ออง ซาน ซู จี หญิงที่เคยเป็นแกนนำต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา และเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความหวัง จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี ค.ศ.1991 แต่ตอนนี้ เธอต้องไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่เนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเมียนมา เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งจะใช้เวลาในการไต่สวน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา
ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เดินทางไปยัง ICJ เพื่อโต้ข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา หลังจากเมื่อปี ค.ศ.2017 ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมา จำนวนกว่า 700,000 คน ต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศภายหลังการปราบปรามของกองทัพเมียนมา โดยทางคณะไต่สวนของสหประชาชาติ (UN) ต่อกรณีนี้ ระบุว่า การกระทำของกองทัพเมียนมาเป็นความพยายามในการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
โจทก์ที่ยื่นฟ้องทางการเมียนมาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คือ แกมเบีย ประเทศมุสลิมในทวีปแอฟริกา ในฐานะตัวแทน 57 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งแกมเบียยื่นฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นความพยายามนำเข้าสู่การพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก
แกมเบียเรียกร้องต่อศาลว่า เมียนมากระทำการละเมิดอนุสัญญา เช่น สังหารหมู่ ข่มขืน ใช้ความรุนแรงทางเพศ เผาบ้านเรือน และทำลายปศุสัตว์ เพื่อทำลายล้างชาวโรฮิงญา และคำให้การของพยานฝ่ายแกมเบีย ยังเล่าอีกว่า “มีศพเต็มพื้นไปหมด เป็นเด็กๆ ในหมู่บ้านของเรา พอฉันเข้าไปในบ้าน ทหารก็ล็อกประตู ทหารคนหนึ่งข่มขืนฉัน เขาแทงเข้าที่ท้ายทอยและท้องของฉัน ฉันพยายามที่จะช่วยลูก เขาเพิ่งอายุได้ 28 วัน แต่พวกเขาโยนลูกของฉันลงพื้น แล้วลูกฉันก็ตาย”
“สิ่งที่แกมเบียเรียกร้อง คือต้องให้เมียนมาหยุดการฆ่าที่ไร้เหตุผล เพื่อยุติการกระทำที่โหดเหี้ยมเหล่านี้ ที่ยังคงสะเทือนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราอยู่ เพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของประชาชนของตัวเอง” อัยการสูงสุดของแกมเบียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าว ซึ่งแกมเบียเริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ หลังจากที่เขาเดินทางไปยังค่ายลี้ภัยชาวโรฮิงญา และได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดี จะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ตอนนี้ แกมเบียกำลังขอให้ศาลกำหนด ‘มาตรการชั่วคราว’ เพื่อปกป้องชาวโรฮิงญาในพม่าและประเทศอื่นๆ จากภัยคุกคามหรือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
ถึงอย่างนั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ผลการตัดสินได้ นอกจากนี้ ทั้งออง ซาน ซู จี และพวกนายพลจะไม่ถูกจับกุม หรือโดนไต่สวน แต่การพิจารณาคดีอาจนำไปสู่การคว่ำบาตร ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเศรษฐกิจที่สำคัญต่อเมียนมาได้
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-50667966
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER