โรคซึมเศร้ากับสารเคมีในร่างกาย เป็นหัวข้อทางการแพทย์ที่นักวิจัยได้ศึกษากันอยู่เรื่อยๆ ที่ผ่านมาก็ได้มีการค้นพบปัจจัยเรื่องสารเคมีบางชนิด ที่มันส่งผลกับความรู้และอารมณ์ของผู้ที่เผชิญหน้ากับภาวะนี้
ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน ‘Proceedings of the National Academy of Sciences’ ค้นพบข้อมูลที่ตอกย้ำถึงปัจจัยเรื่องสารเคมีในร่างกาย ประเด็นสำคัญๆ คือ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนมี ‘acetyl-L-carnitine’ (LAC) ที่เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งในร่างกายน้อยกว่าคนทั่วไป
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 20 ถึง 70 ปีในกรุงนิวยอร์ก ซึ่งเคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าจากทางโรงพยาบาล กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมระดับปานกลาง (moderate depressio) 28 คน ส่วนอีก 43 คนเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง (severe depression)
ทั้งนี้ นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของพวกเขาไปศึกษาถึงปริมาณกรดอะมิโนชนิดที่ว่า พร้อมกับนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากคนทั่วไปในอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า
ข้อสรุปที่พบคือในภาพรวมๆ ของกลุ่มตัวอย่างนั้น มีปริมาณของ LAC น้อยกว่าคนทั่วไป ที่เรื่องน่าสนในคือในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคซึมระดับรุนแรงก็จะมีปริมาณในระดับน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังพบ ‘ความสัมพันธ์’ กันระหว่างปริมาณของ LAC ที่ต่ำกับประสบการณ์ความรุนแรงที่กลุ่มตัวอย่างเจอในวัยเด็ก รวมถึงประสบการณ์การถูกทอดทิ้ง และความยากจน
Natalie Rasgon นักวิจัยจาก Stanford เชื่อว่า สิ่งที่ค้นพบในครั้งนี้มันช่วยให้เรามองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเรื่องสารเคมีในร่างกาย กับโรคซึมเศร้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี James Potash ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผลวิจัยออกมาเช่นนี้ มันแปลว่าเราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย LAC ได้แค่ไหน? ซึ่งประเด็นนี้ ทีมนักวิจัยก็เห็นสอดคล้องกันว่า จำเป็นต้องศึกษาลงลึกในรายละเอียดให้มากขึ้น
สิ่งที่นักวิจัยเน้นย้ำคือ เรื่องนี้ต้องศึกษาขยายประเด็นกันต่อไป และไม่แนะนำให้ผู้ป่วยออกไปซื้อ LAC มาใช้เพื่อรักษาตัวเอง
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER