แม้คนไทยบางกลุ่มจะยังใช้คำว่า ‘เซินเจิ้น’ แทนสินค้าปลอม สินค้าเลียนแบบ แต่เซินเจิ้น (Shenzhen) เมืองท่าสำคัญของจีนในตอนนี้ กลับเป็นเมืองที่พัฒนาไปมาก จนว่ากันว่าเหตุที่รัฐบาลจีนปล่อยให้ม็อบฮ่องกงยืดเยื้อ ก็เพราะฮ่องกงไม่ได้สำคัญต่อเศรษฐกิจเท่าสมัยก่อนแล้ว – และตอนนี้ จีนมีเซินเจิ้น!
ว่าแต่เซินเจิ้นจะก้าวขึ้นมาแทนฮ่องกงได้จริงๆ หรือ ?
ด้วยคำถามเดียวกัน หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในฮ่องกง (แต่มีเจ้าของเป็นคนจีน ชื่อ แจ็ค หม่า) อย่าง South China Morning Post ก็เดินหน้าไปหาคำตอบ ด้วยการไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนและฮ่องกงหลายคน
และนี่คือคำตอบที่ได้
– Joe Chau Kwok-ming ประธานสภาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของฮ่องกง มองว่า ในระยะสั้นเซินเจิ้นยังไม่น่าจะแทนฮ่องกงได้ จากปัจจัยเรื่องระบบกฎหมาย ที่ของฮ่องกงตรงกับมาตรฐานนานาชาติมากกว่า เช่นเดียวกับการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ที่เซินเจิ้นยังอยู่ภายใต้กฎหมายจีนที่ควบคุมข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะบนอินเตอร์เน็ตอย่างเข้มงวด ที่รู้จักกันในชื่อ Great Firewall
– Mark Williams นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียจากสถาบัน Capital Economics ในกรุงลอนดอน มองว่า แม้ระบบกฎหมายของฮ่องกงจะถูกลอกเลียนได้ในบางจุดของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือการบังคับใช้ ที่ภายในฮ่องกงทุกๆ คนจะมั่นใจว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน
“ที่สำคัญ คุณไม่สามารถไปตั้งฮับทางเศรษฐกิจในประเทศที่ผู้มีอำนาจยังมีสิทธิคุมการไหลเวียนของเงินทุนได้ทุกเวลาอย่างจีนหรอก”
– Long Yongtu อดีตหัวหน้าทีมเจรจาให้จีนกลับเข้าไปอยู่ใน WTO เมื่อปี ค.ศ.2001 มองว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ตั้งใจผลักดันให้เซินเจิ้นมาแทนฮ่องกงอยู่แล้ว เพียงแต่ใช้เป็นตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ ‘สังคมนิยมที่ยังคงบุคลิกความเป็นจีน’ (socialism with Chinese characteristics) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่มั่นคง ยุติธรรม โปร่งใส และคาดเดาได้ขึ้นมา
“การนำวิกฤตในฮ่องกงมาบอกว่าจะทำให้เซินเจิ้นขึ้นมาแทนจึงเป็นเรื่องที่ผิด”
อย่างไรก็ตาม เซินเจิ้นในทุกวันนี้ก็เติบโตขึ้นมาในฐานะเมืองเศรษฐกิจ โดยดัชนีศูนย์กลางเมืองธุรกิจโลก (Global Financial Centres Index) ประจำปี ค.ศ.2018 เซินเจิ้นอยู่ในลำดับที่ 14 ส่วนฮ่องกงอยู่ในลำดับที่ 3 และมีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ.2035 จะติด 1 ใน 10 เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยขนาดจีดีพี 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 24 ล้านล้านบาท)
อ่านฉบับเต็มได้ที่: https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3025600/can-hong-kong-maintain-its-status-amid-protests-despite
#Brief #TheMATTER