***โพสต์นี้ไม่มีสปอยล์***
ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง Joker เข้าฉาย กรมสุขภาพจิตก็ถือโอกาสแนะนำอาการเดียวกับที่ Arthur Fleck หรือ Joker เป็น นั่นคืออาการ PBA – Pseudobulbar Affect หรือบางครั้งก็เรียกว่า Pathological Laughing and Crying โดยจะมีอาการ อาทิ
– ร้องไห้หรือหัวเราะรุนแรงควบคุมไม่ได้
– การร้องไห้หรือหัวเราะนั้นไม่เข้ากับสถานการณ์
– การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์
ฯลฯ
สำหรับสาเหตุคาดว่าเกิดจากปัญหาที่สมองส่วนหน้า โดยวิธีแก้คือไปพบแพทย์และอธิบายอาการ เพื่อแยกระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์อื่นๆ เช่น โรมซึมเศร้า ไบโพลาร์, เขียนไดอารีบันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ และรักษาด้วยวิธีการกินยา
อย่างไรก็ตามมีวิธีการดูแลตัวเองหรือคนที่มีอาการ เช่น พูดคุยทำความเข้าใจอาการนี้กับครอบครัวเพื่อลดความตื่นตระหนกเมื่อมีอาการ, ปรับการอิริยาบถเพื่อลดอาการ เช่นจากลุกเป็นนั่ง จากนั่งเป็นเดิน, หายใจเข้าออกอย่างช้าๆ และฝึกการผ่อนคลายทุกๆ วัน
กรมสุขภาพจิตยังเน้นย้ำว่า ภาพยนตร์เรื่อง Joker ได้รับเรต R นั่นแปลว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ที่จะเข้าชมต้องมีผู้ปกครองไปด้วย และผู้จะเข้าชมทุกคนควรตรวจสอบอารมณ์และสภาพจิตใจก่อนว่าพร้อมหรือไม่ หากต้องการคำแนะนำให้ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลขโทรศัพท์ 1323 หรือปรึกษาบุคลากรด้านสุขภาพจิตใกล้บ้าน
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านคน มีอาการ PBA ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ใช้วิธีรักษาตามอาการเพื่อลดความรุนแรงและลดความถี่ ส่วนในไทยยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด
สำหรับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี จะเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day)
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/THAIDMH/posts/1068503979986484
https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/12012/pseudobulbar-affect
#Brief #TheMATTER