เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสัญญาณของเด็กผู้หญิงที่เข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ
มีการประเมินกันว่าเด็กผู้หญิงชาวอเมริกันในปัจจุบันเริ่มมีประจำเดือนเร็วขึ้นถึง 4 ปี เมื่อเทียบกับเด็กผู้หญิงเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาข้อมูลใหม่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเด็กผู้หญิงที่เกิดระหว่างปี 1950 – 1969 ปกติแล้วจะมีประจำเดือนเมื่ออายุราว 12.5 ปี แต่เด็กที่เกิดในช่วงต้นปี 2000 ลดลงเหลือ 11.9 ปีโดยเฉลี่ย
นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกแนวโน้มดังกล่าวนี้ไว้ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้อธิบายว่า จำนวนเด็กผู้หญิงที่แสดงสัญญาณการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็ว ไม่ว่าจะพัฒนาการเต้านม หรือการมีประจำเดือนก่อนอายุ 8 ปี เพิ่มขึ้น 16 เท่า ในช่วงปี 2008 – 2020
ออเดรย์ แกสกินส์ (Audrey Gaskins) จากมหาวิทยาลัย Emory University ของสหรัฐฯ บอกว่า อายุที่ลดลงในช่วงวัยแรกรุ่นนี้เด่นชัดมากขึ้นกับกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่าง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อย และสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
แกสกินส์ มีความกังวลว่า การเริ่มต้นเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วอาจกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างภายหลังเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่ได้เพียงชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว แต่ยังบ่งบอกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าเดิม และทำให้อายุขัยสั้นลงด้วย นอกจากนี้วัยแรกรุ่นยังมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นเกี่ยวกับโรคต่างๆ ตั้งแต่มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ไปจนถึงโรคอ้วนและเบาหวาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามที่จะเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุว่า การที่เด็กผู้หญิงในสหรัฐฯ มีประจำเดือนครั้งแรกเร็วขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการสัมผัสกับ ‘มลพิษ’
แกสกินส์เล่าว่าเมื่อ 10 ถึง 20 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสาเหตุเดียวของการเข้าสู่วัยแรกรุ่นก่อนวัยอันควรคือ โรคอ้วนในเด็ก โดยโปรตีนที่ผลิตโดยเซลล์ไขมัน (adipokines) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กระตุ้นแกนต่อมหมวกไต (HPA) และอวัยวะสืบพันธุ์ (HPG)
ทว่าการศึกษาบางชิ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากลับชี้ไปที่อีกสิ่งนึงที่ไม่ใช่โรคอ้วนแต่เป็น ‘มลพิษทางอากาศ’
งานวิจัยชิ้นนี้ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ ในโซล ปูซาน และอินชอน เมืองที่ติดหนึ่งใน 100 อันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยระบุถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ระหว่างมลภาวะต่างๆ และการเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วขึ้น
งานวิจัยอีกชิ้นของนักวิทยาศาสตร์ในโปแลนด์ ประเทศที่มีโรงงานเผาถ่านหินมากมายได้ทำการศึกษาข้อมูลผู้หญิง 1,257 คน และพบความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสกับก๊าซไนโตรเจนมากขึ้นกับการมีประจำเดือนก่อนวัยอันควร
ขณะที่สิ่งที่น่ากังวลกว่ามลพิษเหล่านี้คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ตั้งแต่ไฟป่าไปจนถึงควันรถยนต์ ในปี 2023 แกสกินส์พบว่า เด็กหญิงและเด็กในครรภ์ชาวอเมริกันที่สัมผัสกับ PM 2.5 ในปริมาณสูง มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไวขึ้น
“อนุภาค PM 2.5 สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย เมื่อเราสูดมันเข้าไปในปอด แต่มันจะไม่ได้ถูกกรองออกมาเหมือนกับฝุ่นอื่นๆ มันสามารถเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ได้ เราเห็นว่ามี PM 2.5 สะสมอยู่ในรก เนื้อเยื่อในครรภ์ หรือแม้แต่รังไข่” แกสกินส์เล่า
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า PM 2.5 มีความสามารถในการโต้ตอบกับตัวรับฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการร่างกาย โดยเฉพาะแอนโดรเจนและเอสโตรเจน สิ่งนี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาซึ่งนำไปสู่การเริ่มเข้าสู่วัยแรกรุ่น
ขณะเดียวกัน อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนวัยอันควร ซึ่ง PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสารเคมีในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวงกว้างได้
อ้างอิงจาก