วันนี้ (20 พฤษภาคม) ภาคประชาชนที่ร่วมจับตาการเลือกตั้ง 66 ไปกับเว็บไซต์ vote62.com แพลตฟอร์มรายงานผลคะแนนแบบเรียลไทม์ ซึ่งนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และกลุ่มพันธมิตร ได้สรุปผลการทำงานของอาสาสมัครที่เฝ้าติดตามคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้การนับคะแนนและรายงานผลเป็นไปอย่างถูกต้อง
ย้อนไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ช่วงกลางเดือน มี.ค. ได้มีการได้เปิดตัวแคมเปญ ‘#vote62’ ซึ่งเป็นระบบการรายงานผลการเลือกตั้งแบบคราวด์ซอร์ส (Crowdsourcing) ที่อาสาสมัคร 100,000 คนทั่วประเทศช่วยกันถ่ายภาพกระดานคะแนนที่นับเสร็จแล้วในคูหาเลือกตั้ง ส่งเข้ามาในระบบของ vote62 เพื่อตรวจสอบและเปรียบเทียบผลการรวมคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
The MATTER ได้สรุปประเด็นคร่าวๆ ดังนี้
อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล iLaw ระบุว่า ระหว่างการเลือกตั้งพบการแจ้งปัญหา 375 กรณี จำแนกแล้ว อันดับหนึ่ง คือ ปัญหาการถูกห้ามบันทึกภาพบรรยากาศการใช้สิทธิ ถึง 87 กรณี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ อย่างหน่วยเลือกตั้งหนึ่งที่ จ.สงขลา มีการชี้แจงประชาชนว่า ถ้ายังถ่ายและโพสต์ภาพดังกล่าวจะนับว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
รองลงมา คือ เจ้าหน้าที่ประจำตัวไม่ได้ขอยืนยันอัตลักษณ์ การติดรายชื่อผู้สมัครบนบอร์ดไม่ครบถ้วน รวมถึงยังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตปรากฏเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
– ข้อค้นพบจากการจัดส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และนอกราชอาณาจักร
โดยมีอาสาสมัครจำนวน 150 คน เป็นทีมที่สังเกตการณ์คะแนนส่วนนี้ ซึ่งมีการแจ้งปัญหา 33 กรณี เช่น การส่งบัตรไปยังหน่วยไม่ทันเวลานับคะแนน (จากข้อสังเกตของพรรคก้าวไกล ในเขต 3 จ.ฉะเชิงเทรา) แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าท้ายสุด ได้มีการนับคะแนนบัตรดังกล่าวแล้ว
สำหรับการตรวจสอบบัตรเขย่งในส่วนของบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านั้น มีข้อจำกัดที่อาสาสมัครจำเป็นต้องทราบจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อน แต่ไม่มีรายงานส่วนนี้ จึงไม่สามารถยืนยันประเด็นนี้ได้ แต่พบปัญหาจำนวนที่ไม่ตรงตามแบบฟอร์ม ส.ส. 5/17 อย่างเขตดินแดงมีหลายหน่วยเลือกตั้ง ที่เมื่อนำคะแนนที่พรรคต่างๆ ได้รับมารวมกันแล้วไม่เท่าจำนวนบัตรดี เป็นต้น
– ตัวอย่างปัญหาการเลือกตั้ง
จากการติดตามมีปัญหาใน 6 เขตเลือกตั้ง ที่่เป็นตัวอย่างสำคัญ ซึ่งบางส่วนมีข้อยุติไปแล้ว อย่างในเขตที่ 2 จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการรายงานผลคะแนนของ ระบบ ECT Report ว่าพรรคภูมิไทยเป็นผู้ชนะ แต่หน้าหน่วยการเลือกตั้งพบคะแนนสูงสุดเป็นของพรรคก้าวไกล เป็นต้น
ขณะที่ยังมีเขตที่ปัญหายังไม่ยุติ คือ เขต 2 จ.สงขลา ซึ่ง ECT Report รายงานว่าผู้สมัครจาก รทสช. เป็นผู้ชนะ แต่พบข้อกังขาเรื่องการประกาศผลคะแนนล่าช้า ประเภทของบัตร และจำนวนผู้มาใช้สิทธิ รวมถึงปัญหาในเขต 10 จ.ชลบุรี ที่มีการรายงานบัตรเขย่งบนกระดานถึง 4,995 คะแนน ซึ่งผู้สมัครพรรคเพื่อไทยก็ได้ทักท้วงทันที โดย กกต. ชี้แจงว่าเป็นการกรอกเลขผิดเท่านั้น
ข้อเสนอแนะต่อ กกต.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ระบุว่า ได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งปีนี้ คือประชาชนร่วมจับตาการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกว่าผลการเลือกตั้งเสียอีก “ไม่ว่าคุณจะเชียร์พรรคไหน คุณเดินไปดูการนับคะแนน 3-4 ชม. พอพบความผิดพลาดบ้างแล้วทักท้วง เจ้าหน้าที่ก็ยอมแก้ไข…เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว และหวังว่าจะยังคงอยู่”
ผู้จัดการ iLaw ยังกล่าวชื่นชมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ที่ทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมี กปน. บางส่วนที่ยังไม่เข้าใจสิทธิของประชาชนที่สามารถจับตาการนับคะแนน ซึ่งไม่ได้เอาผิดดำเนินคดี กปน.ระดับปฏิบัติ แต่อยากให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกัน รวมถึงการเปิดเผยคะแนนรายหน่วยของ กกต. สามารถทำได้ตามที่รับปากไว้
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อ กกต.ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า 3 ข้อ คือ
1 ขอให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขต่อรองทางการเมืองมากเกินไป
2 มีข้อร้องเรียนเรื่องผลคะแนนในบางหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจ กกต. สั่งนับคะแนนใหม่ได้ “ไมได้แปลว่า กกต.ผิดพลาด หรือเสียหน้า การสั่งให้นับคะแนนใหม่เมื่อถูกทักท้วงจะทำให้โปร่งใสขึ้น”
3 การรายงานผลของระบบ ECT Report ยังพบปัญหา ที่รอการหาข้อเท็จจริงและชี้แจงอย่างเหมาะสม
นอกนี้ยังมีข้อเสนอเพื่อเป้าหมายให้เกิดความโปร่งใส่ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป อย่าง กกต. ควรเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง ข้อมูลจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น สร้างความเข้าใจให้ประชาชน และ กปน. รวมถึงถอดบทเรียนและพัฒนาเทคโนโลยีระบบการรายงานผลคะแนน
อ้างอิงจาก