“เวลาผู้หญิงไม่มีรถออกไปเที่ยวกลางคืน ตอนแยกย้ายจะมีคำพูดติดปากเพื่อนเสมอว่า ‘ถึงบ้านบอกด้วยนะ’ ยิ่งถ้าเราแบตฯ โทรศัพท์มือถือหมดระหว่างทางเพื่อนจะยิ่งเป็นห่วงมาก น่าคิดนะว่าเมืองมันอันตรายขนาดไหน”
ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนอิสระ สะท้อนปัญหาการเดินทาง ที่ชวนปวดหัวตั้งแต่เด็กยันโต ในฐานะเด็กเมืองหลวงแต่กำเนิด
“บ้านเราอยู่สุดขอบเมือง มีปัญหามาตั้งแต่ประถม เราต้องตื่นตี 5 มาตั้งแต่เด็กเพื่อไปโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัยยิ่งโคตรนรก การเดินทางมันไม่เป็นมิตรกับทุกคนเลย”
รถเมล์สาย 503 กลายเป็นพาหนะประจำของลูกแก้ว ตลอดหลายปีที่่เรียนมหาวิทยาลัย โดยต้องออกจากบ้านล่วงหน้ากว่า 3 ชม. เพื่อให้ทันเข้าเรียนในตอนเช้า
“พอเป็นผู้หญิงหรือเพศที่หลากหลายอื่น ก็มีปัญหาเพิ่มที่ต้องมาระวัง sexual harassment หรือความปลอดภัยอื่นใดที่มาจากเพศของเราบวกไปอีก”
เธอเล่าต่อว่า ด้วยสถานที่เรียนอยู่ใกล้ย่านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของคนเที่ยวกลางคืน แต่ระดับความสุขนั้นก็มักมากน้อยตามแต่เงินในกระเป๋า
นอกจากนี้ ปัญหาห้องน้ำสาธารณะที่่มีจำกัด ก็สร้างความยากลำบากระหว่างการเดินทาง ทั้งที่มีความสำคัญต่อสุขอนามัยเจริญพันธุ์ ที่ไมได้จำกัดแค่เพศหญิง
ตามความคิดเห็นของลูกแก้ว มองว่า ถนนที่ดูเหมือนเปลี่ยว อาจไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงปัญหาไฟสองสว่างที่ไม่เพียงพอเท่านั้น “ทั้งที่ไฟก็สว่าง บางทีมันเป็นเพราะไม่มีคนเลย เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันไม่ได้เอื้อให้คนมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ในพื้นที่สาธารณะ”
“ถ้าเรามีต้นไม้มากพอ มีมานั่งที่ดี ป้ายรถเมล์พักสบาย คนที่ออกมาใช้ชีวิตก็จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่ใช่ทุกคนเข้าห้าง เราว่าเหตุการณ์อะไรมันก็จะมองเห็นได้ชัดขึ้น คนที่คิดจะทำไม่ดีก็คงน้อยลง”
ลูกแก้วทิ้งท้ายว่า เมืองจะปลอดภัยสำหรับทุกคน เมื่อมี’สายตา’ของผู้คนคอยช่วยกันดูแล
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #ความปลอดภัย #การเดินทาง #TheMATTER