หวาดกลัว ฝันร้าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ใครมีอาการเหล่านี้ในช่วงนี้ ก็คงหาตัวการกันได้ไมยากเลย เพราะโรคระบาด COVID-19 กำลังเล่นเราทางอ้อมแล้วล่ะ
เป็นเรื่องปกติที่ไม่อยากให้ปกติ กับการที่เราเผชิญหน้าเหตุการณ์รุนแรง แล้วส่งผลกระทบต่อมายังสภาพจิตใจ เพราะแม้จะเป็นเรื่องปกติที่หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ไป เราจะมีอาการ PTSD แต่ก็ไม่มีใครอยากเป็นกันหรอก จริงมั้ย?
PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คือโรคเครียดหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ทำให้ภาวะจิตใจของเราเผชิญกับความตึงเครียด จนวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ เห็นภาพหลอนในอดีต และฝันร้ายอยู่บ่อยๆ เป็นโรคที่สามารถเล่นงานเราได้แบบเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้ที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจมา เช่น อุบัติเหตุ การโจมตีของผู้ก่อการร้าย หรือการถูกทำร้ายร่างกาย
แล้วโรคระบาด COVID-19 ก็ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงพอจะให้เราเกิดโรค PTSD ได้เช่นกัน เพราะเมื่อปี ค.ศ.2003 ที่โรคซาร์สระบาด บุคลากรทางการแพทย์และผู้คนที่กักตัวอยู่ในบ้าน ก็ได้มีการแสดงอาการ PTSD ออกมาอย่างเห็นได้ชัด
อ้างอิงจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าเป็นโรคนี้ แต่ก็ไม่แน่ว่าเราจะไม่เผชิญหน้ากับปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่รุนแรงต่อวิกฤตโรคระบาด COVID-19 และปฏิกิริยานี้ก็อาจติดตัวเราไปอีกนานแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วก็ตาม
“เวลาที่เรานึกถึงเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจ มันไม่ใช่ภาพเหตุการณ์เปล่าๆ เท่านั้น แต่มันเป็นการตีความของเราถึงสิ่งที่เหตุการณ์นั้นทำให้เรารู้สึก” ลูอาน่า มาร์เควส (Luana Marques) นักจิตวิทยาคลินิกและรองศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์กล่า
ยกตัวอย่างเล่น บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของการให้บริการ ผู้คนที่สูญเสียคนรักหรือสูญเสียงานประจำไปในช่วงโรคระบาด หรือผู้ที่มีประวัติการบาดเจ็บก่อนหน้า พวกเขาอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาโรคนี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพราะเป็นกลุ่มคนที่กำลังดิ้นรนกับปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรค COVID-19 อย่างการติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิต แต่โรคระบาดระดับโลกนี้ก็สามารถสร้างแรงกดดันให้กับชีวิตของเราได้ อลิสซ่า ไรน์โกลด์ (Alyssa Rheingold) นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายว่า โรคระบาดนี้อาจมีผลกระทบต่อความเครียดและความกังวลทั่วโลกนานหลายเดือน แม้เราจะคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่สามารถทำได้ในปัจจุบันก็คือ การทำสุขภาพจิตให้ดีขึ้น
ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรค PTSD ให้ช่วงโรคระบาดนี้ หลักๆ ก็คือการติดตามข่าวสารให้น้อยลง หากข่าวที่ได้ยิน ได้เห็น หรือได้อ่านทุกวันทำให้เรารู้สึกแย่หรือลบ ให้ลองหยุดและถามตัวเองว่าสิ่งนี้ช่วยอะไรเราได้จริงหรือเปล่า หรือกำลังทำให้เรารู้สึกหดหู่ลงกว่าเดิม เพราะการศึกษาเผยว่า เพียงแค่เราดูการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ไม่ว่าเป็นข่าวอุบัติเหตุ เหตุกราดยิง หรือโรคระบาดขนาดใหญ่ ก็สามารถก่อให้เกิดอาการเครียดเฉียบพลันได้
มาร์เควสจึงเสนอว่าให้ ลองถอดปลั๊กตัวเองออกจากข่าว แล้วหันไปทำอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกช้าลง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้สมองผ่อนคลายอย่างเห็นผลได้ชัดเจนจริงๆ และอย่าลืมที่จะทำชีวิตให้ยืดหยุ่น แม้ว่าขณะนี้จะเผชิญหน้ากับความลำบากมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งแต่ละคนก็จะมีกลไกการรับมือที่แตกต่างกัน เช่น งานอดิเรก หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งที่เพลิดเพลินกับชีวิต
.
และที่สำคัญ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและจิตแพทย์เมื่อจำเป็น
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.cnbc.com/2020/04/17/long-term-mental-health-ptsd-effects-of-covid-19-pandemic-explained.html
#brief #TheMATTER