ความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่ยังดำเนินต่อไป
ผู้นำโลกที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ทั้งจากการเลือกตั้งและด้วยวิธีการอื่น
และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตา
เช่นเดียวกับทุกปี การเมืองและเศรษฐกิจโลกในปี 2025 นี้ ยังคงมีเรื่องที่ต้องจับตา เรื่องน่ากังวล รวมถึงเรื่องน่ายินดีอยู่บ้าง
จะมีอะไรเกิดขึ้น The MATTER ชวนสำรวจภูมิทัศน์การเมืองโลกไปพร้อมๆ กัน
อเมริกาเหนือ
สหรัฐฯ
สำหรับการเมืองสหรัฐฯ ไม่มีเรื่องอะไรใหญ่ไปกว่าการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในฐานะประธานาธิบดีอีกแล้ว หลังชนะคู่แข่งอย่าง กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025 นี้ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อการเมืองโลก
ในทางเศรษฐกิจ ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทรัมป์เตรียมจะตั้งกำแพงภาษี ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา เขาประกาศว่า จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% เพื่อกดดันให้แก้ปัญหายาเสพติดและผู้อพยพ ส่วนจีน ทรัมป์ประกาศจะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมอีก 10% มาตรการเหล่านี้ย่อมกระทบกับราคาสินค้าในสหรัฐฯ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ
ส่วนนโยบายต่อผู้อพยพ ทรัมป์เคยประกาศระหว่างหาเสียงว่า จะดำเนินการให้มี “การเนรเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ” แน่นอนว่าจะกระทบกับสิทธิของผู้อพยพในสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง ที่ผ่านมาเขาประกาศว่าจะเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายถึง 20 ล้านคน ไม่ว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ หรือผู้อพยพมีจำนวนมากขนาดนั้นจริงๆ หรือไม่ เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไป
อีกมุมหนึ่งที่น่าจับคือ คือบทบาทของสหรัฐฯ ในการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มว่าจะออกจากกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคี (multilateralism) และเป็นปฏิปักษ์กับสหประชาชาติ (United Nations) มากขึ้น ดังที่ทรัมป์เคยทำมาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรก
ในช่วงเวลานั้น เขาเคยพาสหรัฐฯ ออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) รวมถึงยูเนสโก (UNESCO) และในสมัยที่ 2 นี้ ก็คาดกันว่า เขาจะถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อีกครั้งหนึ่ง
ยุโรป
เยอรมนี
เยอรมนีเตรียมเลือกตั้งครั้งใหม่ ภายหลังวิกฤตรัฐบาลผสมล่มสลาย ทำให้ โอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรี จากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) กำหนดให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจ เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลแพ้ ปูทางไปสู่การเลือกตั้งสหพันธรัฐ ที่ตกลงกันว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 นี้
ชอลซ์จะยังลงรับสมัครเลือกตั้งต่อในปีนี้ แต่สายตากำลังจับจ้องไปที่ ฟรีดริช แมร์ซ (Friedrich Merz) หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ซึ่งมีคะแนนนำในโพลอยู่พอสมควร และคาดว่าจะพาเยอรมนีขยับสู่อนุรักษนิยมมากขึ้น หากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ยูเครน
สงครามในยูเครนจะครบรอบ 3 ปี นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สงครามยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเหนื่อยล้าของทั้งสองฝ่าย
ในปีนี้ น่าจับตาว่าสงครามจะสิ้นสุดลงหรือไม่ ทางด้านรัสเซียเอง ได้ประกาศวางแผน ‘ชนะสงคราม’ ภายในปี 2025 นี้ โดยมุ่งเป้าจะยึดครองพื้นที่โดเนตสก์ (Donetsk) ลูฮันสก์ (Luhansk) เคอร์ซอน (Kherson) และซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) โดยสมบูรณ์ ขณะที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) เคยกล่าวว่า จะพยายามทำทุกหนทาง เพื่อให้สงครามจบลงภายในปีนี้ โดยใช้เครื่องมือทางการทูต
ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปคือ สงครามจะสิ้นสุดลงด้วยเงื่อนไขแบบไหน ปัจจัยที่จะมีผลอย่างมากคือบทบาทของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ที่หาเสียงมาโดยตลอดว่าจะเข้ามาเจรจายุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ICJ (ศาลโลก)
เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปี 2025 นี้ คาดว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) จะออกความเห็นเชิงปรึกษา (advisory opinion) ว่าด้วยพันธกรณีของรัฐต่างๆ ที่มีต่อ climate change ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการกำหนดแนวบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้
ประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกระบวนการดังกล่าว โดยเน้นย้ำถึงแนวทางการลดผลกระทบ (mitigation) การปรับตัว (adaptation) และการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ (international cooperation) บนพื้นฐานของความเป็นธรรม
ตะวันออกกลาง & แอฟริกา
อิสราเอล
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล กับฮามาส (Hamas) ในฉนวนกาซา และฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ทางตอนใต้ของเลบานอน ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2025 นับตั้งแต่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ทำให้อิสราเอลตอบโต้จนยกระดับเป็นสงครามถึงปัจจุบัน
จนถึงตอนนี้ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามากกว่า 45,000 รายแล้ว ขณะที่ในอิสราเอล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,100 ราย และจากข้อมูลทางฝั่งอิสราเอล ยังมีตัวประกันอยู่ในฉนวนกาซาราว 100 คน
สิ่งที่ต้องจับตาในปีนี้คือการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ที่ดูจะใกล้สำเร็จมากกว่าการเจรจาคราวก่อนๆ ที่ผ่านมา ส่วนระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ เพิ่งบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศกายน ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังจากพื้นที่ที่ตกลงกัน
ซีเรีย
หลังครองอำนาจมาเป็นเวลา 24 ปี ระบอบของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรีย ก็ถูกโค่นล้มโดยฝ่ายกบฏแล้ว ทำให้อดีตเผด็จการผู้นี้ต้องหอบทรัพย์สินและลี้ภัยไปกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา
ระบอบอัสซาดมีผู้สนับสนุนหลัก คือ รัสเซีย อิหร่าน รวมถึงฮิซบอลเลาะห์ ก่อนหน้านี้ สงครามกลางเมืองในซีเรียมีตัวแสดงจากต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทสูงมาก รวมถึงสหรัฐฯ เอง ที่เคยสนับสนุนบางกลุ่มในฝ่ายกบฏในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่อิสราเอลไม่รอช้า บุกยึดพื้นที่ตามแนวชายแดนซีเรีย ทันทีที่อัสซาดถูกโค่น
แน่นอนว่าเหตุการณ์ในซีเรียจะต้องส่งผลต่อพลวัตที่จะเปลี่ยนไปของทั้งภูมิภาค สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือ หน้าตาของรัฐบาลใหม่ในซีเรีย ที่จะมาจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจ ภายใต้การนำของกลุ่มกบฏที่ชื่อ ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham หรือ HTS) จะเป็นอย่างไร
ซูดาน
ยังมีอีกประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาซึ่งกำลังเผชิญกับสงครามกลางเมือง ที่ถูกขนามนามว่าเป็น ‘สงครามที่ถูกลืม’ (Forgotten War) นั่นก็คือ ซูดาน
สงครามในซูดานปะทุขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมาระหว่างกองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces หรือ SAF) และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces) ซึ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2021
สงครามยังคงดำเนินอยู่ และเป็นสาเหตุของวิกฤตด้านมนุษยธรรม (humanitarian crisis) ราว 25 ล้านคน หรือประชากรครึ่งประเทศ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในด้านอาหาร น้ำ ยา และพลังงาน ขณะที่ผู้หญิงและเด็กก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มากกว่า 3 ล้านคนมีความเสี่ยงด้านความรุนแรงทางเพศ
ซาอุดีอาระเบีย
ถือว่าเป็นพัฒนาการหนึ่งที่น่าสนใจของภูมิภาคนี้ เพราะในปี 2025 นี้ ซาอุดีอาระเบียจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน Olympic Esports Games โดยได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee) ถือว่าเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสำหรับวิดีโอเกมครั้งแรกของโลกด้วย
กาตาร์
กาตาร์เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาสังคมครั้งที่ 2 (The Second World Summit for Social Development) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ การประชุมของสหประชาชาติ (UN) ห่างจากครั้งแรกซึ่งจัดในปี 1995 ถึง 30 ปี และมุ่งเน้นแก้ปัญหาช่องว่างการพัฒนาสังคม รวมถึงเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ภายในปี 2030
น่าสนใจว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้งหมดที่ตั้งไว้ ได้เพียง 17% เท่านั้น
ลาตินอเมริกา
เม็กซิโก
อาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งผู้นำเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะเม็กซิโกเตรียมจัดการเลือกตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด (Supreme Court) และศาลอื่นๆ จำนวนราว 1,500 ตำแหน่ง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2025 ที่จะถึงนี้ เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบตุลาการ
เรื่องนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โดยตลอด ทั้งด้วยการชุมนุมบนท้องถนน รวมถึงปรากฏเป็นความตึงเครียดทางการทูตกับประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ และแคนาดา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า อาจจะกลายเป็นช่องโหว่ให้พรรคการเมืองและแก๊งค้ายาเสพติดเข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการยุติธรรมได้
บราซิล
อีกเวทีสำคัญที่ใช้พูดคุยกันในประเด็น climate change ก็คือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Climate Change Conference) หรือ COP ซึ่งปีนี้ บราซิลรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพของการประชุม COP30 ต่อจากอาเซอร์ไบจานเมื่อปีที่ผ่านมา
ในอีกด้านหนึ่ง บราซิล ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้ง จะทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม BRICS ในปี 2025 นี้ โดยจะต้องมีการประชุมสุดยอด BRICS หรือ BRICS Summit ครั้งที่ 17 ภายในปีนี้
วาระที่มีการผลักดันในกลุ่ม BRICS ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การแสวงหาทางเลือกอื่นทดแทนระเบียบเศรษฐกิจแบบตะวันตก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘การลดบทบาทค่าเงินดอลลาร์‘ (de-dollarization) ประเด็นเหล่านี้น่าติดตาม เพราะไทยเองภายใต้รัฐบาลปัจจุบันก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่แสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ด้วยเช่นกัน
เอเชีย-แปซิฟิก
จีน
เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมาได้พักใหญ่แล้ว ในไตรมาส 2-3 ของปี 2024 ตัวเลข GDP ของจีนโตไม่ถึงที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5% และในปี 2025 ธนาคารโลก (World Bank) ก็คาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตจะหดตัวอีก จาก 4.8% ของปี 2024 เหลือเพียง 4.3% ท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหา ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลง และความท้าทายอื่นๆ
ที่ผ่านมา จีนพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเมื่อเดือนกันยายน 2024 ธนาคารประชาชนจีน (People’s Bank of China หรือ PBOC) หรือธนาคารกลางของจีน ประกาศแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ ขณะที่รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศนโยบายการเงินแบบ ‘ผ่อนคลายปานกลาง’ ครั้งแรกในรอบเกือบ 14 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
ในฐานะที่จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เรื่องราวเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ประกอบกับนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ที่จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ยิ่งทำให้มีทิศทางที่น่าสนใจ
ญี่ปุ่น
ทุกๆ 5 ปี งานมหกรรมระดับโลกอย่าง World Expo จะถูกจัดขึ้นโดยสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ (Bureau of International Expositions หรือ BIE) เพื่อเป็นพื้นที่ให้แต่ละประเทศจัดแสดงโซลูชั่น วิธีการ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการรับมือกับความท้าทายของโลก
สำหรับปีนี้ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น รับเป็นเจ้าภาพงาน World Expo 2025 โดยจะจัดติดต่อกัน 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึง 13 ตุลาคม 2025 ภายในธีม “การออกแบบสังคมอนาคตเพื่อชีวิตของเรา” (“Designing Future Society for Our Lives”)
เกาหลีใต้
คืนวันที่ 3 ธันวาคม 2024 จู่ๆ ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk Yeol) แห่งเกาหลีใต้ ก็ประกาศกฎอัยการศึกผ่านโทรทัศน์โดยที่ไม่มีใครตั้งตัว โดยอ้างว่า เพื่อปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ อย่างไรก็ดี สส. เกาหลีใต้ ก็สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อโหวตยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ด้วยมติ 190 ต่อ 0 ได้อย่างทันท่วงทีภายในคืนเดียวกัน
เหตุการณ์โกลาหลในการเมืองเกาหลีใต้ครั้งนี้ทำให้ ต่อมา สส. เกาหลีใต้ มีมติ 204 ต่อ 85 ถอดถอนยุนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ทันที และต้องส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยจะถอดถอนได้ด้วยการลงมติ 6 ใน 9 คนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะมีการวินิจฉัยภายในครึ่งปีนี้
หากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันการถอดถอน การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะต้องถูกจัดขึ้นภายใน 60 วัน
ออสเตรเลีย
ในปีนี้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม ชาวออสเตรเลียเตรียมเข้าคูหาเลือกตั้งสหพันธรัฐอีกครั้ง
หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2022 คาดว่า แอนโทนี อัลบาเนซี (Anthony Albanese) ที่มาจากพรรคแรงงานออสเตรเลีย (Australian Labor Party) จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แข่งขันกับ ปีเตอร์ ดัตตัน (Peter Dutton) จากพรรคฝ่ายขวากลาง พรรคเสรีนิยมแห่งออสเตรเลีย (Liberal Party of Australia)
น่าสนใจว่า อัลบาเนซีจะได้เป็นนายกฯ แค่สมัยเดียวหรือไม่ ในขณะที่ดัตตันกำลังมีคะแนนนำในโพล – ประการต่อมาคือ ผู้ชนะจะสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้หรือไม่ หรืออาจจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะทั้งสองพรรคการเมืองหลักดูจะไม่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย ณ ขณะนี้
เมียนมา
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2025 การรัฐประหารในเมียนมา โดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) จะมีอายุครบ 4 ปี
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ชี้ว่า มีพลเรือนถูกสังหารอย่างน้อย 5,350 คน มีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 3.3 ล้านคน เกือบครึ่งของประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจน และเกือบ 24,700 คนถูกจับกุม ตัวเลขนี้ยังพุ่งสูงขึ้นอีกนับตั้งแต่เมียนมาประกาศกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024
การแก้ไขวิกฤตเมียนมา โดยเฉพาะวิกฤตด้านมนุษยธรรม ผ่านกรอบอาเซียน ที่ยึดถือหลักการตามแผนฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ก็ยังคงเป็นหนทางหนึ่งที่ถูกจับตามองเสมอมา รวมถึงบทบาทของไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ได้ประกาศยืนยันบทบาทในการเจรจาสันติภาพอยู่หลายครั้ง
โดยในการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบขยาย (Extended Informal Consultation) ในกรอบอาเซียน โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา เมียนมาก็ได้ประกาศแผนการเตรียมการเลือกตั้งภายในปี 2025 นี้ด้วย ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองที่จดทะเบียน 53 พรรค
แน่นอนว่า สำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยยาว 2,416 กิโลเมตรอย่างเมียนมา เรายังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด