การต่อสู้ของ ‘แม่’ เพื่อไม่ให้พ่อแม่คนอื่นต้องทุกข์ทนแบบเธอ
เรื่องราวของ AMBER Alert ไม่ได้มาจากแค่ไอเดียของ ไดอาน่า ซิโมน เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หลายท่านอาจจะเคยได้ยินว่าระบบประกาศแจ้งเด็กหายนั้นมีชื่ออื่นๆ ด้วย อาทิ Levi’s Call (ตั้งชื่อตาม Levi Frady เด็กชายที่ถูกลักพาตัวในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1997), Rachael Alert (ตั้งชื่อตาม Rachael Runyan เด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1982)

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
เหตุที่ทำให้ AMBER Alert กลายเป็นชื่อหลักของระบบแจ้งเด็กหาย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มีการออกกฏหมายรองรับระบบนี้ไปแล้ว และผู้ที่ผลักดันจนก่อให้เกิดกฎหมายตัวดังกล่าวก็ไม่ใช่ใครอื่นเลย เพราะเธอผู้นั้นคือ ดอนน่า นอร์ริส (Donna Norris ก่อนหน้านั้นใช้สกุล Williams และ Whitson ตามลำดับ) แม่ของเด็กหญิงแอมเบอร์นั่นเอง
เนื่องจากดอนน่า และ ริชาร์ด ฮาเกอร์แมน (Richard Hagerman) ผู้เป็นพ่อแม่ของเด็กหญิง พบว่าการตามหาคนร้ายไม่คืบหน้าอย่างที่ควร พวกเขาจึงพยายามเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ด้วยการรวบรวมชื่อจากเพื่อนบ้านและผู้ที่เห็นด้วยกับการเพิ่มความเข้มงวดให้กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษอาชญกรทางเพศ และการขึ้นทะเบียนผู้คนเหล่านั้นให้ชัดเจนมากขึ้น และสุดท้ายก็ได้ทำการก่อตั้งหน่วยงานชื่อ People Against Sex Offenders (P.A.S.O.)

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
การรวบรวมชื่อของดอนน่าได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาของรัฐเท็กซัส ที่ทำให้พ่อแม่ของเด็กหญิงผู้ล่วงลับได้แสดงเจตจำนงค์ต่อรัฐสภา ที่ ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายเพิ่มการลงโทษและปรับปรุงฐานข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศทั่วประเทศ หลายประกาศ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้มีชื่อในทะเบียนดังกล่าวต้องรายงานตัวกับภาครัฐทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนที่อยู่ มีการเปิดรายชื่อให้สาธารณชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้
ซึ่งการแถลงการณ์ต่อหน้ารัฐสภาทำของดอนน่ากับริชาร์ด ถือว่าเป็นการย้ำให้กฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และทั้งสองคนยังได้ถูกเชิญไปร่วมงานที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ลงนามออกกฎหมายเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1996

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดอนน่าก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติของเธอ แต่เธอยังคงทำงานในฐานะนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีเด็กโดนลักพาตัวควบคู่ไปด้วย และเธอได้ถูกเชิญกลับไปยังทำเนียบขาวอีกครั้ง ใน วันที่ 30 เมษายน ปี ค.ศ.2003 เมื่อประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ทำการลงนามอนุมัติให้ระบบ AMBER Alert ถูกใช้งานทุกพื้นที่ของทั้ง 50 รัฐของสหรัญอเมริกา โดยมีรัฐฮาวายเป็นรัฐสุดท้ายที่เปิดใช้งานระบบทั่วทั้งรัฐในปี ค.ศ.2005
ปัจจุบันนี้ ดอนน่า นอร์ริส ยังทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของเด็กโดนลักพาตัวอยู่บ้าง เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกหวานอมขมกลืนที่ชื่อของลูกสาวที่รัก กลายเป็นชื่อของระบบที่ช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆ แต่เธอก็ดีใจแทนพ่อแม่ทุกคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากระบบนั้น เและเธอยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่งคนร้ายที่ทำร้ายลูกสาวเธอจะโดนจับกุมเพื่อเข้าสู่การดำเนินการทางกฎหมาย
เรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับ AMBER Alert
นับตั้งแต่ที่ระบบ AMBER Alert โดยใช้งานอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้ประเทศอื่นๆ ตัดสินใจเอาระบบดังกล่าวไปใช้งานด้วย โดยตัวเว็บไซต์ทางการของระบบ AMBER Alert ระบุว่า มีประเทศราว 33 ประเทศ ที่นำระบบดังกล่าวไปใช้งาน
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ประเทศแคนาดา ที่ถือว่าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มนำเอาระบบดั้งกล่าวไปใช้ในท้องถื่นต่างๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 ในสหภาพยุโรปมีองค์กรชื่อ AMBER Alert Europe ที่ประสานงานองค์กร 42 แห่ง จาก 26 ประเทศในยุโรปมาทำงานร่วมกัน แม้ในเชิงรายละเอียดจะแตกต่างจากฝั่งอเมริกาไปบ้าง แต่เป้าหมายคือการช่วยเหลือเด็กที่โดนลักพาตัวไปไม่ต่างกับฝั่งอเมริกา
ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง มาเลเซีย ก็มีการสร้างระบบ NUR Alert ที่อ้างอิงพื้นฐานมาจาก AMBER Alert หลังจากเกิดคดีลักพาตัวและฆาตกรรมเด็กหญิง Nurin Jazlin ในปี ค.ศ.2007 ก่อนจะมีการอนุมัติให้ใช้งานขั้นต้นในปี ค.ศ.2011 และปัจจุบันก็มีแอพพลิเคชั่นท้องถิ่นอย่าง Grab ร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายช่วยกระจายข่าวสารเด็กที่ถูกลักพาตัวไป ซึ่งทำให้ชวนแปลกใจว่าทำไมประเทศไทยเองที่มีคดีเด็กถูกพาตัวออกไปจากที่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ได้ทำการรับระบบแบบเดียวกับที่มาเลเซียทำได้
อย่างไรก็ตามระบบแบบ AMBER Alert ก็มีข้อถกเถียงในสังคมเช่นกัน อย่างประเด็นในการพิจารณาว่าเด็กคนไหนจะถูกประกาศข่าวผ่านระบบ AMBER Alert นั้นจะถูกผ่านการพิจารณาจากบุคลากร ว่าเด็กคนนั้นตกอยู่ในอันตรายและเกี่ยวพันกับการลักพาตัวจริง จึงจะสามารถมีการประกาศผ่านระบบดังกล่าวได้ ซึ่งมีผู้คัดค้านมาว่า บางทีมันอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรนัก หรือในทางกลับกัน ก็มีคนอัดข้อมูลผิดๆ จนกลายเป็นการแจ้งเตือนแบบผิดพลาดไป ซึ่งกลายเป็นผลให้การช่วยเหลือคดีที่มีปัญหาจริงล่าช้าลงเช่นกัน
หรือบางท่านก็ทักท้วงในประเด็นว่า แม้ตัวระบบ AMBER Alert จะช่วยเหลือเด็กราว 1,074 คน (อ้างอิงสถิติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ปี ค.ศ.2021) แต่จำนวนดังกล่าวนั้นคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงทุนไปหรือไม่ อีกปัญหาที่ถูกบ่นในหลายประเทศก็ตัวเสียงแจ้งเตือนของ AMBER Alert ที่เจตนาใช้เสียงสูงแหลมสร้างความสนใจ ก็ถูกวิพากษ์จากประชาชนและบางหน่วยงานว่า กลายเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ที่ขับขี่พาหนะอยู๋ไม่น้อยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะ ติเพื่อก่อ และหาช่องทางปรับปรุงให้ระบบใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ภาพจาก – https://www.star-telegram.com/
และในช่วงเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2021 คดีของ แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน ก็มีอายุครบรอบ 25 ปีแล้ว ทั้งตำรวจที่ดูแลคดี รวมถึงดอนน่าผู้เป็นแม่ ก็มีอายุเพิ่มพูนมากขึ้น พวกเขาไปรวมตัวกันที่ลานจอดรถที่เด็กหญิงโดนพบตัวครั้งสุดท้าย ภายในงานดังกล่าว ได้มีการทบทวนเรื่องราวให้ผู้รับชมงานอีกครั้งได้ทราบอีกครั้ง และมีการประกาศว่าตำรวจว่าพวกเขายังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่รับทราบเรื่องราวนี้แต่อาจจะยังไม่เคยแจ้งให้ตำรวจทราบ และยังมีการระบุว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎรในท้องที่นั้นยังมีหลักฐานที่ยังไม่เปิดเผยต่อสื่อ และพร้อมตรวจสอบด้วยนิติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ที่เชื่อว่าจะสามารถนำตัวหาคนผิดมารับโทษได้
แบบเดียวกับที่ AMBER Alert ได้นำทางเด็กหลายคนให้กลับสู่ครอบครัวอันเป็นที่รักมาแล้วกว่าพันคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
Malaysian Communications And Multimedia Commission
YouTube แชนแนล Global
YouTube แชนแนล True Crime Recaps
YouTube แชนแนล TEDx Talks