หลักการทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้นของสัตว์โดยทั่วไป คือ ไม่มีการปฏิสนธิย่อมไม่มีการเกิด แต่เรื่องนี้อาจจะกำลังกลายเป็นเรื่องท้าทายต่อข้อเท็จจริงดังกล่าว หลังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในอิตาลี พบลูกฉลามแรกเกิดถูกคลอดในตู้ที่มีแต่ฉลามเพศเมีย
เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์กาลาโกโนเน่ ในซาร์ดิเนียของอิตาลี ต่างฉงนเมื่อพวกเขา พบลูกฉลามแรกเกิดในตู้ที่มีแต่ฉลามเพศเมีย และนี่อาจทำให้ลูกฉลามตัวนี้ เกิดขึ้นจากฉลามพรหมจรรย์เป็นครั้งแรกของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มันอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการการสืบพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตแบบไม่อาศัยเพศแบบหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า พาร์ธีโนเจเนซิส
พาร์ธีโนเจเนซิส เกิดขึ้นจากการที่ไข่ของตัวอ่อน พัฒนาขึ้นเองในมดลูกของสัตว์ โดยไม่ผ่านการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิของสัตว์เพศผู้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นกับสัตว์กว่า 80 ชนิด รวมถึงฉลาม ปลา และสัตว์เลื้อยคลาน เดเมียน แชปแมน ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ฉลาม ในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ระบุว่า มันมีฉลามและกระเบนกว่า 15 ชนิด ที่สามารถทำสิ่งนี้ได้
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอิตาลีครั้งนี้ นับได้ว่าหายากมาก เนื่องจากยังไม่เคยมีการบันทึกพบฉลามตัวลูก ที่ออกจากท้องของแม่ฉลามพรหมจรรย์ และไม่มีใครสามารถบันทึกปรากฏการณ์เหล่านี้ ที่อาจเกิดขึ้นในธรรมชาติได้
แชปแมนสันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์พาร์ธีโนเจเนซิสอาจเกิดขึ้น เมื่อสัตว์เพศเมียต้องการจะดำรงเผ่าพันธุ์ของพวกมัน เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ขาดสัตว์เพศผู้
ปรากฏการณ์พาร์ธีโนเจเนซิสเกิดขึ้นได้ในสองลักษณะ คือ แอโพมิกซิส ซึ่งเป็นการโคลนนิ่งที่พบในพืช และ ออโตมิกซิส ซึ่งอาจเกิดขึ้นในฉลามตัวนี้ ด้วยการที่ฉลามตัวแม่ทำการสับเปลี่ยนยีนของตัวมัน เพื่อสร้างลูกในท้องที่จะมีลักษณะคล้ายกันกับมัน แต่ไม่ใช่การโคลนนิ่งแบบเหมือนเป๊ะ
อย่างไรก็ดี สัตว์ที่เกิดจากปรากฏการณ์พาร์ธีโนเจเนซิส อาจมีโอกาสในการเอาชีวิตรอดได้น้อยกว่าสัตว์ที่เกิดจากการปฏิสนธิด้วยวิธีปกติ และการเกิดในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ลดต่ำลง เนื่องจากเซลล์ไข่ของสัตว์ถูกสร้างขึ้นจากดีเอ็นเอเสริมจากตัวแม่ ไม่ใช่การปฏิสนธิทั่วไป
อ้างอิงจาก
https://nypost.com/2021/08/19/miracle-baby-shark-born-asexually-in-all-female-tank/
#Brief #TheMATTER