ประชาชนมีลูกน้อยลง ครอบครัวเล็กลง จนประชากรมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลในหลายๆ ประเทศก็มีนโยบายที่สนับสนุน ผลักดันให้คนมีลูกกันมากขึ้น รวมถึงในจีน ที่ได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ผลักดันให้ครอบครัวมีลูกมากขึ้น ถึงอย่างนั้น ครอบครัวในจีนก็ไม่กลับมองว่า พวกเขาไม่สามารถมีลูกมากกว่า 1 คนได้
จีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อหวังให้ประชาชนมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น แต่หลังผ่านมา 3 ปี การเติบโตของประชากรจีนกลับชะลอตัว และลดลง สวนทางกับนโยบาย โดยในปี 2018 อัตราการเกิดของทารกในจีนอยู่ที่ 15.23 ล้านคน ลดลงกว่า 2 ล้านคนจากปี 2017 และจากการศึกษายังพบว่ามากกว่า 50% ของครอบครัว ตั้งใจว่าจะไม่มีลูกคนที่ 2 โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาค่าใช้จ่าย
ผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญในจีนระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ในประเทศลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น เรื่องอื้อฉาวจากนมผงปนเปื้อนในจีน เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เด็กเสียชีวิต และเกิดปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะในเด็กหลายแสนคน ทำให้พ่อแม่หลายคน ไม่ไว้ใจอาหารท้องถิ่น เลือกนำเข้าอาหารราคาแพง ทั้งนมผง เนื้อวัว และปลาที่ราคาสูงแทน
อีกประเด็นนึงที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู คือเรื่องของการศึกษา ซึ่งก่อนหน้าทศวรรษที่ 1990 ประชาชนมักส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ แต่ตอนนี้การศึกษาเป็นเรื่องของการแข่งขัน ซื้อของเล่นเพื่อการเรียนรู้ ส่งเรียนพิเศษ ซึ่ง Manhong Lai รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงสะท้อนว่า “นโยบายลูกคนเดียว ทำให้ผู้ปกครองมุ่งความสนใจต่อลูกหลานคนเดียว และลงทุนเพื่อการศึกษามากขึ้น” และยังไม่ใช่แค่การเรียนทั่วไป แต่ยังรวมไปถึงการเรียนดนตรี และกิจกรรมงานอดิเรกอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับเด็ก ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วยที่เลวร้ายที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ยากยังทำให้มีการติดสินบน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพบ่อยครั้ง โดยแม่คนนึง ได้ระบุวา ค่าใช่จ่ายตามใบสั่งแพทย์และค่ารักษาพยาบาลส่วนตัวของลูกชายของเธอสูงถึง 15,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 7 หมื่นบาท)
ไม่เพียงแค่ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว แต่รัฐบาลยังมีนโยบายเสนอเงินอุดหนุนให้แก่ครอบครัวที่มีลูก 2 คน ขยายระยะเวลาลาคลอด หรืออย่างในบางเมืองได้มีบริการรับส่งลูกฟรีให้กับแม่ที่มีลูก 2 คนด้วย แต่ถึงอย่างนั้น แม่คนนึงในจีนก็มองว่า การตัดสินใจว่าจะมีลูกกี่คนถือเป็นการตัดสินใจส่วนตัว และเป็นทางเลือกของชีวิตตัวเอง และแม้ว่าปู่ย่าตายายจะต้องการให้ครอบครัวมีลูกหลานมากมายเหมือนสมัยก่อน แต่พ่อแม่ปัจจุบันก็มองว่า การมีลูกคนเดียวเป็นสิ่งที่พวกเขาจะสามารถดูแลได้ ในแง่ของทั้งเงินและพลังกาย
https://www.economist.com/china/2018/07/26/chinas-two-child-policy-is-having-unintended-consequences
#Brief #TheMATTER