หลังจากที่ได้รับแรงกดดันให้ลาออกมาหลายสัปดาห์ ‘จัสติน ทรูโด’ ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา และหัวหน้าพรรคเสรีนิยมแห่งแคนาดา ซึ่งการลาออกในครั้งนี้ ถือเป็นการปิดฉากบทบาททางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานของเขา ตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งในปี 2015 และพาพรรคการเมืองเสรีนิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง
วันนี้ The MATTER จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่นำมาสู่แรงกดดันครั้งใหญ่ จนเกิดการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ยังไม่ครบเทอม และอนาคตทางการเมืองของแคนาดาจะเป็นอย่างไร ไปพร้อมๆ กัน!
‘ทรูโด’ เป็นผู้นำพรรคเสรีนิยมแห่งแคนาดามาเป็นเวลากว่า 11 ปี และเป็นนายกฯ มา 9 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทรูโดเผชิญกับวิกฤตต่างๆ มากมาย โดยเราจะเริ่มพาทุกคนไปค่อยๆ ทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การประกาศลาออกของทรูโดเมื่อวันจันทร์ (6 มกราคม) ที่ผ่านมา
เริ่มกันที่เรื่องแรก:
#เศรษฐกิจ
ต้นทุนราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ชะตากรรมการเป็นผู้นำของทรูโด คล้ายกับของผู้นำหลายๆ คนในโลกตะวันตก หลังจากที่ประสบกับวิกฤตโรคระบาด
ในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2024 ที่กลายเป็นไวรัลบนอินเตอร์เน็ต แสดงให้เห็นทรูโดเผชิญหน้ากับคนงานโดยคนงานบอกกับเขาว่า “คุณไม่ทำอะไรเพื่อเราเลยจัสติน” เนื่องมาจากทรูโดไม่ได้แก้ไขเรื่องปัญหาค่าครองชีพที่กำลังพุ่งสูงในแคนาดา ซึ่งสิ่งนี้ได้สะท้อนภาพรวมของประชาชนในประเทศ ที่ไม่พอใจในการบริหารงานของทรูโดเพิ่มมากขึ้นด้วย
#การเมือง
การประกาศลาออกแบบสายฟ้าแลบของรองนายกฯ
การลาออกของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คริสเทีย ฟรีแลนด์ เจ้าของฉายา ‘Ministry of Everything’ ที่ร่อนจดหมายลาออกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการรายงานการคลังประจำปี ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลแคนาดา โดยในจดหมายลาออกของเธอได้วิพากษ์วิจารณ์ ‘กลอุบายทางการเมือง’ ของทรูโด
การลาออกของเธอ ทำให้ทรูโดสูญเสียการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยลงคะแนนให้เขา อย่างเช่น พรรคประชาธิปไตยใหม่ (NDP)
ขณะที่ช่วงที่ทรูโดดำรงตำแหน่ง ในปี 2017 เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องรับสินบน และการใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว และการหยุดงาน ไม่เข้าร่วมวันชาติครั้งแรก เพื่อไปพักผ่อนเล่นเซิร์ฟ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สมาชิกในครอบครัวของเขาได้รับเงินหลายแสนดอลลาร์จากองค์กรการกุศลที่รัฐบาลของเขาเพิ่งทำสัญญาด้วย นั่นจึงกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของเขาพอสมควร
ภาษีและการโยกย้ายถิ่นฐาน
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่เตรียมจะกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวแห่งสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ บอกว่าจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดอัตราภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดา หากแคนาดาไม่ยับยั้ง ‘การรุกราน’ ของยาเสพติดและผู้อพยพ ***
ซึ่งหากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างร้ายแรง และอาจทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
*** อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างของทรัมป์เรื่องการรุกรานนั้นยังถือว่ามีข้อมูลสนับสนุนน้อยเกินไป เนื่องจากมีผู้อพยพเพียง 1.5% ที่ถูกหน่วยงานป้องกันชายแดนสหรัฐฯ จับกุม ขณะที่ในส่วนของยาเสพติด มีเพียงเฟนทานิล 0.2% เท่านั้นที่ยึดได้ที่ชายแดนของสหรัฐฯ
#ความนิยมของทรูโดที่เริ่มลดลง
จากผลการสำรวจความนิยมล่าสุด ระบุว่า พรรคอนุรักษนิยม หรือพรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดย ปิแอร์ ปัวลิเยฟร์ ได้รับคะแนนความนิยมที่ 47% ในขณะที่พรรคเสรีนิยมของทรูโดมีเพียง 18% เท่านั้น
ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการที่เขาชิงลาออกไปก่อนนั้นอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากในช่วงปลายปี 2025 นี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคาดการณ์กันว่าทรูโดอาจจะแพ้ในสนามเลือกตั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ทรูโดบอกว่าเขาจะยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคเสรีนิยมคนใหม่ขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเกิดเป็นคำถาม ที่มาพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่า ใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง? และจะจัดการการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ยังไง? รวมถึงอนาคตทางการเมืองของแคนาดาจะเป็นแบบไหน?
หลังจากที่ทรูโดประกาศลาออก หัวหน้าพรรค NDP ออกมาบอกว่า เขาจะลงคะแนนเสียงเพื่อล้มพรรคเสรีนิยมไม่ว่าผู้นำจะเป็นใครก็ตาม พร้อมกับบอกว่า “พวกเขาไม่สมควรได้รับโอกาสอีกครั้ง”
ทำให้ในเวลานี้คะแนนส่วนใหญ่เทไปทางพรรคอนุรักษนิยม หรือทางพรรคฝ่ายค้าน และทำให้พรรคเสรีนิยมกำลังเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
#หัวหน้าพรรคคนใหม่
พรรคเสรีนิยมมีกำหนดประชุมกันในสัปดาห์นี้ และได้ระงับการประชุมสภาเพื่อให้พรรคมีเวลาในการเลือกผู้นำคนใหม่ — ซึ่งผู้นำคนใหม่ที่อาจเข้ามาแทนที่ได้แก่ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งอังกฤษและธนาคารแห่งแคนาดา มาร์ก คาร์นีย์, รัฐมนตรีต่างประเทศ เมลานี โจลี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี คริสเทีย ฟรีแลนด์
ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้นำของพรรคการเมืองของแคนาดาจะได้รับเลือกภายในระยะเวลา 4 – 5 เดือน ซึ่งทรูโดให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (6 มกราคม) ที่ผ่านมาว่า “ประเทศสมควรมีตัวเลือกจริงๆ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และมันชัดเจนแล้วว่าผมต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน และไม่สามารถเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะเกิดขึ้นได้”
#ฝ่ายค้านที่อาจคว้าชัยในสนามเลือกตั้ง
กำหนดการการเลือกตั้งของแคนาดาจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนกำหนด โดยพรรคอนุรักษนิยมได้พยายามจัดการเลือกตั้งมาหลายเดือนแล้วจากการลงมติไม่ไว้วางใจในสภา
ปิแอร์ ปัวลิเยฟร์ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมของแคนาดา ที่กลายเป็นตัวเต็งสำหรับตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป เขาเริ่มเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี 2022 ปัวลิเยฟร์กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรูโด โดยปัวลิเยฟร์ เคยโดนขับออกจากสภาในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่ยอมกล่าวขอโทษที่เรียกทรูโดว่า ‘คนเพี้ยน’ และ ‘หัวรุนแรง’
‘นำความฝันของชาวแคนาดากลับบ้าน’ เป็นธีมหลักของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งปัวลิเยฟร์แสดงให้เห็นว่าพรรคเสรีนิยมของทรูโดนั้นปกครองประเทศด้วยอุดมการณ์ที่สุดโต่ง และเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นสูงมากกว่าคนธรรมดา
ปัวลิเยฟร์ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CTV News ของแคนาดาก่อนวันคริสต์มาสว่า “ผมมีพละกำลัง และความเฉลียวฉลาดที่จะปกป้องประเทศนี้ และขอส่งข้อความไปถึง ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ สิ่งแรกและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ แคนาดาจะไม่มีวันเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ”
#อนาคตการเมืองแคนาดา
Washington Post ระบุว่า ผู้นำคนต่อไปจะต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น ราคาสินค้า การขาดแคลนที่อยู่อาศัย และอัตราการเก็บภาษีจากเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐฯ ทว่าหนึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การเอาชนะในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ให้ได้ แม้คะแนนนิยมของพรรคเสรีนิยมจะลดฮวบลงเรื่อยๆ ก็ตาม
ขณะที่ทรัมป์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีการลาออกของทรูโด เมื่อวันจันทร์โดยเน้นย้ำว่าแคนาดาและสหรัฐฯ ควรรวมกันเป็นหนึ่ง โดยทรัมป์กล่าวบนโซเชียลว่า “คนจำนวนมากในแคนาดาที่รักและอยากเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ไม่อาจทนต่อปัญหาเศรษฐกิจของแคนาดาได้ ซึ่งทรูโดรู้เรื่องนี้และตัดสินใจลาออกไปแล้ว”
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐแคนาดาหลายคนมองว่า ทรัมป์จะเป็นภัยคุกคามต่อแคนาดา อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนอีกหนึ่งอย่างคือ สมาชิกคณะรัฐมนตรีของทรูโดจะต้องลาออกหรือไม่ หากต้องลงสมัครรับเลือกตั้งแทนทรูโด ซึ่งนั่นจะทำให้เสียกำลังคนที่จะต่อสู้กับทีมของทรัมป์ไปด้วย
ทรัมป์ล้อเลียนทรูโดผ่านโซเชียลมีเดียโดยบอกว่า ‘ทรูโดเป็นผู้ว่าการรัฐที่ 51’ ที่หมายถึงแคนาดาเป็นอีกหนึ่งรัฐของสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐแคนาดามองว่าเป็นเพียงเรื่องตลก ทว่าประชาชนอีกฝั่งหนึ่งกำลังมองว่าสิ่งที่น่าขบขันนี้เป็นภัยคุกคามต่ออธิปไตยของแคนาดา และมองว่าการตอบสนองของรัฐในเวลานี้ยังบกพร่อง
The MATTER ชวนทุกคนมาจับตากันต่อไปว่าผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำจากพรรคเสรีนิยม ที่แม้จะได้ปฏิบัติงานในช่วงเวลาอันสั้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนี้จะเป็นใคร รวมถึงวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศจะส่งผลต่อประเทศรอบข้างและเราอย่างไรได้บ้าง ซึ่งถ้ามองถึงปัญหาแล้วการเมืองของแคนาดานั้น ก็ดูไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
อ้างอิงจาก