ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองอันร้อนระอุ เรากำลังพูดคุยกับชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง ณ ห้องประชุมอาคารอนาคตใหม่ ที่เดินเข้ามาด้วยท่าทีเป็นกันเอง แต่ทะมัดทะแมง และพกมาด้วยความมั่นใจเต็มร้อย
มั่นใจ ว่าตัวเขาและพรรคของเขาจะเป็น ‘ตัวเร่ง’ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มั่นใจ ว่าตัวเขายังร่วมสมัยอยู่กับปัญหาต่างๆ ที่สังคมไทยต้องสะสาง และมั่นใจ ว่าประชาชนจะสนับสนุนเขาให้เข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ด้วยเบื้องหลังของการเป็นนักบริหารธุรกิจอยู่ร่วม 10 ปี ก่อนจะขยับสู่การเมืองเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่จนกระทั่งถูกยุบพรรค ต่อด้วยหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกกว่า 3 ปี และเบื้องหน้า คือการเลือกตั้ง ที่เขาเชื่อว่า จะเป็นหนทางพาเขาเข้าสู่อำนาจรัฐ ด้วยภารกิจ “เปลี่ยนประเทศ” ให้ “ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม”
ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง The MATTER พูดคุยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวัย 42 ปี ชายผู้ปรากฏตัวในโลกการเมืองภายใต้พรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นตัวแทนของความหวัง และกำลังเป็นที่จับจ้องอีกครั้ง ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ เพียงหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล
อะไรคือแรงขับเคลื่อนส่วนตัวในการกระโดดจากนักธุรกิจมาเล่นการเมือง
ต้องตั้งไข่ก่อนว่า การเมืองคือเป้าหมายชีวิตก่อนธุรกิจนะ ผมชอบการเมืองมาตั้งแต่สักประมาณอายุ 11-12 ที่ไปเรียนหนังสือที่ประเทศนิวซีแลนด์ แล้วพ่อบ้านแม่บ้านที่ผมไปอยู่ก็เป็นคนที่บ้าการเมืองมาก มากกว่าพ่อแม่ผมอีก (หัวเราะ) แล้วเขาก็จะเปิดประชุมสภาฯ ของนิวซีแลนด์ นายกฯ ตอนนั้นชื่อ จิม โบลเจอร์ (Jim Bolger) ก็จะเห็นการทำงานในระบบรัฐสภา เห็นนายกรัฐมนตรี เห็น ส.ส. แม่บ้านผมเขาก็จะรีดผ้าไปแล้วก็ฟังไปเรื่อยๆ มันก็เป็นสิ่งที่เข้ามาฝังอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่ได้รู้ตัว
จนกระทั่งกลับมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้เข้าสู่การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ มากขึ้น เรียนอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์ มันก็หน้าสนามฟุตบอลที่มีเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เกิดขึ้น ทั้ง 2 ครั้ง แล้วก็ฟังอาจารย์ ฟังเพื่อนๆ ฟังคุณแม่ที่เป็นศิษย์เก่าศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่าเกิดเหตุการณ์อะไรมากขึ้น ก็เลยเริ่มสนใจในความเป็นการเมืองไทยมากขึ้น
ช่วงเกิดสึนามิพอดี ก็ได้ออกจากภาคเอกชนที่เป็นที่ปรึกษาธุรกิจ Boston Consulting Group มาอยู่กับข้าราชการ เข้าทำเนียบรัฐบาลครั้งแรกก็ปี 2547-2549 แล้วก็รัฐประหาร ก็ไปเรียนต่อการเมืองการปกครองในระดับปริญญาโทที่อเมริกา
ได้อยู่ในทำเนียบมาก่อน อยู่ในสภาฯ มาก่อน ในฐานะคนจดประชุม (หัวเราะ) อยู่ข้างหลัง จากเลขานุการ กรรมาธิการ ก็กลายมาเป็นประธานกรรมาธิการด้วยตัวเองในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เราก็เชื่อว่า การเมืองคือสิ่งที่เราทำแล้วเราชอบ แล้วเราสนุก
ทำไมต้องทำงานการเมือง เพราะคิดว่า ด้วยความที่อยู่ต่างประเทศมาตลอด คิดว่าประเทศอื่นทำได้ ประเทศไทยก็ทำได้ดีกว่านี้
แล้วพอได้เคยช่วยเหลือคนอื่นมาก่อน ก็รู้สึกว่า เขาทำได้ เราก็ทำได้ ก็เลยอยากจะลองฟัดกับการเมืองสักตั้งหนึ่ง เพื่อที่จะไม่ต้องให้ส่งสิ่งไร้สาระที่ผมเคยต้องเผชิญในฐานะที่เป็นคนรุ่นผมให้ลูกของผม ลูกของคนอื่น หรือลูกของคนหลายคนไม่ว่าจะรวยดีมีจน ให้มันหมดไปจากประเทศไทยสักทีหนึ่ง
ทำไมถึงคิดว่าต้องเข้ามาแก้ปัญหาในการเมือง
เพราะว่าปัญหามันก็คงจะสะสมมาเรื่อยๆ ปัญหารุ่นนี้ก็มีรูปแบบหนึ่ง รุ่นลูกผมก็คงมีอีกปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเราไม่สามารถทำให้การเมืองดีได้ ก็แก้ไขปัญหาปากท้องไม่ได้ แก้ไขปัญหาให้มันมีอนาคตไม่ได้ หรือเตรียมพร้อมให้ประเทศพร้อมที่จะรับกับปัญหาความท้าทายใหม่ๆ ได้ เพราะปัญหารุ่นก่อน รุ่นพ่อแม่ผมยังไม่ได้รับการชำระสะสาง
รัฐธรรมนูญ 2560 กับรัฐธรรมนูญปีที่ผมเกิด ก็คนเขียนคนเดียวกัน ทะเลาะกันเรื่องลากตั้งกับเลือกตั้งเหมือนกัน ตอนนี้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตอนนั้นก็มีแผนประชาธิปก 12 ปี รัฐประหารทุกๆ 5 ปี มันก็เป็นสิ่งที่คิดว่าคนรุ่นเราน่าจะร่วมมือกันในการที่จะทำให้มันจบที่รุ่นเราได้จริงๆ ก่อนที่จะส่งต่อให้คนรุ่นอายุ Generation Z ตอนนี้ หรือลูกสาวผมที่ 7 ขวบตอนนี้ เขาจะได้มีสมาธิไปแก้อย่างอื่นที่เป็นความท้าทายของคนรุ่นเขาแล้ว
ก็พยายามจะเสนอตัวและรวมตัวกับเพื่อนๆ ในนามพรรคก้าวไกลที่จะเข้าไปเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ที่อยู่ในสภาฯ ด้วยกันเยอะๆ และทำให้สภาฯ เปลี่ยนแปลง
อะไรคือบทเรียนจากบทบาทหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ในเชิงการทำงาน ก็รู้สึกว่า การเมืองไทยยังมีความหวังอยู่ ตรงที่ว่า รัฐสภาตามหลักการของมันสามารถที่จะเสาะหาทางออกให้กับความขัดแย้งหลายๆ อย่างในประเทศ และยังสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อยู่
ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ว่า ‘แรงเฉื่อย’ ในสังคมก็มีเยอะ
ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น โดยไม่มีแรงที่จะสะท้อนสู้กลับมา ซึ่งแรงเฉื่อยก็อาจจะมาได้หลายๆ รูปแบบ อาจจะมาในเชิงรายละเอียดทางกฎหมาย อาจจะมาในเชิงการดองกฎหมาย อาจจะมาในเชิงของการเลื่อนวาระการประชุมทำให้มันไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณคิดว่าคุณคิดทะลุแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีแต่คนได้ประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์ก็คิดไว้แล้ว
ในเชิงบริหาร ก็เริ่มเห็น-เข้าใจภาคเอกชนกับภาครัฐมากขึ้น การทำงานบริหาร-ทำงานกับคนจำนวนหมู่มากในแบบเอกชนก็อีกรูปแบบหนึ่ง คือ เน้นประสิทธิภาพ ส่วนร่วมอาจจะมีบ้างไม่มีบ้าง (แต่เดี๋ยวนี้ก็คงจะมีมากขึ้น) แต่ว่าการเมืองเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมล้วนๆ เลย
โดยเฉพาะวิธีการทำงานแบบพรรคก้าวไกล ที่รวมความคิด รวมไอเดียของผู้คน ไม่ได้มีผลตอบแทน ทำงานเป็นอาสาสมัครกัน มีทีมงานจังหวัดในการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ และเข้ามาร่วมประชุมอยู่ในพรรค ทรัพยากรของพรรคขับเคลื่อนด้วยการบริจาคภาษี หรือการบริจาคในระหว่างเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ไม่ได้รับเงินทุนใหญ่
มองว่าตัวเองสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร
ผมคิดว่าจุดแข็งของผมในการเป็นผู้แทนของประชาชนก็คือ ความร่วมสมัย ด้วยอายุผม อายุ 42 มันเป็นวัยกลางคนที่เข้าใจคนที่เกิดมาก่อนผม และคนที่เกิดมาหลังผม
ใครที่จะหาฉันทามติของสังคมได้ มันต้องเป็นคนที่ contemporary หรือร่วมสมัย นั่นก็คือสาเหตุว่า ถ้าเราไปดูนายกรัฐมนตรีของหลายๆ ประเทศทั่วโลกตอนนี้ อย่างอังกฤษ นิวซีแลนด์ที่เพิ่งลาออกไป แคนาดา ฟินแลนด์ ออสเตรีย คุณก็จะเริ่มเห็นว่าจะมีคนอายุรุ่นผมมาแทนคนรุ่นอายุ 50-70 มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า ความเป็นต่างประเทศกับต่างจังหวัดของผม มันเข้ากันพอดี ถ้าจะให้เจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผมก็สามารถทำได้ ให้ผมไปคุยกับโรงสี ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ตามแต่ละในพื้นที่ นอนกลางดินกินกลางทราย ผมก็ทำได้ เป็นความร่วมสมัยแบบที่ 2
ร่วมสมัยแบบที่ 3 กับพี่น้องประชาชนก็คือ ผมได้ทั้ง private และ public ได้ทั้งเอกชน ได้ทั้งรัฐบาล เคยอยู่ในทำเนียบมาก่อน เคยอยู่ในสภาฯ มาก่อน ก่อนที่มาเป็น ส.ส.เคยอยู่ในภาคการเงินมาก่อน เคยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมาก่อน เคยอยู่ในภาคธุรกิจแบบดิจิทัลมาก่อน ก็สามารถที่จะเข้าได้ทั้งสภาอุตสาหกรรมและพี่น้องแรงงานที่อาจจะเป็นเหรียญเดียวกันแต่อยู่กันคนละด้าน และก็เข้าใจเขาทั้งคู่
ก็น่าจะเป็น 3 อันที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผมกับประชาชนราบรื่นในฐานะที่เป็นผู้แทนของเขา
พูดถึงขบวนการเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวที่เสนอเรื่อง ม.112 คุณพิธาเองก็เป็นนายประกันให้กับตะวัน เหตุผลอะไรทำให้เลือกทำแบบนั้น
สิทธิมนุษยชน สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ สิทธิในการเข้าถึงทนายที่ควรจะมี
คนเริ่มรู้สึกว่า การเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาทำลายกัน มันไม่ได้มาเริ่มต้นที่รุ่นเขา มันเริ่มต้นที่รุ่นอาจจะพ่อแม่เขาหรือตายายเขาด้วยซ้ำ ในการเอาพระราชอำนาจและพระราชสถานะมาปะทะกับความสัมพันธ์ของประชาชน แล้วทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ ให้มันมีแรงปะทะขึ้น
จริงๆ แล้วในระบบแบบเรา รัฐบาล-นายกรัฐมนตรี คือคนที่ทำให้พระราชอำนาจและพระราชสถานะของในหลวงอยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา แต่พอรัฐบาลทำอย่างนี้ไม่เป็น ไม่เข้าใจหลักการนี้ ก็ทำให้เละเทะตุ้มเป๊ะไปหมด ก็เลยจะทำให้ความรู้สึกของยุคสมัยเปลี่ยนไป และเริ่มทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมต้องอย่างนั้น ทำไมต้องอย่างนี้ แล้วทำไมสากลโลกหรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระบบเดียวกันไม่เป็นแบบเรา
พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ ก็ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ อย่างรัฐสภาเป็นต้น ซึ่งในอดีต ส.ส.พูดเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ พอมาตอนหลัง พอจะพูดอย่างมีวุฒิภาวะ ก็มีข้อบังคับ อัดเทปไว้ ใครพูดอะไรต้องมารับผิดชอบตัวเองในทีหลัง กลับไม่ให้พูด ก็เลยผลักเรื่องพวกนี้ออกไปที่ท้องถนน แล้วเขาก็เริ่มตั้งคำถาม ด้วยคำถามดีๆ คุณกดเขาแรงอีก พอพูดดีๆ ไม่ได้ ก็ต้องเริ่มมีอารมณ์ คุณก็ยิ่งกดเขาแรงอีก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงบนถนน หรือความรุนแรงทางกฎหมาย
พอคุณไปทำอย่างนี้ปุ๊บ ความสัมพันธ์ของสถาบัน [พระมหากษัตริย์] กับประชาชนก็แย่ลง แล้วก็แย่ลง และในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นต่อรุ่นก็ยิ่งเละเทะไปใหญ่ พอเป็นอย่างนี้ ความมั่นคงสถาพรของสถาบันก็ไม่มี
อันนี้ก็เลยเป็นจุดยืนของผมในฐานะ ส.ส. ในฐานะนายประกันของตะวัน ในฐานะคนที่เป็นคนยื่นร่างแก้ไขกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะคนที่เสนอนโยบายนิรโทษกรรม ในฐานะคนที่เสนอนนโยบายเข้า ICC (ศาลอาญาระหว่างประเทศ) ว่าคนที่เห็นต่างทางการเมืองไม่มีใครที่ควรจะติดคุก
แต่คนไม่เข้าใจว่ามันมีที่มาที่ไปของมัน คนรุ่นนี้ จากประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนกับประวัติศาสตร์ที่เขาอ่าน เขาก็เห็นว่าเรื่องพวกนี้ยังไม่จบไม่สิ้น เขาก็เริ่มเห็นถึงความอยุติธรรม เขาก็เริ่มรู้สึกว่า ประเทศนี้ไม่มีอิสรภาพ ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีภราดรภาพเหลืออยู่เลย
ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นเรา เพราะตามรัฐธรรมนูญเราไล่เขาออกประเทศไม่ได้ แล้วเป็นผู้ใหญ่ถ้าเกิดคุณไม่คิดที่จะรวมพลังของคนในชาติให้กลายเป็นพลังที่มีฉันทามติที่ผลักดันประเทศ แก้ไขประเทศให้มันเป็นหนึ่งเดียวได้ แล้วคุณกลับทำแบบนี้ และใช้สถาบันมาทำลายกัน มันก็หาทางที่จะไปกันต่อไม่ได้ ประเทศก็จะขัดแย้งต่อไป
ในบริบทของการเลือกตั้งปีนี้ พรรคก้าวไกลเป็นใคร และอยู่ตรงไหน
ตัวเร่ง
เป็น catalyst เป็น change agent ก็คือ เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มันก้าวหน้าขึ้น ก้าวหน้าขึ้นในบริบทของประเทศเรา ซึ่งถือว่าช้ามากในระดับอาเซียน ในระดับสากลโลก ก็จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ ต่อสู้กันทางไอเดีย ในเรื่องของการเมือง ในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เป็นต้น
ที่บอกว่าต้องมีการปฏิรูป มันไม่เคยมีเกิดขึ้นจริง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปวัฒนธรรม ปฏิรูปเรื่องเกษตร มันแค่เอาทหารไปอยู่ในทุกเรื่อง ก็แก้อะไรไม่ได้สักทีหนึ่ง
แล้วคราวนี้โลกไม่รอแล้ว คราวนี้มันมาถึงจุดบีบ ยิ่งมี COVID-19 ยิ่งมีอะไรขึ้นมา ก็ยิ่งบีบให้ disrupt or be disrupted ด้วยตัวของมันเอง ถ้าเกิดคุณไม่ปรับตัว คุณไม่สามารถที่จะได้ประโยชน์อะไรจากระบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน คุณก็เตรียมโดนโลกาภิวัตน์กระทืบ มันก็เลยทำให้เราช้าเกินกว่าสปีดของโลก นาฬิกาของโลกเขาเป็นเข็มวินาที ของเราเป็นเข็มชั่วโมง ผมก็ต้องการที่จะเป็นตัวเร่งเพื่อที่ให้กลับมาทันโลกนี้ให้ได้
แต่คราวนี้ก็คงต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าสู่อำนาจ เป็นการเมืองที่ยืนตัวตรงกับประชาชนให้มันนิ่งให้ได้ ถ้าระบบนิ่ง เดี๋ยวระบบจะคัดสรรเองว่าใครที่เหมาะสมที่จะมาคิดเรื่องเศรษฐกิจ ใครเหมาะสมที่จะมาคิดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ใครจะมาคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์
พรรคก้าวไกลคาดหวังอะไรกับการเลือกตั้ง
โอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการรื้อโครงสร้างใหม่ให้ไทยเท่าเทียมกัน เท่าทันโลก
คงไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หรือการเอา พล.อ.ประยุทธ์ ออกไป เพราะว่ามันเหมือนกับคุณประยุทธ์เป็นแค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพง ที่พอเอาออกไปก็มีคนใหม่มาแทนได้ ขณะเดียวกัน องคาพยพระบอบประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระที่มีเอาไว้ทำลายคู่แข่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความคิดแบบอนุรักษนิยมเก่าๆ ที่อยู่รอบๆ เขา ยังอยู่
ผมก็ยังคิดว่าประเทศไทยต้องการบิ๊กแบงแล้ว ใช่ บางเรื่องก็รอได้ แต่บางเรื่องก็รอไม่ได้ หวังว่าการเลือกตั้งมันจะวัดกันทางสังคมว่าพร้อมจะบิ๊กแบงไหม
ถ้าให้ทำนายผลเลือกตั้ง คิดว่าใครจะได้
ก็ต้องพรรคก้าวไกล (ยิ้ม)
ถ้าให้ทำนายก็คือ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแลนด์สไลด์ ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นระบบรัฐบาลผสม ที่มีความหลากหลายของแต่ละสังคม ผมก็คิดว่า ขั้วพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับความท้าทายที่เราได้พูดกันมาทั้งหมด ก็คิดว่าทางฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายที่ชนะและรวมเสียงได้เยอะมากที่สุด
คุณพิธายังไม่เชื่อในรัฐบาลพรรคเดียว?
จริงๆ มันผิดธรรมชาติกับความเป็น coalition politics มันคือรัฐบาลผสม ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วคุณต้องหา coalition นั่นคือระบบรัฐสภา ระบบรัฐสภากับระบบประธานาธิบดีต่างกัน รัฐบาลผสมก็คือมีความเก่งของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน ความหลากหลายของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน
ผมก็ยังทำนายว่า คราวนี้ขอให้เป็นฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายพรรคทหารจำแลง ประเทศไทยก็จะก้าวหน้าให้ดีขึ้น ส่วนคุณชอบเฉดแบบไหน พรรคแบบไหน อะไรที่ทำให้กระดิ่งในใจของคุณดังขึ้นได้ คุณก็เลือกพรรคนั้น
ถ้าเป็นรัฐบาลผสม มันอาจต้องยอมลดอะไรบางอย่าง สำหรับพรรคก้าวไกล อะไรที่ยอมได้ อะไรที่ยอมไม่ได้
อันนั้นก็เป็นธรรมชาติของการเมือง ผมก็คิดว่า อุดมการณ์หรือเหตุผลว่าเราตั้งพรรคมาทำไมจะบอกเราว่าอะไรที่เรายอมไม่ได้ เพราะว่ามันก็คือสาเหตุในการมีอยู่ (reason for existence) ของพรรค เพราะฉะนั้น มันยอมไม่ได้
แต่เรื่องรายละเอียดต่างๆ ก็มีที่อะลุ่มอล่วยได้ เรื่องจำนวนที่นั่ง จำนวนผู้เล่น ที่โควต้าอาจจะได้น้อยลงหน่อย แต่ได้คุณภาพ ได้กระทรวงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จับต้องได้ แต่เราก็ต้องเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้งและให้เกิดความโปร่งใสในการเจรจาของเรา
เรื่อง ม.112 หลายพรรคมีเป็นเงื่อนไขว่าจะไม่จับมือกับพรรคก้าวไกล อันนี้เราจะยอมเปลี่ยนได้ไหม
เป็นจุดยืนของพรรคก้าวไกล
ส.ส.ที่มาจากพรรคก้าวไกลถึงแม้ว่าจะอยู่ในฝ่ายของรัฐบาลก็จะต้องยื่นแก้ไข ม.112 อยู่ดี แต่ ม.112 ก็เป็นกฎหมายอันหนึ่ง มาตราอันหนึ่ง ที่อยู่ในหมวดหมู่ความมั่นคง เพราะฉะนั้น กฎหมายจะแก้ก็คือแก้ในรัฐสภา แต่คนที่จะยื่นก็คือพรรคก้าวไกลเป็นคนยื่นแน่นอน ถ้าไม่มีพรรคอื่นยื่น พรรคก้าวไกลก็ยังจะยื่นแน่นอน
แต่ผมเชื่อว่า ส.ส.แต่ละคน หรือพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่อิฐไม่ใช่ปูน สามารถที่จะมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเราสามารถพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ในสภาฯ และนอกสภาฯ เรียกร้องว่าผู้แทนราษฎรของเขาต้องเป็นตัวแทนความคิดของเขาเข้ามาในสภาฯ
ครั้งหน้าถ้ามีการยื่นแก้ไข ม.112 มันจะไม่เหมือนครั้งที่แล้วเมื่อปี 2564 ที่พรรคก้าวไกลยื่นคนเดียว ผมเชื่อว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็จะเข้ามาร่วมยื่นแก้ไข ม.112 ในสภาฯ พร้อมไปกับพรรคก้าวไกลด้วยเช่นเดียวกัน
นี่ไม่ได้คิดไปเอง เพราะตอนหลังพอได้คุยหรือได้ฟังวิสัยทัศน์ของพรรคต่างๆ ตอนช่วงดีเบต ก็แตกต่างจากปี 2562 แตกต่างจากปี 2564 มากเยอะพอสมควร อย่างน้อยก็มีการยอมรับในวงกว้างของหลายๆ พรรคการเมืองว่ามีปัญหาเรื่องนี้จริง เริ่มเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สื่อมวลชนจากตอนแรกที่พอมีเรื่องนี้ไม่มีสื่อหลักสนใจ เมื่อวันก่อน คุณสรยุทธ์ก็ถามว่าที่มีคนไปพ่น 112 ที่วัดพระแก้วคุณคิดยังไง
ผมก็คิดว่า สังคมมันมีพลวัตของมัน และอะไรที่เคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้มันก็จะเป็นไปได้ อะไรที่คิดว่าไม่เคยเข้าร่วม มันก็จะเข้าร่วมได้
หากรัฐบาลผสมมีพรรคซึ่งสนับสนุนอดีตผู้นำรัฐประหาร เช่น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมไหม
เป็นไปไม่ได้ ไม่มีก้าวไกลอยู่ในนั้น
เราค่อนข้างที่จะชัดเจนว่า เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมันก็ต้องมีทั้งอุดมการณ์ และมีทั้งประสิทธิภาพด้วย คือถ้าเกิดมันเป็นการเปลี่ยนแปลงเพราะมาจากทางลัดทางการเมือง แต่มันต้องทิ้งกระดูกสันหลังของตัวเองไป มันก็เป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเรามีกระดูกสันหลัง มีอุดมการณ์ แต่แก้ไขปัญหาไม่ได้ มันก็เป็นนักรบห้องแอร์ เพราะฉะนั้น สองอย่างก็ต้องไปด้วยกัน
แต่การที่เราตั้งมาเพื่อต่อต้านรัฐประหาร และยอมอยู่ใน ครม.ที่มีทหารที่เป็นต้นเหตุของการยึดอำนาจอยู่ด้วยเนี่ย แปลว่าเราก็ไม่มีกระดูกสันหลัง ก็พร้อมที่จะไม่ร่วม
ถ้าไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น ไม่อยากเห็นภาพของฝ่ายประชาธิปไตยไปอยู่กับพรรคที่มีทหารยึดอำนาจมาอยู่ในนั้น ก็ต้องเลือกก้าวไกล เพื่อให้ก้าวไกลมีน้ำหนักทางการเมืองในการที่จะส่งอำนาจผ่านอธิปไตยของประชาชนมาให้เราในการเจรจาให้เกิดรัฐบาลผสมของประชาชน เป็นรัฐบาลที่เป็นฝ่ายค้านปัจจุบัน มาเป็นรัฐบาลเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของประเทศไทย
คิดยังไงกับที่คุณทักษิณบอกว่า ก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์มากขึ้นทุกวัน
ก้าวไกลก็คือก้าวไกล ก้าวไกลก็มีวิธีการ มีวิถี มีวิสัยทัศน์ มีวิธีปฏิบัติแบบพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลมีความตั้งใจที่จะทำพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน โดยที่มีระบบ มีกระบวนการต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าธนาธรไม่อยู่ พิธาก็ขึ้นมาได้ พิธาไม่อยู่ ก็มีคนต่อไปขึ้นมาได้
ในขณะเดียวกัน นโยบายพรรคไม่มีพรรคไหนเหมือน ก็มีอยู่หลายอันที่เป็นเรือธง ที่เป็นลายเซ็นของเรา วิธีการทำงานแบบไม่ได้รับทุนใหญ่ๆ เหมือนพรรคการเมืองทั่วไป การที่ขับเคลื่อนด้วยสมาชิก ทุกอย่างมีทีมจังหวัดเป็นอาสาสมัครคอยบริหารจัดการ
ไม่ว่าจะมองในมุมของนโยบาย หรือมองในมุมของผู้สมัครที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นลูกหลานทางการเมือง ไม่ได้มีนามสกุลยิ่งใหญ่ เป็นคนหน้าใหม่เสียส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นคนที่เป็น ส.ส.มาหลายสิบสมัย ผมคิดว่า มองยังไงมันก็ต่างจากพรรคการเมืองอื่น และเราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเอาไปเปรียบเทียบกับพรรคไหน ยืนยันว่าก้าวไกลยังไงก็เป็นก้าวไกล ไม่ได้เป็นพรรคอื่น
อนาคตทางการเมืองของคุณพิธาอยู่ตรงไหน
กินข้าวทีละคำ กินชาทีละถ้วย ตอนนี้ก็โฟกัสในการที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ สร้างพรรคก้าวไกลให้เข้มแข็ง เป็นสถาบันการเมืองให้ได้ ก็หวังว่าจะได้เข้าสู่อำนาจรัฐ แล้วยังไม่ลืมสาเหตุที่เข้ามาเล่นการเมือง ในการที่จะต้องการแก้ไขอะไรสักอย่างหนึ่งให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ได้เยอะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยที่ไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป
จะเล่นการเมืองไปถึงเมื่อไหร่
เมื่อไหร่ที่รู้ว่าตัวเอง obsolete หรือตกรุ่น และเมื่อเราตกรุ่นแล้ว พร้อมที่จะส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป อะไรที่รุ่นผมมันหมดไปแล้ว มันไม่ทันแล้ว มันต้องให้คนรุ่นใหม่ๆ มาจัดการ ก็คงเป็นตอนนั้นแหละ
สิ่งที่สำคัญของคนเป็นผู้นำคือ รู้ว่าจะเลิกเมื่อไหร่ และไม่ยึดติดกับอำนาจ
มิฉะนั้น คุณก็จะเห็นคนที่วางไม่ลงและยังยึดติดอยู่ แล้วก็ยังจะเอาวิธีเล่นเครื่องแผ่นเสียง เล่นคาสเซ็ต มากดกับ Spotify มันก็จะทำให้อยู่ในโลกอนาคตไม่ได้ และก็ยังอยู่ใน echo chamber ของตัวเองอยู่
ก็หวังว่าผมจะไม่เป็นอย่างนั้น และจะเอาเวลาไปสอนหนังสือ ไปทำในสิ่งที่อยากจะทำ ไปเปิดเร็กเก้บาร์ที่สมุย