ใครชอบใช้หูฟังโหมดตัดเสียงรบกวนบ้าง? แม้มันจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตและมีสมาธิกับการทำกิจกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น แต่ก็อาจต้องเริ่มระวังไว้บ้างแล้ว เพราะมันอาจมีผลให้เกิด ‘โรคการประมวลผลการได้ยิน’ ได้
‘เสียง’ เป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสหลักของมนุษย์ที่เรารับรู้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ฟังเพลงหรือคุยกับใคร ก็ยังมีเสียงของบรรยากาศรอบข้างเข้ามาในหูอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงเครื่องชงกาแฟ หรือเสียงกดคีย์บอร์ดของเพื่อนข้างๆ ที่คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกถึงมันเท่าไร แต่สำหรับบางคน อาจไม่ได้รับรู้ถึงเสียงเหล่านี้แบบคนทั่วไป
‘โซฟี’ อาชีพผู้ช่วยฝ่ายบริหารวัย 25 ปีจากลอนดอน เคยถูกคนรอบบอกว่าเธอไม่ฟัง ไม่สนใจ หรือแม้กระทั่ง ‘พูดไม่ชัด’ โดยเธอเลา่ว่า “แม้ว่าฉันจะได้ยินว่ามีเสียงดัง แต่ฉันไม่สามารถฟังได้ว่าเสียงนั้นมาจากที่ใด ฉันรู้ว่าเป็นเสียงของบุคคลนั้น แต่ฉันแค่ไม่สามารถคำนวณได้เร็วพอ”
นอกจากนั้น เธอยังอธิบายอาการที่เป็นว่า เมื่อฟังเสียงคนบรรยายต่างๆ เธอมักจะได้ยินทั้งหมดเหมือนคำพูดบ่นพึมพำๆ และเธอมักจะอยู่ในบาร์หรือร้านอาหารนานๆ ไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเสียงรอบข้างนั้นดังเกินไป
หลังเข้ารับการทดสอบการได้ยินและพบว่าทุกอย่างปกติ โซฟีได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินส่วนตัวเพื่อทำการทดสอบเพิ่มเติม จนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคการประมวลผลการได้ยิน (auditory processing disorder – APD)
สาเหตุของการวินิจฉัยโรค APD ของโซฟียังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินของเธอเชื่อว่าการใช้หูฟังตัดเสียงรบกวนมากเกินไป ซึ่งโซฟีใส่นานถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน ก็อาจมีส่วนให้เกิดโรคนี้ได้
APD เป็นภาวะทางระบบประสาทที่สมองมีปัญหาในการเข้าใจเสียงและคำพูด ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินของโซฟี และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ในอังกฤษ กำลังเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมว่าอาการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้หูฟังตัดเสียงรบกวนมากเกินไปหรือไม่
APD พบได้บ่อยในผู้ที่มีความหลากหลายทางระบบประสาท ซึ่งได้แก่ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือติดเชื้อในหูชั้นกลางเมื่อยังเป็นเด็ก แต่นอกเหนือจากกลุ่มอาการเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินได้ตั้งคำถามว่าปัจจัยภายนอก เช่น หูฟังตัดเสียงรบกวน อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้
เรเน่ อัลเมด้า (Renee Almeida) หัวหน้าคลินิกโสตวิทยาผู้ใหญ่ที่ Imperial College Healthcare NHS Trust กล่าวว่า การได้ยินเสียงที่หลากหลายนั้นมีความสำคัญ เพื่อให้สมองสามารถตัดสินใจได้ว่าเสียงใดเป็นเสียงที่ควรให้ความสำคัญ
แน่นอนว่าการใช้หูฟังตัดเสียงรบกวนนั้นมีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาพหูในระยะยาว เนื่องจากคุณสมบัติกันเสียงสามารถป้องกันไม่ให้เสียงความถี่สูงและเสียงดังเข้าถึงหูและทำร้ายหูได้ แม้กระทั่งขณะฟังเพลง
อย่าไรก็ดี แคลร์ เบนตัน (Claire Benton) รองประธานของ British Academy of Audiology แนะนำว่า การปิดกั้นเสียงในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงรถยนต์ที่ส่งเสียงบี๊บ ก็อาจทำให้สมอง ‘ลืม’ วิธีกรองเสียงรบกวนออกไปได้
เธอกล่าวว่า “คุณจะสร้างสภาพแวดล้อมปลอมๆ นี้ขึ้นมาด้วยการใส่หูฟังที่ให้คุณฟังเฉพาะสิ่งที่คุณต้องการฟังเท่านั้น ทำให้คุณไม่ต้องพยายามทำอะไรเลย”
“ทักษะการฟังขั้นสูงที่ซับซ้อนกว่าในสมองของคุณเพิ่งจะพัฒนาเสร็จเมื่ออายุใกล้ปลายวัยรุ่นเท่านั้น ดังนั้น หากคุณใส่แต่หูฟังตัดเสียงรบกวนและอยู่ในโลกปลอมๆ นี้มาจนถึงช่วงปลายวัยรุ่น ความสามารถในการประมวลผลคำพูดและเสียงรบกวนของคุณก็จะล่าช้าลงเล็กน้อย” เบนตันอธิบาย
แต่ในวันที่คนเริ่มมีปัญหาโรค APD มากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาและให้การรักษาในประเด็นนี้ได้กลับสวนทาง โดยข้อมูลจาก BAA และ ENT UK ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่เป็นตัวแทนของการผ่าตัดหู คอ จมูกในสหราชอาณาจักร ระบุผลสำรวจว่า มีเพียง 4% ของนักโสตสัมผัสวิทยาเท่านั้นที่คิดว่าตนเองมีความรู้เกี่ยวกับ APD เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ค่ารักษายังราคาสูงตามกระบวนการที่ซับซ้อนอีกด้วย
ดร.อัมจาด มาห์มูด (Amjad Mahmood) หัวหน้าแผนกโสตสัมผัสวิทยาที่โรงพยาบาลเกรทออร์มอนด์สตรีทสนับสนุนการเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติม หลังจากที่คลินิก APD ของโรงพยาบาลเด็ก มีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ และต้องการเข้ามารับการประเมินเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีวิธีการแก้ไข เพราะ APD สามารถรักษาได้โดยฟื้นฟูทักษะการฟัง เช่น ใช้แบบฝึกหัดที่เรียกว่า ‘word in noise’ เพื่อฝึกฝนการแยกแยะเสียงคำที่ออกเสียงคล้ายๆ กัน เช่น seventy และ seventeen หรือ free และ three
“เป็นวิธีที่เราระบุภัยคุกคามในสภาพแวดล้อมของเรา ดังนั้นสำหรับฉัน จึงสมเหตุสมผลที่จะเกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นหากสมองของบุคคลไม่มีข้อมูลเหล่านั้นที่ช่วยบอกว่าอะไรน่ากังวลและอะไรไม่น่ากังวลอีกต่อไป”
ดร. แองเจลา อเล็กซานเดอร์ (Dr.Angela Alexande) นักโสตสัมผัสวิทยาและเจ้าของ APD Support แนะนำว่า เพื่อป้องกันและรักษาอาการนี้ ก็ควรลดเวลาการใช้หูฟัง และเมื่อใช้หูฟัง ก็ควรใช้โหมดโปร่ง (transparent) ที่สามารถขยายเสียงรบกวนพื้นหลังได้ รวมทั้งเลือกสวมหูฟังที่ไม่ปิดกั้นหูจนหมด
ทั้งนี้ ในประเด็นนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ควรจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าการใช้หูฟังนั้นสอดคล้องกับทักษะทางการได้ยินอย่างตรงไปตรงมาจริงหรือเปล่า แต่ในขณะนี้ การระมัดระวังไว้ก่อนก็ย่อมดีกว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงจนเกิดภาวะทางการได้ยินได้อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก