ย้อนกลับไป 1 ที่แล้ว ประชาชนทั่วประเทศต่างตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อนที่ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลจะประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยที่ไม่รู้เลยว่า 1 ปีผ่านมา ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากกฎหมายดังกล่าว
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือชื่อเต็มๆ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีมาตรการข้อห้ามต่างๆ มากมาย อาทิ ห้ามเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงติดโรค ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมถึง ห้าม ‘ชุมนุม’ หรือรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันโอกาสในการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในวาระครบ 1 ปี นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย The MATTER จึงรวบรวมสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มาให้ทุกคนได้ย้อนระลึกไปพร้อมๆ กัน
- นับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ปัจจุบันได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว 11 ครั้ง ซึ่งการประกาศครั้งล่าสุด มีกำหนดสิ้นสุดเวลาบังคับใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคม
การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อหลายฝ่ายมองว่าการที่รัฐบาลเลือกใช้เครื่องมือนี้ แทนการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นไปเพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในหลายๆ ช่วงลดลงจนเกือบอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่ถึงเช่นนั้นรัฐบาลยังยืนยันจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป และปฏิเสธไม่ได้ว่าเกือบทุกครั้งที่มีการจัดชุมนุม สิ่งที่มักจะได้ยินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ “ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” แทนที่จะอ้างถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
- นับตั้งแต่บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวไปแล้ว 74 วัน
เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 – 15 มิถุนายน 2563 ก่อนที่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 วัน ลากยาวจนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2563
สำหรับเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า มีบุคคลปลุกระดมให้มีการชุมนุมสาธารณะ และสร้างความปั่นป่วน อีกทั้งยังกระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงมีการดำเนินการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 จึงได้มีการประกาศการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ประกาศดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจาก การจัดการชุมนุมของคณะราษฎร ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มวลชนผู้ร่วมชุมนุมได้ตั้งขบวนเพื่อเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สกัดไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงปักหลักปราศรัยกันที่บริเวณแยกนางเลิ้งตลอดค่ำคืน ก่อนที่ทนายอานนท์ นำภา แกนนำ จะประกาศยุติการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาสลายการชุมนุม และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ตามที่กล่าวไปข้างต้น
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รวบรวมสถิติการดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกใช้ในการจับกุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ การชุมนุมเยาวชนปลดแอก ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลากว่า 7 เดือน พบว่ามีประชาชนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากเหตุเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 301 คน รวมทั้งหมด 101 คดี ซึ่งแบ่งเป็นคดีที่ดำเนินการระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีร้ายแรงจำนวน 23 คดี และฝ่าฝืนข้อกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 จำนวน 78 คดี
- โทษของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นมีจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งหนักกว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่อัตราโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อเองก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลพื้นที่เสี่ยงต่างๆ พร้อมระบุว่าหากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่สถานการณ์การเมืองบ้านเราเข้มข้นที่สุด นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ.2557 นี่เป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยใหญ่ๆ ติดต่อกันหลายต่อหลายครั้ง นำมาสู่การสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง และการจับกุมเหล่าแกนนำ เหตุการณ์เหล่านี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ เป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างของรัฐบาล
แม้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่อีกนัยหนึ่งก็ถูกนำมาใช้ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมันไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบถึงเหล่าผู้ชุมนุม หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองเท่านั้น แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทยหลายๆ คนอีกด้วย
อ้างอิงจาก
https://tlhr2014.com/archives/26506
https://www.prachachat.net/politics/news-436790
https://ddc.moph.go.th/…/c74d97b01ea…/files/001_1gcd.PDF
https://www.matichon.co.th/politics/news_2501287
https://www.prachachat.net/politics/news-618755
https://www.hfocus.org/content/2020/02/18601
https://www.khaosod.co.th/…/newspaper…/news_5140381