‘แฮนยอ’ ชื่อของกลุ่มนักดำน้ำหญิงแห่งเกาะเชจูที่ไม่ต้องพึ่งถังออกซิเจน เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังซีรีส์ When Life Gives You Tangerines นำเสนอเรื่องราวของพวกเธอ
ผู้หญิงเหล่านี้ดำน้ำตลอดทั้งปีนอกชายฝั่งเกาะเชจู เก็บหอยเม่น หอยเป๋าฮื้อ และอาหารทะเลอื่นๆ จากพื้นมหาสมุทร โดยดำลงไปลึกถึง 18 เมตร หลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 4-5 ชั่วโมงในแต่ละวัน พวกเธอดำน้ำตลอดการตั้งครรภ์และจนถึงวัยชรา โดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยหายใจใดๆ มีเพียงชุดประดาน้ำเท่านั้น
นอกจากเป็นอาชีพ แฮนยอยังถือเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย
“เราคิดว่าพวกเธอทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว เป็นแบบแผนการสืบทอดทางมารดา โดยเรียนรู้วิธีดำน้ำจากแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย พวกเธอออกไปเป็นกลุ่ม และนั่นคือสิ่งที่พวกเธอทำ พวกเธอดำน้ำ” เมลิสซา แอนน์ อิลาร์โด (Melissa Ann Ilardo) นักพันธุศาสตร์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีวสารสนเทศที่มหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าว
อิลาร์โดและทีม จึงได้เริ่มทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า อาชีพมหัศจรรย์นี้เกิดจากการฝึกฝน หรือพันธุกรรมที่พิเศษ หรือเป็นส่วนประกอบของทั้งสองอย่าง
พวกเขาคัดเลือกนักดำน้ำแฮนยอ 30 คน ผู้หญิงที่ไม่ใช่นักดำน้ำจากเชจู 30 คน และผู้หญิงจากแผ่นดินใหญ่เกาหลีใต้ 31 คน โดยผู้เข้าร่วมมีอายุเฉลี่ย 65 ปี
นักวิจัยเปรียบเทียบอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ขนาดม้ามของผู้เข้าร่วม และถอดรหัสจีโนมของพวกเขา ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวทางพันธุกรรมโดยละเอียด จากตัวอย่างเลือด
ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการศึกษาคือการจำลองความเครียดทางร่างกายของการอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานพอสมควรอย่างปลอดภัยสำหรับผู้เข้าร่วมที่ไม่มีประสบการณ์การดำน้ำ แต่นักวิจัยก็แก้ไขปัญหานี้ได้ โดยทำการดำน้ำจำลอง เพียงแค่ผู้เข้าร่วมกลั้นหายใจขณะจุ่มหน้าลงในน้ำเย็นเท่านั้น
“โชคดีที่ถ้าคุณกลั้นหายใจและจุ่มหน้าลงในชามน้ำเย็น ร่างกายของคุณจะตอบสนองราวกับว่าคุณกำลังดำน้ำ และนั่นเป็นเพราะเส้นประสาทที่กระตุ้นปฏิกิริยาดำน้ำของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นผ่านใบหน้าของคุณ” อิลาร์โดกล่าว
การวิเคราะห์ของทีมงานเผยให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมจากเชจู ทั้งนักดำน้ำและผู้ที่ไม่ใช่นักดำน้ำ มีโอกาสมากกว่าชาวเกาหลีแผ่นดินใหญ่ถึง 4 เท่า ที่จะมีรูปแบบทางพันธุกรรม ‘ความดันโลหิตต่ำ’
“ความดันโลหิตของคุณจะสูงขึ้นเมื่อคุณดำน้ำ แต่ความดันโลหิตของชาวเชจู สูงขึ้นน้อยกว่า” อิลาร์โดอธิบาย
นักวิจัยเชื่อว่าลักษณะดังกล่าวอาจพัฒนาขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพของทารกในครรภ์ เนื่องจากแฮนยอต้องดำน้ำตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งหากมีความดันโลหิตสูงก็อาจเป็นอันตรายได้
ทีมงานยังพบว่า ผู้เข้าร่วมจากเชจูมีแนวโน้มที่จะมีการแปรผันทางพันธุกรรม ที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ เชื่อมโยงกับความทนทานต่อความเย็นและความเจ็บปวด แต่นักวิจัยไม่ได้วัดความสามารถของผู้เข้าร่วมในการทนต่ออุณหภูมิต่ำ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถพูดได้ชัดเจน ว่าการแปรผันดังกล่าวอาจมีความสำคัญต่อความสามารถของแฮนยอในการดำน้ำตลอดทั้งปี
แต่ความสามารถในการดำน้ำของแฮนยอก็ไม่ได้มาจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว การศึกษายังพบว่า นักดำน้ำหญิงมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าผู้ที่ไม่ใช่นักดำน้ำระหว่างการทดสอบ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้พวกเธอประหยัดออกซิเจนระหว่างการดำน้ำ
ผลการวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Cell Reports เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2025 สรุปว่า แฮนยอได้มีการพัฒนาทางพันธุกรรม เพื่อรับมือกับความเครียดทางสรีรวิทยาของการดำน้ำอิสระ โดยนักวิจัยระบุว่า การค้นพบนี้อาจเป็นรากฐานสู่การรักษาความผิดปกติของความดันโลหิตให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย
“ผู้ที่มียีนนี้มีความดันโลหิตลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มี ซึ่งเป็นผลกระทบที่น่าประทับใจมาก” เบน ทรัมเบิล รองศาสตราจารย์แห่งคณะวิวัฒนาการมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท ผู้ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษา กล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “ยีนเป็นรหัสสำหรับโปรตีน และถ้าเราสามารถหาได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนใดส่งผลต่อความดันโลหิต เราก็อาจสามารถสร้างยาใหม่ได้”
อิลาร์โดกล่าวว่า เธอหวังจะศึกษาเกี่ยวกับแฮนยอต่อไป และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบทางการแพทย์
เธอกล่าวว่า “มีบางสิ่งที่แตกต่างกันทางชีวภาพเกี่ยวกับพวกเธอที่ทำให้พวกเธอพิเศษอย่างยิ่ง ไม่ว่าคุณจะอธิบายมันอย่างไร สิ่งที่พวกเธอทำนั้นมีเอกลักษณ์และควรได้รับการยกย่อง”
อ้างอิงจาก