ย้อนกลับไปใน ค.ศ.79 เกิดการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส (Vesuvius) ในอิตาลี ซึ่งได้ทำลายเมือง ‘ปอมเปอี’ และ ‘เฮอร์คิวเลเนียม’ ทำให้ทั้งเมืองถูกฝังอยู่ใต้เถ้าถ่านของภูเขาไฟ และหายสาบสูญไปกว่า 2,000 ปีก่อนจะมาถูกค้นพบอีกครั้งช่วงปลายศตวรรษที่ 16
กระทั่งผ่านไปหลายร้อยปีต่อมานักโบราณคดีได้เริ่มขุดค้น จนพบกับโครงกระดูกของชาวเมืองปอมเปอี ซึ่งนักโบราณคดีได้คิดวิธีการเก็บรักษาโดยการเทปูนปลาสเตอร์ตามโครงกระดูกขึ้นมา เพื่อรักษาโครงกระดูกและศึกษาร่างจำลองเหล่านั้น ทำให้ศพของชาวเมืองกลายเป็นร่างปูนตั้งแต่นั้นมา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักวิจัยทำการศึกษา DNA หรือพันธุกรรมของชาวเมืองที่กลายเป็นปูน จนกระทั่งล่าสุดเราได้รู้ถึง ‘ความสัมพันธ์’ ของชาวเมืองที่ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด
ยกตัวอย่างแรก ของหุ่นปูนคู่หนึ่งที่เป็นเหมือนเด็กนั่งอยู่บนตัวคนตัวใหญ่ที่สวมสร้อยข้อมือทองคำ ซึ่งเชื่อกันว่าคือแม่และลูก แต่การวิเคราะห์พันธุกรรมชี้ว่า ความจริงแล้วทั้งคู่เป็น ผู้ชายวัยผู้ใหญ่กับเด็ก ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกันเลย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คู่ที่เสียชีวิตขณะกอดกัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพี่น้องกัน หรือแม่กับลูกสาว ทว่ากลับพบพันธุกรรมของผู้ชาย ซึ่งผลการศึกษานี้ได้ท้าทายสมมติฐานเรื่องเพศและครอบครัวแบบดั้งเดิม
ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology วันที่ 7 พฤศจิกายน เดวิด ไรช์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด และทีมนักวิจัยนานาชาติได้ศึกษาพันธุกรรมของบุคคล 5 คนที่เสียชีวิตระหว่างการปะทุของภูเขาไฟใน ค.ศ. 79 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 2,000 คน
เมื่อภูเขาไฟปะทุขึ้นเถ้าภูเขาไฟและหินภูเขาไฟไหลลงมา ทำให้ชาวเมืองเสียชีวิตอยู่ใต้เถ้าถ่านเหล่านั้น การเทปูนลงไปตามโครงกระดูกเป็นเหมือนการจำลองว่าเหยื่อในเหตุการณ์นี้เสียชีวิตอย่างไร หรืออยู่ในอิริยาบถไหนก่อนเสียชีวิต ซึ่งจะสามารถตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขาโดยอ้างอิงจากรายละเอียดต่างๆ เช่น สถานที่ ตำแหน่ง และเครื่องแต่งกายได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือ การตีความของนักวิทยาศาสตร์ได้รับอิทธิพลจากสมมติฐานในปัจจุบัน เช่น นักวิจัยเขียนไว้ในการศึกษาว่า มีคน 4 คนในบ้าน สวมสร้อยข้อมือทองคำ ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่ที่อุ้มเด็กด้วย อาจเป็นพ่อแม่ลูก แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาไม่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกันเลย
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์แบบจำลอง 14 แบบ และสกัดดีเอ็นเอจากซากกระดูก ในแบบจำลอง 5 แบบ เพื่อที่จะระบุความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม เพศ และบรรพบุรุษของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งทีมวิจัยสรุปว่าเหยื่อมี ‘จีโนมที่หลากหลาย’ โดยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นจริงที่ว่าจักรวรรดิโรมันมีเชื้อชาติที่หลากหลาย
“ผลการค้นพบของเรามีความสำคัญอย่างมากต่อการตีความข้อมูลทางโบราณคดีและความเข้าใจในสังคมโบราณ ซึ่งผลการค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลทางพันธุกรรมกับข้อมูลทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความผิดตามสมมติฐานสมัยใหม่” อลิสซา มิตต์นิก นักโบราณคดีพันธุกรรมศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด กล่าว
เป็นไปได้ที่ความเข้าใจผิดนี้นำไปสู่การบิดเบือนของการสื่อสาร หรือการเล่าเรื่องในท่าทางและตำแหน่งสัมพันธ์ของหุ่นปูนในการจัดแสดง
ทว่าการแบ่งเพศที่ผิดพลาดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกในทางโบราณคดี ซึ่งนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุกรรม จากสถาบันชีววิทยาวิวัฒนาการ (CSIC-UPF) ในบาร์เซโลนา บอกว่า เรามองอดีตด้วยสายตาทางวัฒนธรรมของปัจจุบัน และมุมมองนี้ก็บิดเบือนไปบ้าง สำหรับเธอแล้วการค้นพบชายคนหนึ่งสวมสร้อยข้อมือทองคำ กับเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องกันนั้นน่าสนใจ และซับซ้อนทางวัฒนธรรมมากกว่าการสันนิษฐานว่าเป็นแม่และลูก
อ้างอิงจาก