รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันมนุษย์สามารถค้นพบความลับของมหาสมุทรไปเพียง 20% เท่านั้น ในขณะที่อีก 80% ยังถูกซุกซ่อนไว้ภายใต้ความมืดมิด และเย็นเฉียบใต้น้ำจนเกินขีดความสามารถของคนจะไปหยั่งถึง แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยย่อท้อที่จะค้นหา โดยล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบก้อนวุ้นขนาดเล็กในท้องทะเลลึก และระบุว่ามันเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลกเรียบร้อยแล้ว
สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกนี้มีชื่อว่า ‘Duobrachium sparksae’ จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตประเภทไฟลัมทีโนฟอรา (ctenophore) หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง โดยเจ้าก้อนวุ้นหยดน้ำนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องถ่ายใต้น้ำที่มีความละเอียดสูงเท่านั้นจึงจะถ่ายมันได้
การค้นพบครั้งสำคัญนี้ เป็นฝีมือขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Noaa) ที่ใช้หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลที่เรียกว่า ‘Deep Discover’ ดำน้ำลงไปประมาณ 3,900 เมตร เพื่อถ่ายภาพของ Duobrachium sparksae อย่างละเอียด และนำมาวิเคราะห์ทางชีวภาพ
ไมค์ ฟอร์ด (Mike Ford) นักวิทยาศาสตร์ของ Noaa กล่าวว่า นี่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะตัวและสวยงามอย่างมาก ทาง Noaa ตัดสินใจถ่ายวิดีโอแทนที่จะเก็บตัวอย่างมาเพื่อรักษาความสมดุลของมันต่อไป แต่ด้วยคุณภาพของวิดีโอที่เรามี ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของไฟลัมทีโนฟอรา ทำให้เรารู้ว่านี่คือสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน
Duobrachium sparksae มีความยาวเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันสัตว์กินเนื้อ ซึ่งอาหารหลักของมันคือสัตว์ขาปล้องขนาดเล็ก นอกจากนี้มันยังสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ด้วยการดีดตัว และมันยังมีหนวดยาวสองอันเพื่อยึดตัวเองกับท้องทะเล และควบคุมตำแหน่งการเคลื่อนไหว ซึ่งหากมองเผินๆ Duobrachium sparksae อาจมีลักษณะคล้ายแมงกะพรุน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองสายพันธ์ุมีโครงสร้างแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ขณะนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักเจ้าสัตว์สายพันธ์ุนี้ดีมากนัก และจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปว่า Duobrachium sparksae มีความสำคัญอย่างไรกับระบบนิเวศท้องทะเล เพราะการที่มันสามารถอาศัยอยู่ในระดับทะเลนั้นได้ เท่ากับว่ามันต้องมีความพิเศษบางอย่างที่อาจรอให้เราค้นพบอยู่แน่นอน
อ้างอิงจาก
#BRIEF #TheMATTER