ใครจะไปรู้ว่า หมากฝรั่งที่เราเคี้ยวๆ แล้วคาย หรือแปะทิ้งไว้ที่ไหนซักที่หนึ่ง วันนึงจะกลายเป็นหลักฐานในการสืบค้นทางพันธุกรรมและประวัติศาสตร์ไปได้ เช่นเดียวกับ ‘ลอร่า’ เด็กสาวดวงตาสีฟ้า ผิวคล้ำ ผมสีเข้ม ที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์ก เมื่อ 5,700 ปีก่อน เธอเคี้ยวพืชชนิดนึง ซึ่งอาจจะเปรียบได้ว่าเป็นหมากฝรั่งยุคโบราณ แล้วเธอก็คายทิ้งไว้ จนทำให้เราสามารถสืบค้นพันธุกรรมของมนุษย์ได้สิ่งอื่น นอกเหนือจากกระดูกของมนุษย์เป็นครั้งแรก!
ฮันแนส ชเรอเดอร์ (Hannes Schroeder) นักมานุษยวิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้จีโนมโบราณที่สมบูรณ์ จากสิ่งอื่นๆ นอกจากกระดูกหรือฟันมนุษย์ การเก็บรักษาหมากฝรั่งนั้นค่อนข้างพิเศษ และตอนแรกเราไม่ได้คาดหวังว่าจะเจอจีโนมทั้งหมด”
เจ้าก้อนหมากฝรั่งโบราณขนาดยาว 2 เซนติเมตรนี้ คือทาร์ชเบิร์ก พืชชนิดหนึ่งที่ถูกใช้เป็นกาวธรรมชาติในยุคหินเก่า ผลิตจากเปลือกของต้นไม้ ด้วยการให้ความร้อนจนกลายเป็นของเหลว และถูกค้นพบในระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดี บนเกาะ Lolland ประเทศเดนมาร์ก
สิ่งที่ค้นพบจาก ก้อนสีดำนี้ คือรอยฟันของเด็ก ทำให้นักวิจัยคาดเดาว่า เจ้าก้อนพืชนี้อาจจะเก็บเอาดีเอ็นเอในยุคโบราณเอาไว้ด้วย พวกเขาจึงนำบางส่วนของก้อนนี้ไปวิเคราะห์เพื่อค้นหาดีเอ็นเอ ซึ่งกลายเป็นว่า มันมีดีเอ็นเอจำนวนมากอยู่ในก้อนหมากฝรั่งนี้
ดีเอ็นเอที่นักวิจัยค้นพบนี้ มีจำนวนมากพอที่จะทำให้พวกเขาสร้างจีโนมมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบขึ้นมาได้ จนกลายมาเป็น ลอร่า เด็กหญิงผิวเข้ม ผมดำสนิท ตาสีฟ้า ตามที่กล่าวไปข้างต้น และนอกจากดีเอ็นเอของเด็กคนนี้แล้ว นักวิจัยยังค้นพบจุลินทรีย์ในช่องปากของเธอที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดบวม และเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้และต่อมน้ำเหลืองโตอีกด้วย
นอกจากนี้ นักวิทยาศาตร์ยังคาดการณ์กันอีกว่า เจ้าก้อนทาร์ชเบิร์ชนี้ เป็นวัสดุที่อาจช่วยกู้จีโนมของมนุษย์ยุคโบราณกลับคืนมาอีกครั้งก็เป็นได้ เพราะพื้นที่ที่ทำการศึกษากันอยู่นั้น ไม่เคยมีการค้นพบกระดูกหรือฟันของมนุษย์มาก่อน
“มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากๆ เพราะมันมีช่วงเวลาที่เราไม่ค้นพบกระดูก หรือส่วนใดๆ ของมนุษย์เลยสักชิ้นเดียว แต่ชิ้นส่วนของต้นเบิร์ชยังคงสภาพอยู่ดีมาก มันเป็นสิ่งทดแทนกระดูกและมีความละเอียดสูง เราได้รับข้อมูลมามากมายจากเจ้าสิ่งนี้” ทีส์ เจนเซน (Theis Jensen) หนึ่งในนักวิจัยที่ร่วมโครงการนี้กล่าว
.
อ้างอิงจาก
https://www.nature.com/articles/s41467-019-13549-9
https://www.theguardian.com/science/2019/dec/17/neolithic-dna-ancient-chewing-gum-denmark
https://edition.cnn.com/2019/12/17/world/ancient-chewing-gum-genome-scn/index.html
พิสูจน์อักษร: วัศพล โอภาสวัฒนกุล
#Brief #TheMATTER