เวลาพูดถึงตลาดน้อย ภาพในหัวของหลายๆ คนอาจเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ มุมถ่ายภาพ และร้านอาหารใหม่ๆ และคาเฟ่ ที่ซ่อนกลิ่นอายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของตลาดน้อย จนปฏิเสธไม่ได้ว่าย่านดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในย่านที่ได้ความสนใจมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร
ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการพัฒนาชุมชนให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ตลาดน้อยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของย่าน ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์นี้ถูกเรียกว่า ‘การทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี’ (gentrification)
ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพของการปะทะกันระหว่างความเป็นชุมชนเก่าแบบดั้งเดิม กับภาพของความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ชุมชน ตลอดจนกระแสของการท่องเที่ยวทั้งจากคนในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เราจึงได้เดินทางไปย่านตลาดน้อย สำรวจความคิดเห็นของผู้คนในชุมชนที่อาศัยอาศัย และทำอาชีพค้าขายในย่านนี้มายาวนาน ว่าพวกเขามองปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงของตลาดน้อยอย่างไร
คนตลาดน้อย มองตลาดน้อยจากอดีตสู่ปัจจุบัน
อุ๊–นัดดา ประพันธวงศ์ วัย 73 ปี อยู่ตลาดน้อยมาตั้งแต่เกิด ปัจจุบันประกอบอาชีพดูดวง ควบคู่ไปกับการดูแลแมวจรจัดภายในย่านชุมชน เธอเล่าถึงบรรยากาศสมัยก่อนของย่านดังกล่าวให้ฟังว่า หลายสิบปีก่อนหน้านั้น ตลาดน้อยเป็นย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่เยอะ ในความทรงจำของเธอ ตลาดน้อยปะปนทั้งคนไทย คนจีนแต้จิ๋ว และจีนแคะ ซึ่งเมื่อก่อนตลาดน้อยถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยเธออาศัยอยู่บริเวณ ซอยวานิช 2 ซึ่งชาวบ้านรู้กันว่าเป็นพื้นที่สำหรับทำมาหากิน
ป้าอุ๊เล่าย้อนความหลังว่า บริเวณเอี่ยมละออ หรือซอยแฟลตทรัพย์สิน เคยเป็นส่วนที่คนใช้สารเสพติด จึงเรียกว่าตรอกผีดิบ และซอยดงกล้วย หรือซอยขี้หมา เพราะขี้หมาเยอะ หมาจรจัดเยอะ และจากหัวโค้งตรงนี้ขึ้นไปทางซ้ายคือ ภาณุรังศรี ที่เมื่อก่อนจะเป็นตลาด ในเวลาเดียวกันก็เป็นย่านที่คนชอบเล่นการพนัน
นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกส่วนคือ เซียงกง หรือย่านขายอะไหล่เก่า สมัยก่อนคนที่ต้องการหาอะไหล่รถยนต์ต้องมาที่นี่ แต่ตอนนี้เซียงกงกระจายกันไปหมด
“ป้ารู้สึกว่าสมัยก่อนน่าอยู่ เพราะคนที่อยู่ติดกันเป็นเพื่อนบ้านกันจริงๆ รถมีเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นจักรยาน และมีคนหาบขายของ เด็กๆ ก็เล่นกันหน้าบ้าน หากเทียบกับตอนนี้มันไม่ใช่ ตอนนี้คนตลาดน้อยจริงๆ เหลือไม่เท่าไหร่”
เธอเล่าเพิ่มว่า พอเริ่มมีแฟลตครั้งแรก ป้าก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นรุ่นของร้อยพ่อพันแม่ คนจากที่อื่นก็มาอยู่ ย้ายเข้าย้ายออก แตกต่างไปจากยุคนี้ “ยุคนี้คนที่บ้านใกล้กันไม่ใช่เพื่อนบ้าน เพียงบ้านใกล้กันเท่านั้น ตัวใครตัวมัน”
ลุงตี๋ (นามสมมติ) อายุ 76 ปี เล่าให้เราฟังว่า เขาอยู่ตลาดน้อยมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนนี้ไม่มีบ้านอยู่ที่นี่แล้วเนื่องจากโดนไล่ที่ แต่ก็ยังแวะเวียนมาแถวนี้ โดยเฉพาะบริเวณเซียงกง–โซนขายอะไหล่
“ดั้งเดิมแถวนี้ [ซอยอะไหล่] ไม่ค่อยดี ปากกัดตีนถีบ คนย่านนี้เมื่อก่อนเวลาไปสมัครงานเขาไม่รับ เพราะพ่อแม่จน ทุกคน ต้องตอบว่ามาจากตรอกข้าวหลามแทนถึงจะได้งานทำ”
ลุงตี๋มองไปโดยรอบของบริเวณซอยนี้ พร้อมกล่าวว่า เมื่อก่อนมีแต่กระสอบเพราะคนทำกระสอบขาย และตรงแถวนี้เป็นคูคลองที่ตกเย็น ผู้คนจะเอากระสอบมาล้าง ตรงริมแม่น้ำก็มักจะมีเรือขนถ่านจากเพชรบุรีมาเทียบท่า
“ตลาดน้อยถือเป็นดงนักเลง สมัยก่อนในศาลเจ้าโรงเจ ทุกๆ ปี เจ้าพ่อเจ้าแม่จะมาเป็นสิบ เที่ยงคืนเดินเพ่นพ่านไปหมด”
จากอดีตสู่ปัจจุบัน ลุงตี๋เล่าว่า ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ คนที่เคยอาศัยในย่านนี้จำนวนไม่น้อยเซ้งบ้านกันหมด เพราะค่าเช่ามันสูง บ้างก็ขายบ้านทิ้ง
“ตลาดน้อยเพิ่งบูมไม่นาน สำหรับลุงการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะไม่ดี เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเดินไม่สนใจ ไม่หลบรถ เพราะอาจคิดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งหมด”
ด้าน ธงชัย แซ่ตั้ง อายุ 63 ประกอบอาชีพทำอะไหล่รถยนต์ มองว่า ตลาดน้อยคือชุมชนชาวจีน ที่ประกอบอาชีพ ตีเหล็ก ทำกระสอบ ทำผัดกาดดอง ทำน้ำปลา ทำถ่าน ย่านนี้จึงเป็นย่านแห่งการค้าขาย
สำหรับเขาแล้ว ชุมชนตลาดน้อยสมัยก่อนจะเงียบสงบ หลังจากนั้นผู้คนต่างพื้นที่ถึงเข้ามาเปิดร้านค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติบ้างก็นายทุน เข้ามาเปิดคาเฟ่ ไม่ก็ร้านอาหาร
“ตลาดน้อยเจริญขึ้น ความวุ่นวายมากขึ้น สมัยก่อนไม่มีนักท่องเที่ยว มีเพียงคนในชุมชนที่เห็นหน้าค่าตากันตลอด แต่ปัจจุบันต่างชาติเข้ามาเยอะ แย่งกันทำมาค้าขาย”
ส่วน ป้ามะลิ เจ้าของร้านป้ามะลิขายโจ๊ก เล่าให้ฟังว่า เธอมาอยู่ตลาดน้อยตั้งแต่ประมาณ 40 ปีที่แล้ว เธอยอมรับว่า ชอบที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก เมื่อก่อนขายดีแล้ว แต่สู้ตอนนี้ไม่ได้ เพราะทั้งคนจีน ฝรั่ง ไทย เข้ามาเยอะ ทำให้ชุมชนครึกครื้นมากขึ้น
พื้นที่เจริญขึ้น แต่คนในกลายเป็นคนนอก?
ป้าอุ๊ กล่าวว่า เรื่องการทำมาหากินในตลาดน้อยจะมีปัญหาตรงที่ คนจากที่อื่นมาขายและไม่มีความเกรงใจกัน อย่างเช่น ขายเสร็จก็ไม่กลับบ้าน กินเหล้า และส่งเสียงดัง
“ยอมรับว่าป้าเข้าใจส่วนหนึ่ง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนนอกพื้นที่ ที่เข้ามาอยู่ในชุมชนด้วยการเช่าห้องอยู่ จึงอาจจำเป็นต้องสังสรรค์กันข้างนอกแทน”
เราถามป้าอุ๊ว่า แล้วคนตลาดน้อยหายไปไหน? เธอตอบว่า เดิมทีตลาดน้อยเป็นพื้นที่ของเศรษฐีเดิม ที่มักสร้างตึกให้เช่า ให้เซ้ง ไม่ยอมขาย ซึ่งคนที่เช่าเป็นคนจีน ที่สมัยก่อนเข้ามาทำอะไหล่ พอช่วงหนึ่งฐานะดีขึ้น พวกเขาก็อยากจะมีอะไรเป็นของตัวเอง จึงขยับขยายไปซื้อบ้านที่อื่น อาทิ บางนา รังสิต ใกล้ๆ ก็แถวบางแค
“เพราะยุคนั้นคนที่ขายอะไหล่สามารถรวยได้ แต่ยุคนี้ไม่ได้แล้ว สำหรับป้ามองว่าธุรกิจอะไหล่เก่าใกล้ถึงจุดจบ”
ส่วน ลุงธงชัย มองว่าในปัจจุบันตลาดน้อยความสะดวกไม่มี มีแต่ความเจริญ “ซึ่งความเจริญนั่นไม่ได้เจริญกับคนในชุมชน แต่เจริญกับคนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ ส่วนคนในชุมชนจริงๆ ย้ายไปอยู่ชานเมืองกันหมด”
เขากล่าวเพิ่มเติมถึงการเข้ามาของต่างชาติว่า ต่างชาติเข้ามาเช่าและซื้อที่ อย่างเมื่อก่อนบ้านหลังหนึ่งให้เช่าในราคาประมาณ 20 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินส่วนใหญ่ ถูกขายให้กับนายทุนไทยไม่ก็ต่างชาติ ทำให้คนเก่าคนแก่บางส่วน จำเป็นต้องขอเช่าที่กับนายทุนอีกทีหนึ่ง โดยขณะนี้ค่าเช่าบ้านอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน คนอยู่ได้ก็อยู่ ส่วนคนที่อยู่ไม่ได้ก็ต้องจากย่านนี้ไป
ถึงแม้นักท่องเที่ยวทะลัก แต่ร้านค้าชุมชนกลับขายของไม่ได้
ป้าอุ๊ ระบุว่า นักท่องเที่ยวมีจำนวนเยอะขึ้นจริง แต่โซนหน้าบ้านป้ากลับไม่มีอะไรเปิดเลย
“หนูสังเกตไหมวันอาทิตย์ คนเยอะ แต่พ่อค้าแม่ค้ากลับไม่ขายของ เพราะแม้ว่าคนจะเยอะจริง แต่ซอยนี้นักท่องเที่ยวเดินผ่านน้อย”
เธออธิบายว่า ส่วนใหญ่ผู้คนมักเดินมาจากฝั่ง River City และเดินไปทางซอยเล็กๆ แถวศาลเจ้าโรงเกือกที่มีงานอาร์ตอยู่ “เดิมไม่มีรูปพวกนี้หรอก แต่คนที่มีเงินก็จ้างให้คนมาวาด ซึ่งเมื่อก่อนบริเวณริมน้ำ จะมีบ้านเก่า บ้านไม้ ส่วนใหญ่เป็นบ้านเช่า ตอนหลังฝรั่งเข้ามาเช่า และแต่งให้เป็นบ้านริมน้ำ ทำให้มีคนเริ่มเข้ามาเที่ยว”
ป้าอุ๊เสริมว่า จากนั้นกลายเป็นว่าบ้านเก่าๆ ที่เมื่อก่อนไม่มีคนอยู่เลย สภาพจะพังแหล่ไม่พังแหล่ ถูกคนที่พอมีเงินเข้ามารีโนเวท เปิดเป็นร้านกาแฟ และตรงตามเสายังมีการเขียนไกด์ว่าควรเดินไปตรงไหน ส่งผลให้คนที่จะมาเดินตรงซอยป้าแทบจะไม่มีเลย ซึ่งก่อนที่จะมีแผนที่ไกด์ คนก็เดินเข้ามาตรงนี้เยอะ
“จริงๆ ถ้ามีนักเที่ยวเยอะ แล้วเขาขายของได้ เขาก็อยากขาย แม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่ไม่มีใครซื้อ ร้านค้าก็เลยปิดกัน สำหรับป้ามีแต่คนเดิน แต่ไม่มีคนซื้อ”
ย่านแห่งนิทรรศการศิลปะ คนตลาดน้อยมีส่วนร่วมแค่ไหน?
ป้าอุ๊ แสดงความเห็นว่า ในปีแรกที่เริ่มต้นจัดนิทรรศการ เธอมองว่าเป็นงานที่ดีและจัดได้สวยงาม “ป้าก็ไปนั่งดูนะ โคตรดีเลย คนในชุมชนก็เอาของมาตั้งขายหน้าบ้านตัวเอง ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่าขายดี”
ถึงแม้ว่ากว่างานจะเลิกก็ช่วงสี่ทุ่ม และกว่าคนจะซาก็ราวๆ เที่ยงคืนกว่า แต่เธอมองว่า ผู้คนในชุมชนไม่ได้รู้สึกว่าการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาดูแสงสี เป็นการสร้างความเดือดร้อนอะไร เพราะพวกเขาไม่ได้ส่งเสียงดัง
คำตอบของลุงตี๋คล้ายคลึงกับป้าอุ๊ เขาบอกว่า “รู้สึกว่าช่วงจัดงานไม่รบกวน วัยรุ่นมาเที่ยวแล้วก็กลับ ไม่มีอะไร”
ป้าอุ๊พูดต่อ ทว่าพอปีที่สองและปีต่อๆ มา รู้สึกว่าบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป คนมาน้อยลง หลายคนไม่รู้ว่ามีงานจัดอยู่ในซอย “คนที่เคยนำของออกมาขายหน้าบ้านตัวเอง ก็เลิกขายไปเลย” เธอกล่าว
ทั้งนี้ ป้าอุ๊ยกตัวอย่างเรื่องแมวเสริมขึ้นมาว่า มีครั้งหนึ่ง ที่มีนิทรรศการจะมีการทำไฟเป็นรูปทรงแมวจรจัด นักท่องเที่ยวก็มาถ่ายรูป ซึ่งป้าเกิดคำถามว่า การนำแมวจรจัดมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ แล้วแมวจริงๆ ที่อยู่ในย่านได้อะไรบ้างไหม เพราะสำหรับป้าคือไม่ได้อะไรเลย
คนในชุมชน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
ป้าอุ๊ระบุถึงตลาดที่มักจะจัดในชุมชนเดือนละครั้งว่า ป้าเคยถูกชวนไปเข้ากลุ่มครั้งหนึ่ง แต่ป้ารู้สึกว่ามันไม่ค่อยโอเค อาจเพราะคนที่ขายส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนตลาดน้อย
“ป้ามองว่าถ้าพูดว่า ‘เป็นตลาดนัดของชุมชนตลาดน้อย’ ก็ต้องเป็นคนในตลาดน้อยที่ขายหรือเปล่า แต่กลายเป็นว่าพวกเราเหมือนเป็นไม้ประดับ”
เธอบอกว่า ไม่ใช่แค่เธอที่ถอนตัว แต่ยังมีคนตลาดน้อยอีกหลายคนที่ตัดสินใจเช่นเดียวกัน เพราะรู้สึกว่าเวลาจะมีงานอะไร ไม่ค่อยแจ้งให้คนในชุมชนทราบ
“ป้าเคยถามคนที่เกี่ยวข้องว่าทำไมไม่เอาคนตลาดน้อย เขาก็ตอบอ้อมๆ อย่างเช่น พวกเขาคงยืนทำหรือยืนขายไม่ไหวแม้จะมีฝีมือ เพราะอายุมากแล้ว ซึ่งในมุมมองของป้าคิดว่า ก็ให้พวกเขาทำที่บ้าน แล้วให้คนอื่นนำไปขายอีกทีก็ได้”
“สำหรับป้ามันมีหลายวิธีมากๆ ที่จะทำให้ผู้คนในตลาดน้อยได้รับประโยชน์จริงๆ ชุมชนตลาดน้อยควรจะขายในสิ่งที่มันเคยดี และโดดเด่นในชุมชน และอาจจะยังอยู่ในตลาดน้อยตอนนี้หรือเปล่า”
เธอเสริมว่า การเอาชื่อตลาดน้อยไป ประการแรกสิ่งที่ควรจะทำคือ การมาถามคนในชุมชนก่อนว่า เขาโอเคไหม ร่วมด้วยไหม ถ้าเขาไม่เอาก็ค่อยว่ากันอีกที
ส่วน ลุงตี๋ ก็มีมุมมองคล้ายกันคือ แม้นักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่กลับไม่กระตุ้นรายได้หรือเศรษฐกิจของชุมชนดั้งเดิมตรงนี้เสียเท่าไหร่ “คนขายของกินบ่นหมดเลย ทั้งคนขายข้าวแกง ขายลูกชิ้นทอด 7 วันเต็มที่ ขายได้เพียง 2 วัน อีก 4 วันไม่ต้องขาย เพราะไม่มีคนซื้อ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้ามา ก็เดินผ่านไป”
“ที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ตลาดน้อย ความเป็นมาของชื่อตลาดน้อย คือ การที่ชาวบ้านตั้งแผงขายของหน้าบ้านของตัวเองในช่วงเช้า อาทิ ขายผักผลไม้ ขายให้กับคนที่ไม่อยากเดินทางไปตลาดสวัสดี หรือตลาดใหญ่ แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง” ลุงตี๋ ปิดท้าย
อนาคตของย่านตลาดน้อย ผ่านสายตาคนในชุมชน
เมื่อถามถึงอนาคตของย่านตลาดน้อยที่เขาเคยรู้จัก ลุงตี๋ส่ายหน้า และพูดว่า “ความเป็นตลาดน้อย มันไม่เหลือ มันสูญพันธุ์ คนขายบ้านได้ก็ย้ายหนี ตลาดน้อยเปลี่ยนไปเยอะ พร้อมกับชี้ไปตรงพื้นที่หนึ่งว่า โรงแรมกำลังถูกสร้าง อนาคตย่านนี้อาจคล้ายกับตรอกข้าวสาร”
เขาเสริมว่า คนตลาดน้อยทยอยหายไปเรื่อยๆ ถ้ามีบ้านอยู่แถวนี้ก็อยู่ได้ อยู่ไม่ได้ก็ไป ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่หลัง เพราะคนมีเงินมาซื้อ คนมีเงินได้เปรียบ คนไม่มีเงินและอยากได้เงินก้อน ก็ขายบ้านแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น “การที่คนออกไป ก็พกความเป็นตลาดน้อยไปด้วย ไปแล้วไปลับ”
“คนมีเงินเข้ามาอยู่ คนไม่มีเงินถอยออกมา” โดยลุงตี๋ยังแสดงความเห็นเพิ่มว่า คนที่เข้ามาไม่ได้รักษาความเป็นตลาดน้อย พวกเขาถือว่ามาเปิดร้านค้า ถ้าได้กำไรก็ดี ถ้าไม่ได้ ขาดทุน ก็ขายทิ้งไป
ข้างต้นเป็นเพียงความรู้สึกและความเห็นของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่ตลาดน้อย ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดน้อย และย่านใจกลางเมืองอื่นๆ เราจึงคุยกับอาจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ เพื่อขยายมุมมองของประเด็นนี้มากยิ่งขึ้น
Gentrification คืออะไร เกี่ยวข้องกับตลาดน้อยอย่างไร
เราขอเกริ่นก่อนว่า ประเด็น gentrification กับ ตลาดน้อย ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งมากขึ้นในปัจจุบัน หลายคนมองว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในย่านนี้ ยั่งยืนต่อชุมชน และสร้างผลประโยชน์ให้คนในพื้นที่มากแค่ไหน
ซึ่งข้อสงสัยข้างต้นล้วนสอดคล้องกับปรากฏการณ์ gentrification ที่เกิดขึ้นกับย่านหรือเมืองอื่นๆ ทั่วโลก เช่น โตรอนโต ซานฟรานซิสโก วอชิงตัน ดี.ซี.
อาจารย์ชาตรี กล่าวว่า gentrification เป็นคำที่เริ่มถูกใช้ตั้งแต่ปี 1964 โดย รูส กลาส (Ruth Glass) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ โดยเธอนิยามมันว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ชนชั้นกลางเข้าไปซื้อบ้าน ในย่านของคนที่เป็นชนชั้นแรงงาน จนทำให้เกิด displacement หรือการบังคับให้ออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
“เป็นเหมือนการบังคับทางอ้อม ทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิม หรือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ต้องออกจากย่านที่อาศัยมาอย่างยาวนาน และถ้ากระบวนการนี้เข้าไปเรื่อยๆ จะไปเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางสังคมของย่านนั้นไปตลอดกาล”
เขากล่าวต่อ นักสังคมวิทยาดังกล่าวได้มีการยกตัวอย่างเคสที่ลอนดอน อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นนักวิชาการมากมาย ก็นำปรากฏการณ์นี้ไปจับในเคสของตัวเอง จนนำไปสู่การค้นพบว่า gentrification กำลังเกิดขึ้นกับทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่ลอนดอน
ด้วยเหตุผลที่ว่า ย่านใจกลางเมืองที่เดิมทีมีสภาพทรุดโทรม ถูกเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้คนชนชั้นกลางย้ายเข้าไป และด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า คนกลุ่มนี้จึงมีกำลังจ่ายค่าเช่าที่สูงขึ้น คนกลุ่มเดิมก็ถูกขับออกไป
“การที่คนชนชั้นกลางเข้ามาในเมือง ก็จะมาพร้อมกับไลฟ์สไตล์อีกแบบ เช่น รักความสะอาดสะอ้าน ชอบร้านคาเฟ่สวยๆ ร้านอาหารเทรนดี้ ฮิปคาเฟ่ ดนตรี แกลลอรี่ หรือการมีพื้นที่ให้เฉลิมฉลองมากขึ้น”
อ.ชาตรี อธิบายเสริมว่า ฉะนั้นคนกลุ่มนี้เข้ามาเปลี่ยนย่านใจกลางเมือง ที่ตัวเองเคยทิ้งไปหลายสิบปีก่อนให้กลับมาดูเจริญอีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 50-60s
“ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ ที่อาศัยอยู่กลางเมืองถูกถีบออกจากเมือง และต้องไปอยู่ห่างไกลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลาดน้อยถือเป็นอีกย่านหนึ่งที่กำลังเผชิญกับเรื่องนี้”
อ.ชาตรี กล่าวว่า ย่านกลางเมือง ย่านโบราณ ของกรุงเทพฯ เช่น ตลาดน้อย เจริญกรุง ทรงวาด เวิ้งนครเกษม บางลำพู ปากคลองตลาด ล้วนแต่เผชิญกับปรากฏการณ์นี้ไม่มากก็น้อยไปพร้อมๆ กันหมด
เขาพูดต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ถูกจำแนกแยกย่อยไปตามเงื่อนไขหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ดังนั้น gentrification มีหลายรูปแบบ อาทิ tourism gentrification, green gentrification และ state-led gentrification
“gentrification เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหยุดยั้งยาก สิ่งที่ตอนนี้พอทำได้คือการยื้อ ไม่ก็ชะลอมันให้ช้าลง หรือชดเชยให้กับผู้ที่ถูก gentrify เหมือนเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก แต่จริงๆ แล้ว การพัฒนาเมืองมีตัวเลือกเสมอ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเมือง ด้วยปรากฏการณ์นี้อย่างเดียวก็ได้”
สิ่งที่ต้องคิดในวันที่ย่านกำลังเปลี่ยนแปลงไป
อ.ชาตรี ชี้ว่า คนที่สนับสนุนกระบวนการนี้มักจะบอกว่า มันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ย่านดูปลอดภัยขึ้น มีสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งก็จริงหมด แต่ถ้ามองลึกลงไปในหัวใจสำคัญของสิ่งเหล่านี้ คำถามที่ตามมาคือ ‘ดีจริงนั่นดีกับใคร’
ซึ่งถ้ามองที่คำถามดีๆ จะเห็นว่ามันดีขึ้นกับแค่กลุ่มชนชั้นกลางระดับบน และกลุ่มชนชั้นสร้างสรรค์เท่านั้น เนื่องจากการมีที่แฮงค์เอ้าท์ มีที่ถ่ายรูป มีที่ท่องเที่ยว ล้วนเป็นไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งข้อเสียที่สำคัญคือ พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่า ไลฟ์สไตล์ที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ไม่ใช่สากล
เขาย้ำว่า ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะใช้ไลฟ์สไตล์แบบนี้ เพราะยังมีกลุ่มชนชั้นอื่นอีกอย่างชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน หรือกลุ่มคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี
ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่กับการพักผ่อนย่อนใจแบบนี้ เขาอาจไม่ได้ต้องการคาเฟ่สวยๆ ฮิปๆ ไม่ได้ต้องการสวนสาธารณะเพื่อไปออกกำลังกาย เพราะพวกเขาถูกใช้แรงงานไปทั้งวันอยู่แล้ว เขาจะออกกำลังกายไปทำไม
ฉะนั้นสวนสาธารณะที่ไว้วิ่งหรือปั่นจักรยาน มันฟังดูเหมือนเป็นพื้นที่สากลที่ใครก็ต้องการ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นเพียงของคนกลุ่มๆ หนึ่ง
“ภายใต้คำพูดที่เหมือนจะเป็นสากลว่า gentrification ทำให้ทุกอย่างดีหมด แต่สุดท้ายแล้วเป็นเพียง aesthetic หรือเป็นความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม”
อ.ชาตรี แสดงความเห็นเพิ่มว่า เมืองลักษณะนี้เป็นเมืองที่ค่อนข้างน่าเบื่อ ไม่มีความหลากหลาย และก็เหลื่อมล้ำ อย่างถ้าเอาภาพของ ตลาดน้อย เจริญกรุง สงขลา ภูเก็ต ปีนัง สิงคโปร์ มาเทียบกันแทบจะแยกไม่ออก เพราะเต็มไปด้วยตึกแถวเก่าๆ มีกราฟฟิตี้พ้นเต็มไปหมด มีคาเฟ่ ไม่ต่างกันเลย
อะไรที่ทำให้ Gentrification ในตลาดน้อยทวีความรุนแรงขึ้น?
“ผมคิดว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก เพราะเวลาเราพูดถึงชุมชนที่ถูก gentrify ก็มักจะมีภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อไปแล้ว โดยคนที่ถือเป็นแกนนำชุมชน ที่ไม่ได้เป็นคนนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาคือ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มันไม่ใช่เสียงของทุกเสียง ไม่ได้ครอบคลุมความหลากหลายของตลาดน้อยทั้งหมด”
อ.ชาตรี ยกตัวอย่างว่า ตลาดน้อยจะมีภาพจำอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพจำโบราณคือ ย่านเซียงกง เท่าที่เข้าใจเซียงกงก็ไม่ได้ถูกชูขึ้นมาในการขายความเป็นตลาดน้อย
“ถือเป็นปัญหา ทั้งๆ ที่คุณลักษณะของย่านเซียงกง เป็นคุณลักษณะที่สำคัญ ที่คนในอดีตรับรู้เกี่ยวกับย่านตลาดน้อย ฉะนั้นเวลาพวกเขานำเสนอภาพจำของย่าน สิ่งที่ตัวแทนเลือกขึ้นมา มักเป็นคุณลักษณะบางอย่าง ที่เอื้อต่อทุนนิยมและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังอาศัยคุณลักษณะหรือรากเหง้าของชุมชนนั้น”
เขาสรุปว่า สิ่งที่กระบวนการนี้ทิ้งไปคือ ความหลากหลายของรากเหง้าชุมชน ที่ไม่เอื้อกับทุนนิยม อาทิ เซียงกง เพราะอาจดูเละเทะและสกปรก อย่างไรก็ดี เรื่องราวลักษณะนี้อาจปรากฏในประวัติศาสตร์ ถูกพูดถึงบ้าง แต่ถามว่า มันจะถูกดึงขึ้นมาหรือให้ความสำคัญไหม ก็ไม่
“gentrification ไม่ใช่กระบวนการกลับเข้าสู่เมืองของคน แต่เป็นของทุน เป็นเรื่องของระบบทุนนิยม ฉะนั้นกระบวนการดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนเมืองให้เป็นทุน เปลี่ยนย่านเก่าให้เป็นทุน ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ เมืองจะกลายเป็นพื้นที่แห่งความเหลื่อมล้ำ”
ทั้งนี้ เราสอบถาม อ.ชาตรี ว่าทราบเรื่องราวที่ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ ที่ตลาดน้อยหรือไม่
เขาตอบว่า พอทราบมาบ้าง แต่ปัญหาของการเกิดขึ้นของ gentrification ในย่านเมืองเก่าของไทยคือ ไม่มีการศึกษาจริงๆ จังๆ ในทางวิชาการ
“เราไม่รู้เลยว่าย่านตลาดน้อย มีเปอร์เซ็นต์ของการ displacement จำนวนเท่าไหร่ สูงหรือต่ำอย่างไร ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของ gentrification ต้องดูจำนวนการ displacement แต่ไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง ก็เลยไม่รู้ว่าตลาดน้อยเมื่อ 10 ปี หรือ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะกลายเป็นย่านฮิป มีประชากรอยู่เท่าไหร่ และตอนนี้เปลี่ยนไปอย่างไร มีนักธุรกิจจากภายนอกมากน้อยเพียงใด เราไม่ทราบเลยเพราะไม่มีการศึกษาเชิงตัวเลข”
“แต่เท่าที่ทราบตอนนี้คือ มีนายทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาในย่านตลาดน้อย” เขาย้ำ
อ.ชาตรี ยอมรับว่า อีกปัญหาของ gentrification ในไทยคือ การที่คนยังมองว่ามันไม่เป็นปัญหา เพราะมองว่ากระบวนการนี้ ช่วยกระตุ้นให้เมืองเก่าที่รกร้าง หรือเงียบเหงากลับมามีชีวิต
นอกจากนี้ เราได้มีการยกตัวอย่างสิ่งที่คนตลาดน้อยบางส่วนต้องประสบ เช่น การถูกขับไล่จากที่อยู่อาศัย หรือการที่คนบางส่วนเกิดความรู้สึกว่า ความเป็นชุมชนหายไปให้กับอาจารย์ฟัง
เขาย้ำปัญหาของ gentrification อีกครั้งว่า มันเป็นสิ่งที่มีความรุนแรง แต่ความรุนแรงเหมือนถูกซ่อนเอาไว้ จนบางครั้งพวกเราไม่ตระหนัก หรืออาจอธิบายมันไม่ได้ เพราะความรุนแรงของมัน เกิดขึ้นภายใต้เปลือกที่มันดูซอฟต์มากๆ อย่างเข้ามาด้วยการเป็นย่านฮิป ย่านวัฒนธรรม แต่อย่างที่บอกไปมันเป็นด้านเดียวที่ซัพพอร์ตนายทุน
และอีกปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คนที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ gentrification ได้แก่ คนชนชั้นกลางระดับบน และคนชนชั้นสร้างสรรค์ ซึ่งมีเสียงดังที่สุดในพื้นที่สื่อ
“ผมคิดว่าคนชั้นกลาง คนชั้นกลางระดับบน คนชนชั้นสร้างสรรค์ ของสังคมไทยยังถูก gentrification หลอกอยู่ จนไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาของมัน เพราะอาจดูซอฟต์ แต่จริงๆ ระดับความรุนแรงไม่ต่างจากการเวนคืน และรื้อไล่ออกจากพื้นที่”
ถ้ายังปล่อยให้ลุกลาม ท้ายสุดมันจะคืบคลานไปหาทุกคน
อ.ชาตรี ระบุปิดท้ายว่า ถ้ากระบวนการ gentrification นี้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้ปัญหาลุกลามไปถึงทุกชนชั้นได้เช่นกัน
เพราะปรากฏการณ์นี้จะเริ่มจากการปรับย่านให้ดูดี ด้วยการนำพวกธุรกิจฮิปๆ ชิคๆ เข้ามา แต่พอกระบวนการนี้หนักขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มทุนใหญ่จะเข้ามาแทน และปรับย่านให้หรูขึ้น จนราคาร้านอาหาร ราคาโรงแรมแพงขึ้น หรืออาจรื้อชุมชนเพื่อสร้างโปรเจกต์ใหญ่ๆ เลยก็ได้
“พอถึงระดับนั้น คนเหล่านี้ก็อาจอยู่ไม่ได้เพราะรวยไม่พอ”
เขายกตัวอย่างว่า บางย่านในกรุงเทพฯ ก็ถูก gentrify โดยกลุ่มทุนไปเกือบหมดแล้ว บางย่านมีกลุ่มผู้เช่าเดิมเป็นชนชั้นกลาง ที่มีเงิน และพอเจ้าของที่จะขายที่ให้กับกลุ่มนายทุนใหญ่ กลุ่มผู้เช่าก็พยายามรวมตัวกัน เพื่อขอซื้อที่มาเป็นของตัวเอง แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าคนชนชั้นกลาง ถึงชนชั้นกลางระดับบน สุดท้ายแล้วอาจกลายเป็นเหยื่อของ gentrification เหมือนกัน
“อย่างแรกต้องปรับทัศนคติให้ผู้คนเข้าใจถึงปัญหานี้ ส่วนภาครัฐต้องตระหนักเรื่องนี้ด้วย”
เพราะตอนนี้หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่คาบเกี่ยวกับรัฐ ยังมองปรากฏการณ์นี้ในแง่ดีมากๆ ซึ่งภาครัฐต้องเอื้อมมือเข้ามาจัดการ และออกมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิด gentrification มากเกินพอดี
เช่น มีการกำหนดโซนนิ่งในย่านเมืองเก่า ค่าเช่าของบริเวณนั้นจะไม่พุ่งสูงจนเกินไป จนกลายเป็นเมืองคนรวย หรือมีมาตรการทางภาษีที่เอื้อให้กับเจ้าของที่ในย่านเมืองเก่า ให้อยู่ต่อได้โดยไม่ต้องนำที่ไปขายกับนายทุน เพื่อแลกกับเงินที่มากกว่า
“ถ้าคนชนชั้นกลางไม่ตระหนักปัญหานี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าตัวเองเป็นเครื่องมือ ท้ายสุดตัวเองจะไม่ใช่แค่เครื่องมืออย่างเดียว แต่จะกลายเป็นเหยื่อด้วย” อ.ชาตรี กล่าว