คิดว่าเสียงของดวงดาวจะเป็นยังไง? ถึงเราจะรู้กันดีว่า เสียงไม่สามารถเดินทางในอวกาศได้ แต่จะเป็นอย่างไร ถ้านักวิทยาศาสตร์ก้าวข้ามขีดจำกัดนั้น แล้วเปลี่ยนภาพถ่ายอวกาศให้กลายเป็นเสียงเพลงได้?
ถึงแม้ว่าในอวกาศจะไม่มีอากาศ ซึ่งเป็นตัวกลางที่ทำให้เราได้ยินเสียง แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ของ NASA ก็หาวิธีสร้างเสียงขึ้นจากอวกาศ โดยโครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 ด้วยนำภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลมาผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘sonifying’
ภาพที่ NASA ใช้ในการทดลองครั้งนี้ เป็นภาพที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า หีบสมบัติกาแล็กซี (Galactic treasure chest) เพราะมีกาแล็กซีจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ในภาพดังกล่าว โดยเสริมว่า ดาวที่อยู่ใกล้กับโลกของเราส่องประกายอยู่เบื้องหน้า ในขณะที่กลุ่มกาแล็กซีทั้งหลาย กระจุกอยู่ใจกลางของภาพอยู่รวมกันเพราะมีแรงโน้มถ่วงมหาศาล ซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018
ในกระบวนการสร้างเสียงจากภาพนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ตำแหน่งและธาตุที่แตกต่างกันของภาพจะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป โดยดวงดาวและกาแล็กซีที่มีขนาดเล็กจะให้เสียงที่ชัดเจนและเป็นโน้ตสั้นๆ ส่วนกาแล็กซีที่มีลักษณะเป็นวงเกลียวจะให้เสียงที่ซับซ้อนและเป็นโน้ตที่ยาวกว่า
“เวลาไหลจากซ้ายไปขวา และความถี่ของเสียงเปลี่ยนจากล่างขึ้นบน โดยมีความถี่ตั้งแต่ 30 ถึง 1,000 เฮิรตซ์” NASA อธิบายประกอบกับวิดีโอที่ปล่อยออกมา ทั้งยังเสริมว่าวัตถุที่อยู่ด้านล่างของภาพจะให้เสียงต่ำ ส่วนวัตถุที่อยู่ด้านบนจะให้เสียงสูงกว่า
ถึงแม้ว่า ในช่วงแรกๆ เสียงที่ได้อาจจะฟังดูน่าขนลุกเล็กน้อย แต่เสียงของภาพนี้ก็สร้างท่วงทำนองที่สวยงามออกมาได้ โดยเฉพาะในช่วงศูนย์กลางภาพใกล้กับจุดที่เป็นกาแล็กซี ที่เรียกว่า ‘RXC J0142.9 + 4438’ ซึ่งมีความหนาแน่นสูงมาก
เว็บไซต์ NASA ระบุว่า กลุ่มกาแล็กซีเป็นวัตถุที่น่าสนใจที่สุดในจักรวาล การศึกษากาแล็กซีเหล่านี้ คือการศึกษาการจัดระเบียบของสสารในระดับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะจะช่วยให้มนุษย์เข้าใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เรายังไม่รู้ อย่าง สสารมืด (Dark Matter) หรือพลังงานมืด (Dark Energy) เป็นต้น
ลองฟังเสียงกันได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?time_continue=15&v=H-Ci_YwfH04&feature=emb_title
อ้างอิงจาก
https://www.spacetelescope.org/images/potw1833a/
#Brief #TheMATTER