ประเด็นภาพที่ถูกสร้างโดย AI ในระยะหลัง เริ่มมีความสมจริงขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งก็กลายเป็นปัญหา เช่น ในช่วงวิกฤติแผ่นดินไหวที่ผ่านมา เราเริ่มเจอการแชร์วิดีโอที่ทำเหมือนว่าเป็นภาพความเสียหายที่พม่า หรือกระทั่งภาพของสุนัขประเภทต่างๆ ที่คล้ายกับเป็นสุนัข K9 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการค้นหาเพื่อช่วยเหลือในเหตุดินไหว
ตัวอย่างข้างต้นเป็นอีกปัญหาของผลงานจาก AI ที่สร้างภาพเสมือนที่ดูสมจริงขึ้นเรื่อยๆ โดยนอกจากภาพที่เริ่มอ่านและเข้าใจยาก ภาพ AI แบบ ‘คลาสสิก’ ที่ชาวเน็ตซึ่งโตมากับอินเทอร์เน็ตอาจจะพอแยกได้ในทันที เพราะเป็นภาพที่ดูไม่สมจริงซักเท่าไหร่ เช่น ภาพเด็กที่สร้างสิ่งของต่างๆ ภาพเรื่องราวดีๆ ขณะเดียวกันเราก็พบว่า บางครั้งผู้สูงอายุอย่างพ่อแม่เรานี่แหละมักจะแชร์ภาพเหล่านี้ หรือไปคอมเมนต์ในเรื่องราวดีๆ เหล่านั้น ด้วยการชื่นชมบ้าง อีโมจิรูปหัวใจหรือรูปยกมือพนมบ้าง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์การแชร์ภาพปลอม ภาพ AI และการคอมเมนต์ชื่นชมของผู้สูงอายุในสังคมออนไลน์ ดูจะไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่กับผู้สูงอายุของบ้านเรา หรือของพ่อแม่เราเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และคำถามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ว่าเหตุใดผู้สูงอายุจึงหลงเชื่อภาพจาก AI ซึ่งอาจรวมถึงการหลงเชื่อข่าวปลอมและมิจฉาชีพทั้งหลายด้วย
ปรากฏการณ์ร่วมทั่วโลก
การที่ผู้สูงอายุแชร์ภาพปลอมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แถมยังมีอาการแบบเดียวกันแม้จะอยู่คนละซีกโลก ทว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นการพยายามทำความเข้าใจเพิ่มเติม แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจถึงเหตุผลที่ผู้สูงอายุมักหลงเชื่อภาพ AI
การเป็นปัญหาสากล เช่น บทความชื่อ ‘เฟซบุ๊กเต็มไปด้วยภาพเยินๆ จากเอไอ และผู้สูงอายุกำลังตกหลุมพวกมัน’ (Facebook Is Filled With AI-Generated Garbage—and Older Adults Are Being Tricked) ในบทความนี้อธิบายถึงอาการของชาวเน็ตสูงวัยที่คล้ายกับบ้านเรามาก คือการที่ผู้สูงวัยมักจะแชร์หรือคอมเมนต์ในภาพ AI ที่ดูไม่จริง บางครั้งก็คล้ายกับบ้านเรา เช่น ภาพประติมากรรมน้ำแข็งยักษ์ที่แกะโดยเด็กๆ, ภาพแมวที่ถูกถักขึ้นจากไหมพรม
สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ผู้สูงอายุมักตอบสนองภาพปลอมเหล่านั้น ด้วยการคอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันผ่านการชื่นชม หรือการกดอีโมจิให้กำลังใจ ซึ่งนั่นดูคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลุงป้า น้าอา หรือพ่อแม่ของเราเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นเรื่องช่วงวัยที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่แตกต่างกันนั้น ถือเป็นประเด็นซับซ้อนและควรจะต้องทำความเข้าใจ กระทั่งการสร้างความรับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น โดยความเข้าใจเรื่อง AI มีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอายุ พบว่า ไม่ได้เป็นความผิดของผู้ชมอย่างผู้สูงอายุเท่านั้น เช่น ในปลายปี 2023 มีงานศึกษาที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อายุเกิน 50 ปี มีเพียง 17% เท่านั้น ที่เคยอ่านหรือได้ยินเกี่ยวกับ AI เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีงานศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเชื่อว่าภาพ AI เป็นภาพจริง
เงื่อนไขด้านเทคโนโลยี กายภาพ และสังคมที่ซับซ้อน
นอกจากช่องว่างด้านความเข้าใจทางเทคโนโลยีแล้ว การรับรู้หรือความสามารถในการแยกแยะภาพจริงและภาพปลอมของผู้สูงอายุ ยังอาจเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ตรงนี้เองเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า มีความเกี่ยวข้องกับบริบทต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กันตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี ลักษณะทางกายภาพของผู้สูงอายุ และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของช่วงวัยที่แตกต่างกัน
ข้อสังเกตแรกคือ ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AI หรืออุปกรณ์โปรแกรมทั้งหลาย มักไม่มีผู้สูงอายุเป็นกลุ่มตัวอย่าง หรือเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโลกแห่งเทคโนโลยี ดังนั้น ตัวเทคโนโลยีจึงไม่ค่อยเอื้อต่อความเข้าใจหรือการใช้งานของผู้สูงอายุ
อีกหนึ่งเงื่อนไขที่น่าสนใจ คือมีการตั้งข้อสังเกตว่า การแยกแยะสิ่งต่างๆ สัมพันธ์กับการรับรู้ (cognition) ของผู้สูงอายุที่เสื่อมถอยลง ทั้งความฉับไวในการมองเห็น การคิดประมวลผลและแยกแยะสิ่งต่างๆ มีความเฉียบคมน้อยลง และน้อยกว่าคนในวัยอื่นๆ ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อหรือหลงเชื่อได้ง่าย
เงื่อนไขสุดท้ายที่ใหญ่และน่าสนใจที่สุด คือความแตกต่างจากบริบทที่คนแต่ละช่วงวัยเติบโตขึ้น กล่าวคือ คนรุ่นก่อนหน้าตั้งแต่รุ่นบูมเมอร์ขึ้นไป เติบโตขึ้นโดยปราศจากเทคโนโลยี ผิดกับคนเจนวายที่เติบโตขึ้นจากยุคอินเทอร์เน็ต คนรุ่นหลังจึงเข้าใจดีถึงความปะปนของข่าวสาร ภาพปลอม และสิ่งที่ไม่จริงต่างๆ ซึ่งทำให้มีความสามารถในการระแวดระวัง ขี้สงสัย และนำไปสู่การตั้งคำถามได้มากกว่า
นอกจากบริบทความเชี่ยวชาญ หรือการโตมากับเรื่องปลอมๆ แล้ว หากมองย้อนไป ผู้สูงวัยในช่วงอินเทอร์เน็ตเกิดใหม่อาจเจอปัญหาการเชื่อฟอร์เวิร์ดเมล หรือข่าวสารปลอมต่างๆ ในเฟซบุ๊ก เพราะนอกจากบริบททางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีบริบทซับซ้อนหรือมุมมองต่อโลกที่แตกต่างกันด้วย
ในข้อสังเกตจากเว็บบอร์ด Quora พบว่า นอกจากการตั้งข้อสังเกตเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้คนเจนเนเรชั่นหลังๆ ตั้งการ์ดต่อสิ่งปลอมในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีข้อสังเกตเรื่องห้วงเวลาที่คนรุ่นก่อนหน้าเผชิญและเติบโตขึ้น นั่นคือคนสูงอายุในปัจจุบันเติบโตขึ้นในยุคสมัยที่คนเหล่านั้นเชื่อมั่นในสถาบันทางสังคมต่างๆ รวมถึงเป็นช่วงวัยที่เติบโตขึ้นบนฐานของสงครามและปัญหาระดับโลก อย่างสงครามเย็น ความขัดแย้งมากมายเหล่านี้ จึงทำให้คนในช่วงเวลาก่อนหน้าต้องการ และมีความเชื่อมั่นกับสถาบันทางสังคม ซึ่งยึดโยงและยึดถือกลุ่มก้อนถึงความเชื่อต่างๆ ที่มีความมั่นคง
ดังนั้น ประเด็นเรื่องผู้สูงอายุและภาพปลอม ซึ่งอาจรวมไปถึงข่าวปลอมและการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จึงอาจไม่ใช่ความไม่ชาญฉลาด ไม่เท่าทัน แต่อาจสัมพันธ์กับบริบทและมุมมองต่อโลกที่แตกต่างกัน และความเข้าใจตรงนี้เองสามารถนำไปสู่การร่วมเสริมสร้างความเท่าทันทางเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการกลับไปทำความเข้าใจผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ อย่างกลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างมากมายในทุกวันนี้
ทว่ามุมมองของเราที่มีต่อผู้สูงอายุ ว่าเป็นกลุ่มคนที่มักถูกหลอกโดยเทคโนโลยี จากเหตุการณ์ภัยพิบัติและเหตุการณ์ไม่ปกติ รวมถึงการที่เทคโนโลยีมีความรุดหน้า ภาพมีความสมจริงมากขึ้น หรือความเชื่อของเราที่มีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง การตกเป็นเหยื่อภาพปลอมหรือข่าวปลอม ในที่สุดอาจไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุ แต่อาจรวมถึงคนทุกวัย หรือเราทุกคนด้วย
อ้างอิงจาก