การสำรวจในเกาหลีใต้เผยว่า ผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก 29.6% หรือราว 3 ใน 10 คน ‘ว่างงาน’ โดยอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในกลุ่มคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 30 ปี อาจสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่ากังวลของประเทศ
อัตราการว่างงานของผู้มีวุฒิปริญญาเอกอยู่ในระดับ ‘สูงเป็นประวัติการณ์’ นับตั้งแต่สำนักงานสถิติเกาหลีเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2014 โดยจากการสำรวจบัณฑิตปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาในปี 2024 จำนวน 10,442 คน พบ 70.4% ที่ระบุว่าตัวเองมีงานทำ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหางานทำได้ คิดเป็น 26.6% ในขณะที่ 3% จัดอยู่ในกลุ่มผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (economically inactive)
หากย้อนกลับไปดูสถิติการว่างงานของบัณฑิตปริญญาเอกในเกาหลีใต้อาจพบว่า อัตราการว่างงาน (ซึ่งรวมถึงส่วนของผู้ที่หางานไม่ได้ และส่วนของผู้ที่ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ) อยู่ในช่วงกลางๆ 20% มาตั้งแต่ปี 2014 (24.5%) จนถึงปี 2018 (25.9%) แต่ตัวเลขดังกล่าวได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 29.3% ในปี 2019 และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2024 ที่ 29.6%
เมื่อแยกตามกลุ่มอายุ ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม 537 คนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งได้รับปริญญาเอกในปี 2024 มีถึง 47.7% ที่ว่างงาน ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่บันทึกไว้สำหรับกลุ่มอายุดังกล่าว
นอกจากนี้เมื่อแยกตามสาขาวิชาที่เรียน พบว่าบัณฑิตสาขาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์มี ‘อัตราสูงสุด’ อยู่ที่ 40.1% รองลงมาคือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสถิติศาสตร์ที่ 37.7% ตามด้วยสังคมศาสตร์ และวารสารศาสตร์ที่ 33.1% ในขณะที่สาขาอื่นๆ อย่าง สาธารณสุขและสวัสดิการ การศึกษา ธุรกิจ การบริหาร และกฎหมาย กลับมีอัตราการว่างงานต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกัน
“แม้แต่คนที่มีการศึกษาสูง ก็ยังไม่พ้นจากวิกฤตการจ้างงานเยาวชน” สื่อ Youth Daily ระบุว่าปัจจุบันจำนวนเยาวชนที่มีงานทำ ลดลงทั่วประเทศ ไม่จำกัดแค่ผู้ที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม อีกสถิติในเกาหลีใต้ก็รายงานว่า อัตราการจ้างงานของเยาวชนอายุ 20-29 ปี ลดลงเหลือ 59.7% โดยถือว่าลดลงมากกว่า 2% จากปีก่อน
การสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเน้นให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนงานที่มีคุณภาพ รวมถึงผลกระทบจากตลาดงานที่ตกต่ำ ต่อผู้เชี่ยวชาญที่มีการศึกษาสูงในแขนงต่างๆ
อ้างอิงจาก