โอ๊ย กลัวๆ ก็ชอบดูกันจังไอ้หนังผี หนังฆาตกรรม เดอะช็อกอะไรทั้งหลายแหล่ ตอนดูก็ดูไปก็ปิดตาไป ปิดหูไป ดูเสร็จก็มานั่งหลอน ไม่กล้าส่องกระจก อาบน้ำไปก็ระแวงไป
อะไรของมนุษย์ละเนี่ย ทั้งๆ ที่เรื่องน่ากลัวมันทำให้เรากลัว (เออ พูดทำไม) แต่สุดท้ายก็คนเรานี่ยั้งเที่ยวเสาะแสวงหาเรื่องน่ากลัวทั้งหลายมาใส่ตัว กลัวก็กลัวนะ แต่สุดท้ายก็ชอบที่จะกลัวด้วย แปลกคน!
จะว่าไป พูดแบบนั้นก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะว่ามันก็มีบางคนแหละที่ไม่ชอบเรื่องน่ากลัวทั้งหลาย ความกลัวมันทำอะไรกับเรา อะไรที่ทำให้เราตอบสนองต่อความกลัวต่างกัน หรือแม้แต่เทพนิยายของเด็กน้อย ทำไมมันยังน่ากลัวเลย หรือจริงๆ แล้วความกลัวมันดีต่อใจ
ทำไมเราชอบที่จะกลัว
อารมณ์ของมนุษย์เราซับซ้อน บางอย่างที่ฟังดูไม่น่าจะดีแต่บางทีเราก็ชอบมัน พวกความเจ็บปวดหรือความกลัว ลึกๆ แล้วมันแอบแฝงไว้ด้วยความรื่นรมย์ที่น่าประหลาดบางอย่าง
ฟังแล้วอย่าเพิ่งรู้สึกว่ายี้ แกนี่มันโรคจิต เพราะลึกๆ แล้ว มันอาจมีความหมายมากกว่านั้น
ความกลัวเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ โดยรวมแล้วความกลัวคือความรู้สึกตอบสนองต่อภัยอันตรายหรือการคุกคามต่างๆ ในสถานการณ์ปกติ ความกลัวมักนำไปสู่การหลบหนีหรือหลบเลี่ยงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นความน่าสงสัยอย่างหนึ่งคือ ทำไมคนเราถึงชอบเอาตัวเองไปสู่ความกลัว เช่น การไปดูหนังผี เล่าเรื่องสยองในค่ำคืนริมหาด ไปจนถึงการไปเที่ยวบ้านผีสิง
Dr. Margee Kerr นักสังคมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความกลัวประจำบ้านผีสิง ScareHouse บ้านผีสิงสุดดังที่ต้องจองคิวข้ามปีที่เมือง Pittsburgh (เก๋เนอะ บ้านผีสิงมีนักวิชาการประจำด้วย) บอกว่า ไอ้ความกลัวแบบที่คนชอบเอาตัวเองไปประสบเนี่ย ประเด็นสำคัญคือมันต้องไม่ใช่ของจริง เป็นความกลัวที่ไม่ได้นำไปสู่อันตรายจริงๆ ความสำคัญของการเผชิญความกลัวแบบนี้คือการรู้ว่ามันจะต้องมีการจบลง
เมื่อเราผ่านพ้นความกลัวนั้นไปได้ สิ่งที่เหลือคือความรู้สึกที่ว่า เรานี่มันไม่ธรรมดา เราผ่านพ้นมันมาได้แล้ว ในเชิงจิตวิทยามันเป็นการเพิ่มความเคารพในตัวเอง (self-esteem) ได้ทางหนึ่ง ทำให้รู้สึกมั่นใจ มีความภูมิใจในตัวเองขึ้น บางครั้งมีความรู้สึกของการเป็นผู้รอดชีวิตแถมมาด้วย
ส่วนคำอธิบายว่าทำไมบางคนก็ชอบที่จะกลัว บางคนก็ไม่ชอบ มันเป็นเรื่องของรสนิยม งานวิจัยของ David Zald ยังแสดงให้เห็นว่าความชอบไม่ชอบต่อความกลัวมันเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองที่แตกต่างกันในแต่ละคน พี่แกพบว่าสมองของแต่ละคนตอบสนองต่อโดปามีน ฮอร์โมนแห่งความสุขที่หลั่งออกมาในห้วงเวลาที่เราเจอเหตุการณ์สยองหรือน่าตื่นเต้นแตกต่างกัน บางคนก็ตอบสนองมากกว่า บางคนก็น้อยกว่า ตรงนี้เองที่ทำให้บางคนก็สนุกกับความกลัว แต่กับบางคนก็ไม่ค่อยสนุก
ทำไมนิทานเด็กมันสยองนะ หรือเราเรียนรู้จากความกลัว
โอเค ความชอบเรื่องความกลัวมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เราจะฟังเรื่องผีหรืออุดหู จะไปดูหนังผีหรือไม่ ก็แล้วแต่
แต่นิทานเด็กนี่สิ จะว่าไป เด็กก็คงมีตัวเลือกไม่มาก ความสงสัยหนึ่งที่หลายคนครุ่นคิดคือ สำหรับเด็กๆ แล้ว ความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่แฝงอยู่ในนิทานหรือเทพนิยายต่างๆ อยู่บ่อยๆ มันทำอะไรกับเด็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่แบบเราๆ กันนะ
Wisława Szymborska กวี นักเขียนและนักแปล ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1996 ก็ได้ครุ่นคิสและพูดถึงความสำคัญของความกลัวในนิทานของ Hans Christian Andersen ไว้ในหัวข้อเรื่องความสำคัญของการถูกทำให้กลัว (The Importance of Being Scared) ว่า จริงๆ แล้วเด็กชอบนะที่จะเจอเรื่องน่ากลัวในนิทานทั้งหลาย เพราะมนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความต้องการในการเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่รุนแรงต่างๆ เรื่องราวที่แอนเดอร์สันเล่าให้เด็กฟังมันไม่ได้ให้แค่รสหวานหรือเรื่องสนุกสนานเท่านั้น แต่เขากำลังคุยกับเด็กๆ อย่างจริงจังเกี่ยวกับชีวิตที่มีทั้งการผจญภัยที่สวยงาม ในขณะเดียวกันก็มีด้านที่ชั่วร้ายและทุกข์ระทมปะปนอยู่ด้วย
ในทำนองเดียวกัน Neil Gaiman นักเขียนชื่อดังผู้โปรดปรานเรื่องสยองขวัญให้ความเห็นเกี่ยวกับเงามืดในเรื่องราวสำหรับเด็กน้อยว่า
“ถ้าเราปกป้องเด็กด้วยการกันพวกเขาออกจากเงามืดทั้งหลาย การปกป้องนั้นมันไม่ใช่การปกป้องเด็กๆ จากสิ่งชั่วร้ายเลย หากแต่ความรู้และความเข้าใจในความมืดต่างๆ ต่างหากที่เป็นการป้องกันที่แท้จริง”