“เวลาไปปารีส เขาก็จะบอกว่าโจรมันเยอะ แล้วเราก็จะมีการให้กําลังใจตัวเองว่า ถ้าเราใช้ชีวิตใน กทม. ได้ เราก็รอด ซึ่งแบบ เอ๊ะ ตกลงมันคือข้อดีหรือไม่ดีวะ”
ปัญหาของ กทม. “เหมือนสายสัญญาณรกๆ ที่เราเคยเห็นในข่าวบ่อยๆ” คือข้อสังเกตของ ต่อ—คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง นักเขียน นักวิจารณ์ และชาวลาดพร้าว ผู้นิยามตนเองว่าเป็นคน ‘กรุงเท๊พ-กรุงเทพ’ เพราะอาศัยอยู่และเห็นปัญหาของ กทม. มาตลอดเกือบ 40 ปี
แต่ปัญหาที่ว่านั้น ไม่ต้องไปไหนไกล ยังไม่ต้องออกจากซอยก็เจอปัญหาแล้ว อย่างหนึ่งที่เจอบ่อยมากในซอยบ้านของคันฉัตรคือเสาไฟสาธารณะดับ แต่พอจะพยายามแก้ปัญหา ก็ทำให้เขารับรู้แล้วว่าการติดต่อหน่วยงานใน กทม. เป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน
“เวลาจะแจ้งว่าเสาไฟมันดับ มันก็จะงงมากว่ามันต้องแจ้งหน่วยงานไหน คือพอแจ้งไฟฟ้าไปใช่ไหม มันก็จะเหมือนมีไฟฟ้าหลายแบบ มีไฟฟ้าเขต ไฟฟ้าสาธารณะ แล้วในมือถือพี่มันก็มีเมมเบอร์ไว้เยอะมาก
“การที่จะซ่อมไอ้เสาไฟอันเดียวเนี่ย แม่งต้องแจ้งหลายอย่างมาก โทรไปการไฟฟ้าที่ต้องเป็นฝ่ายแผนกสาธารณะ ซึ่งใครมันจะไปรู้ว่ามึงแผนกอะไรกันบ้างนึกออกไหม ทําไมมันไม่ทำ one-stop service คือถ้าเป็นไฟบ้านดับ ต้องโทรเบอร์หนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นไฟสาธารณะต้องโทรอีกเบอร์”
นอกจากนี้ คันฉัตรยังเล่าอีกว่า ในสมัยที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะมีแอคเคาต์ไลน์ที่ชื่อว่า ‘อัศวินคลายทุกข์’ ซึ่งเขาก็ได้แจ้งไปเหมือนกัน แต่ปรากฏว่า ทางไลน์ก็ติดต่อกลับมาว่ารับเรื่อง แต่ขั้นตอนไม่ง่าย เพราะหลังจากที่ติดต่อไปแล้ว ฝ่ายประสานงานก็ต้องแจ้งไปที่กรมโยธาฯ และการไฟฟ้าอีกทีด้วย
“คือกับไอ้แค่เสาไฟต้นเดียวเนี่ย มันเหมือนแบบมหากาพย์มาก แล้วในซอยมันก็ผลัดกันดับ มันไม่ได้ดับแค่ต้นเดียวไง สมมติว่ามันมีห้าต้น มันก็จะผลัดกันดับไปเรื่อยๆ แล้วพี่ก็แจ้งจนเบื่อตัวเอง แล้วคิดว่าเขาคงเกลียดพี่เหมือนกัน”
นอกจากไฟดับ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญก็คือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งคันฉัตรก็บอกว่า ซอยบ้านตัวเองมีทั้งสุนัขจรจัด มีโจร กระทั่งคนค้ายา หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตใน กทม. ดึกๆ ก็ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่เหมือนกัน
“คือเรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตใน กทม. มันมีความ insecure สูงมาก มีความกังวลความไม่ปลอดภัย ถ้าพูดเรื่อง gender ด้วย ขนาดเราเป็นผู้ชายยังไม่กล้าเดินในซอยบ้านตัวเอง สมมติวันไหนแม่มีประชุมดึกๆ ก็จะต้องเดินออกไปรับ หรือนั่งรถออกไปรับ
“จนมันเลยถึงขั้นมีคําขําๆ ว่า สมมติเวลาไปเที่ยวปารีส เขาก็จะบอกว่า เออ โจรมันเยอะ แล้วเราก็จะมีการให้กําลังใจตัวเองว่า ถ้าเราใช้ชีวิตใน กทม. ได้ เราก็รอด ซึ่งแบบ เอ๊ะ ตกลงมันคือข้อดีหรือไม่ดีวะ”
“ก็คิดดูดิ เราไม่กล้าเดินในซอยบ้านตัวเอง มันก็ไม่ make sense แล้วกับการใช้ชีวิต มันก็แปลว่า ชีวิตนี้มันไม่ปลอดภัย นึกเวลาเราไปเที่ยวอะ ญี่ปุ่นก็ได้ ประเทศที่มันขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย เรากล้าเดินตอนตี 3 ที่ญี่ปุ่น เดินเล่นไอโฟนด้วย แต่นี่ 2 ทุ่มก็ไม่กล้าเดินในซอยตัวเองแล้ว ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นไง”
คันฉัตรสังเกตว่า ปัญหาเหล่านี้ มีส่วนหล่อหลอมให้คน กทม. ใช้ชีวิตแบบ ‘ทนอยู่ไปเรื่อยๆ’ ซึ่งก็กระทบกับการแก้ปัญหาด้วย เพราะทุกคนเคยชินจนปัญหาเรื้อรัง พะรุงพะรัง ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือน “สายสัญญาณรกๆ ที่เราเคยเห็นในข่าวบ่อยๆ”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ “ถ้ามันจะต้องแกะสายพะรุงพะรังนั้นออก มันก็คงไม่สามารถดึงออกมาพรวดทีเดียวแล้วมันแก้ได้ มันก็ต้อง โอเค ค่อยๆ แก้ไป หรือหาวิธีแก้ไป แต่มันก็ต้องทำ ไม่งั้นมันก็จะพะรุงพะรังไปเรื่อยๆ อย่างนั้น”
และถ้าผู้ว่าฯ กทม. อยากจะแก้ปัญหา คันฉัตรก็เสนอจากประสบการณ์ตรงที่เขาเจอว่า ต้องปรับโครงสร้างการทำงาน ให้เรื่องไปถึงเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงจะต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ด้วยว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องแจ้งใคร อย่างไร เพื่อให้ได้ผลจริงๆ
“คือพูดอย่างนี้ ก็เข้าใจแหละว่ามันพูดง่าย แต่มันก็ต้องทำ ไม่งั้นมันก็จะเป็นเมืองที่เละเทะ เป็น Gotham City อะไรอย่างนี้”
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #ความปลอดภัย #TheMATTER