“ชีวิตมีแต่งานงานงานงานงาน” ทวีต
“ออฟฟิศวันหยุด มาทำงาน เงียบเสียจริง” ถ่ายรูปออฟฟิศโล่งๆ อินสตาแกรม
“ตีสองแล้วยังคงนั่งทำงาน #ชีวิต” สเตตัสเฟซบุ๊ก
เฮ้ย ผมรู้ คุณก็เป็น – และผมก็เป็น – ผมเป็นบ่อยเสียด้วย! ในหนึ่งสัปดาห์ ตัวผมเองจะต้องทวีตหรืออัพสเตตัสเฟซบุ๊กแบบนี้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าสามครั้ง เพื่อโชว์ว่า เฮ่ ฉันทำงานอยู่นะโว้ย พวกนายล่ะทำอะไรกันอยู่ (พวกนาย ในที่นี้อาจหมายถึงพวกนายในที่ทำงานเดียวกัน หรือพวกนายที่เป็นเพื่อนๆ กันก็ได้)
การอัพโชว์ว่าตัวเองทำงานนี้ จะว่าไปก็ดูขัดกับความเชื่อที่ว่าบนโซเชียลมีเดียเรามักจะโพสท์แต่ด้านที่ดีที่สุดของตัวเอง คือด้านที่สนุกสนาน แฮปปี้ ดี๊ด๊านะครับ กลับกัน โพสท์แบบนี้ส่วนใหญ่กลับโพสท์ด้านที่ไม่ได้ดีเท่าไหร่ของตัวเอง เป็นด้านที่หงุดหงิดกับงานที่เยอะ เป็นด้านที่เป็นการบ่น มากกว่าการโชว์ว่าตัวเองมีความสุข
นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะกับคนกลุ่มที่เราเรียกว่า Millenials หรือคนทำงานรุ่นใหม่อายุน้อยนี่แหละตัวดี และเขาบอกว่า ไอ้โพสท์โชว์ทำงานแบบนี้ มันมีชื่อเรียกด้วย!
มันเรียกว่า PDW หรือ Public Displays of Working นั่นคือ “การโชว์ให้โลกรู้ว่ากูทำงาน” นั่นเอง (จริงๆ ก็ตรงไปตรงมามากเลยนะ)
PDW คืออะไร PDW คือการที่คุณอยู่ออฟฟิศดึกดื่น ถ่ายรูปกับกาแฟสักแก้ว แล้วโพสท์โชว์ว่า เอาล่ะ ได้เวลาเริ่มงานแล้ว หรือคือการที่คุณยังง่วนอยู่กับงานในขณะที่ชาวบ้านกลับบ้านไปนอนอุ่นสบาย แล้วคุณอดไม่ได้ ต้องทวีตสักหน่อยว่า “ตีสอง ทำงานอยู่” ไม่ว่าจะโพสท์ในโปรไฟล์ที่เปิดพับลิก หรือเปิดให้เพื่อนไม่กี่คนเห็นนั่นแหละ
สาเหตุของการโพสท์แบบนี้คืออะไร?
การแชร์ความทุกข์ยากในการทำงานแบบนี้แสดงในทางหนึ่งก็ให้เห็นถึงความเป็นจริงของคนยุคมิลเลเนียล นั่นคือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ได้เงินเดือนน้อย แพคเกจเสริมน้อย แถมบริษัทยังไม่ค่อยเห็นค่าอีก และคุณ Daniel Wenger ยังเคยพูดไว้ในบทความใน New Yorker ด้วยว่า ยิ่งบริษัทบอกว่า ลาหยุดเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น สำหรับลูกจ้างแล้วก็เปรียบเสมือนว่าลาหยุดไม่ได้เลย เพราะว่าต้องแข่งขันกับคนอื่นนั่นแหละ
อย่างเช่นในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ ‘บ้างาน’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ญี่ปุ่นก็บ้า – อย่างที่มีคนตายเพราะงานที่เรียกว่าคาโรชิไง) ก็มีการทำสำรวจว่ามีคนมากถึง 4 ใน 10 คนที่ไม่ยอมใช้วันลาให้หมด ทุ่มเททำงานกันมากจริงๆ (ไม่ว่าจะด้วยความทุ่มเทจริง หรือทุ่มเทเพราะโดนกดดันก็ตาม)
การสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในการทำงานแบบนี้ก็เป็นสาเหตุประกอบสาเหตุหนึ่ง PDW อาจเป็นความพยายามในการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับวิธีทำงานและวิธีคิดของนายจ้างหรือบริษัท
นอกจากนั้นมันอาจยังเป็นการระบายอารมณ์ที่มีต่อนายจ้าง ต่อบริษัท ต่อความ (รู้สึกว่า) อยุติธรรมที่ตัวเองประสบอยู่ ว่าทำไมฉันยังต้องทำงานงกๆ อยู่อย่างนี้ ทั้งที่ #$@#$+_)+ (ใส่คำบ่นตามท้ายได้ตามใจชอบ)
แต่ว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ PDW อาจไม่ได้เป็นอะไรนอกไปเสียจากการ ‘อวด’ ก็ได้
อวดยังไง คุณอาจจะถาม… อวดว่าชีวิตฉันแย่เนี่ยนะ คุณอาจจะท้วง
มันอาจเป็นการอวดที่เรียกว่า humblebrag (หรือการอวดแบบถ่อมตน เช่น บอกว่า ลำบากจังเลย วันนี้ต้องเลือกกระเป๋าหลุยส์ไปออกงานอะ ไม่รู้จะเลือกใบไหนเลย ซึ่งแบบ… เออ ใจความคือจะบอกว่ามีกระเป๋าหลุยส์เยอะใช่ไหมอะ) อย่างที่บทความใน The Atlantic ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ โพสท์แบบนี้อาจเป็นการดิสเพลย์ โชว์ให้คนอื่นรู้ว่าคุณน่ะมี productivity หรือว่ามี ‘ผลผลิต’ มากกว่าคนที่เหลือตั้เยอะแยะ มันคือการบอกคนอื่นว่าคุณเป็นคนสำคัญ
ไม่ต่างจากยุคหนึ่งที่มีคำพูดนั่นแหละครับว่า – ถ้าอยากให้คนอื่นคิดว่าคุณสำคัญ ให้บอกว่าตัวเองยุ่ง
นี่เป็นเพียงเวอร์ชั่นอัพเกรดของคำพูดแบบนั้นเท่านั้นเอง
แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ควรคิดก็คือ การบ่นว่าทำงานเยอะเกินไปแบบนี้ ด้วยการพูดว่าทำงานเยอะเกินไปผ่านโซเชียล มันเป็นการ ‘ให้ค่า’ การทำงานเยอะเกินไปอยู่ด้วยตัวมันเองหรือเปล่า – หมายถึงว่า คุณอาจต้องถามตัวเองสักหน่อยก่อนโพสท์ว่า การที่คุณกำลังจะโพสท์ว่าทำงานหนักนั้น คุณโพสท์มันด้วยอารมณ์แบบไหน
คุณภูมิใจ หรือคุณโกรธ หรือคุณอัดอั้น
ไม่ว่าแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ข้อสำคัญคือคุณอาจจะต้องรู้ตัวเท่านั้นเองว่าที่บ่นน่ะ คุณบ่นจริงๆ หรือคุณบ่น เพื่อให้คนเห็นว่าคุณเป็นคนสำคัญ
ถึงแม้จะมีคำบอกว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ‘งาน’ จึงอาจดูเป็นสิ่งสำคัญในสายตาใครต่อใคร และเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต จนบางครั้งเราก็อาจคิดเปรียบเทียบไปเองว่า งาน เท่ากับ ชีวิต และชีวิต เท่ากับ งาน
แต่อย่าลืมว่าสำนวนเขาไม่ได้บอกไว้นะครับว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของการอวดว่าทำงาน”
แล้วก็อย่าลืมพักบ้าง.
อ้างอิงข้อมูลจาก
psycnet.apa.org