เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มิถุนายน) ผู้สื่อข่าว The MATTER มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน ‘Thai Ties: Overseas Thai Student Networking Event’ จัดโดย Association of Thai Students in Singapore (ATSIS) ที่ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
ภายในงาน มี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นวิทยากร มาบอกเล่าถึงข้อคิดจากการศึกษาในต่างแดนของเขา ใน 3 โอกาส 3 วาระ
ตั้งแต่การเรียน ป.โท ที่บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ ย้อนไปถึงการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ และการใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์ The MATTER ชวนอ่าน 3 ข้อคิดจากการศึกษาในต่างแดนของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’
1. นโยบายสาธารณะไม่ใช่กีฬาที่ได้แต่ดู (spectator sport) หากแต่ต้องการการมีส่วนร่วม
พิธาเล่าข้อคิดนี้จากประสบการณ์การไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ
ณ ที่แห่งนั้น พิธาบอกว่า เขาพยายามศึกษาผู้คนที่ทำงานให้กับ บิล คลินตัน (Bill Clinton) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาฟังการปราศรัยของ บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีอีกคน รวมถึงได้รับฟังประธานาธิบดีจากหลายๆ ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และโคลอมเบีย แต่นั่นก็เหมือน “การนั่งดูกีฬาอยู่บ้าน” เขาว่า
เรื่องนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วม ซึ่งเขาเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมเสมือนการว่ายน้ำ ที่ไม่ว่าจะเรียนทฤษฎีอย่างไร ก็ไม่เหมือนกับปฏิบัติจริง
“มันคล้ายคลึงมากในแง่ที่ว่า เมื่อคุณถูกโยนลงไปในสระ ไม่ว่าคุณจะอ่านเกี่ยวกับการว่ายน้ำอย่างไร ทำโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการว่ายน้ำอย่างไร ฝึกซ้อมอย่างไร ทำอะไรมาตอนเรียนมหาวิทยาลัย มันก็จะไม่เหมือนกับตอนที่คุณถูกโยนลงไปในสระจริงๆ
“ไม่ว่าแพชชั่นของคุณคืออะไร ไม่ว่าความฝันของคุณคืออะไร คุณมีบทบาทสำคัญในนโยบายสาธารณะ ในการสร้างชาติ คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งในนั้นจริงๆ คุณต้องเป็นผู้เล่น ไม่ใช่แค่ผู้ชมจากข้างนอก” พิธากล่าว
2. อย่าสยบยอมให้กับ ‘แรงเฉื่อย’ (inertia) ของระบบ
ข้อคิดที่ 2 พิธาบอกว่า ได้มาจากประสบการณ์การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่อปี 2000 ปีเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ขับเคี่ยวกับระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) และอัล กอร์ (Al Gore)
ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขาได้เห็นคนไทยเก่งๆ ที่ได้ทุนไปเรียนต่อ เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง แต่เมื่อกลับมาต้องผิดหวังกับระบบที่เป็นอยู่
“พวกเขาเรียนเก่งมาก พวกเขามีความทะเยอทะยานมาก มีความฝันมาก มีความหวังมาก พวกเขาอยากกลับมาและทำอะไรดีๆ ให้กับตัวเองและประเทศชาติ แต่ระบบก็ทำลายพวกเขาจนหมดสิ้น” พิธากล่าว
ข้อคิดของเขาที่ได้จากเรื่องนี้จึงเป็นการขับเคลื่อนภายในระบบ ไม่สยบสยอมต่อ ‘แรงเฉื่อย’ ทำงานกับผู้ใหญ่หรือคนที่อยู่มาก่อน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้
“ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หัวหน้า หรือผู้จัดการ พวกเขาจะสบประมาทคุณ พวกเขาจะทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย แต่คุณต้องไม่ยอมแพ้ต่อแรงเฉื่อย สร้างความเปลี่ยนแปลง (move the needle) และริเริ่มวัฒนธรรมที่คุณอยากเห็นให้เกิดขึ้นให้ได้
“แต่คุณต้องเข้าใจทริคและศิลปะของการทำเช่นนั้น” พิธาอธิบายต่อว่า “ไม่ว่าจะในการประชุมใดๆ ก็ตาม เตรียมตัวให้พร้อม เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่คุณจะพูด และไม่ว่าหัวข้อการประชุมจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จงเตรียมตัวแบบ 110%”
3. ไม่เก็บ ‘การถูกปฏิเสธ’ มาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว รับรู้มันเอาไว้ และจัดการมันให้เรียบร้อย
ข้อคิดสุดท้ายของเขามาจากการถูกส่งไปเรียนที่เมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ในวัย 15 ปี ซึ่งเขาเปิดเผยว่า เป็นช่วงที่หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคลมชัก โรคประจำตัวที่ยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
“ผมเล่นรักบี้ไม่ได้อีกต่อไป ผมเล่นกีฬาไม่ได้อีกต่อไป ว่ายน้ำก็ไม่ได้” พิธาเล่า “เกรดก็เริ่มจะตก ตอนนั้นผมเล่นบาสเก็ตบอล ผมเล่นสควอช ผมเล่นแบดมินตันให้กับทีมโรงเรียน ผมเล่นดนตรีอยู่ในวงดนตรี” จนกระทั่งมาพบว่าเป็นโรคลมชัก
พิธาเล่าว่าการเป็นโรคลมชักทำให้เขาต้องกินยา ซึ่งทำให้ง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งเขาก็ยอมรับว่า ช่วงนั้นเริ่มรู้สึกซึมเศร้าด้วย
“จากนั้นผมก็รู้สึกว่า มันเกิดขึ้นกับผม แต่มันไม่ได้ตั้งใจจะมาเกิดกับผมส่วนตัว มันเกิดขึ้นกับใครหลายๆ คนด้วย […] ผมจึงไม่เก็บมันมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว และผมก็เลิกเป็นกังวล จากนั้นผมก็ใช้ชีวิตได้อีกครั้ง และนั่นก็เป็นวิธีที่ผมสนุกกับชีวิตอีกครั้ง”
พิธาเล่าว่า เขาใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี พยายามปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าว จากนั้นก็กลับมารับมือกับสิ่งต่างๆ ด้วยความเพียร (grit) และภูมิคุ้มกัน (resilience) จนเสมือนกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้งหนึ่ง
นั่นจึงเป็นข้อคิดข้อที่ 3 จากพิธา – “อย่าไปเก็บมาคิดว่า ‘การถูกปฏิเสธ’ เป็นเรื่องส่วนตัว รับรู้มันไว้ แล้วก็จัดการมันให้เรียบร้อย”