มีความคืบหน้าครั้งสำคัญในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐฯ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้แพทย์ใช้ยาต้านไวรัส ‘เรมเดซิเวียร์’ กับผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการหนักแล้ว
รายงานจาก BBC และ The New York Times ระบุตรงกันว่า การทดลองยาต้านไวรัสชนิดนี้ได้ผลออกมาที่เป็นประโยชน์ โดยค้นพบว่า มันสามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับบ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
โดยการทดลองก่อนหน้านี้ ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งศึกษาผ่านผู้ป่วยจำนวน 1,063 คน จากประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ โดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้จะหายได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาหลอก (placebo) 31 เปอร์เซ็นต์
ด้าน นายแพทย์ แอนโทนี ฟอซี ที่ปรึกษาฝ่ายสาธารณสุข ประจำทำเนียบขาว ก็ยืนยันด้วยเช่นกันว่า ยาเรมเดซิเวียร์ ถือเป็นยาที่ส่งผลดีต่อการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า ยังไม่ควรรีบตัดสินว่ายาชนิดนี้จะเป็น ‘ยาวิเศษ’ ที่ช่วยรักษา COVID-19 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมันยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกพอสมควร
ขณะที่ อย.สหรัฐฯ ก็อนุมัติให้ใช้ยานี้ภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยหนักก่อนเท่านั้น
ประเด็นที่ต้องย้ำกันก็คือ ถึงแม้ยาชนิดนี้จะช่วยร่นระยะเวลาการฟื้นตัวให้เร็วขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายว่า นี่คือวัคซีนที่จะช่วยจัดการ COVID-19 ในร่างกายผู้ป่วยได้แต่อย่างใด (อย่างน้อยก็ในเวลานี้)
ทางด้านแพทย์ในไทยก็มีผู้ที่ออกมาให้ความเห็นด้วยเหมือนกัน โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงยาเรมเดซิเวียร์เอาไว้ว่า ยานี้เป็นยาที่เคยใช้รักษาโรคปอดบวมตะวันออกกลาง โดยยาจะไปขัดขวางการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส
“ยานี้ต้องรอขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการและเป็นยาที่ใช้สำหรับฉีดเข้าเส้น ไม่ใช่ยารับประทาน ข้อมูลต่างๆ ที่ยังเป็นความหวังสำหรับผู้ติดเชื้อและมีอาการหนัก
“ยานี้ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย ยังคงต้องรอและจะมีข้อมูลออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน ถ้าเราสามารถรักษาผู้ป่วยลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการเป็นปอดบวมได้ ความวิตกกังวลต่างๆ ก็จะน้อยลง” นพ.ยง ระบุ
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52511270
https://www.nytimes.com/2020/05/01/health/coronavirus-remdesivir.html
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=132343195073888&id=108692177438990
#Brief #TheMATTER