“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” นี่คือบทบัญญัติของ ม.112 หรือที่เรียกว่า คดีหมิ่นพระมหากษัตริย์
หลังจากหยุดใช้ คดี ม.112 ไประยะหนึ่ง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการกลับมาแจ้งข้อหา และดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมือง ด้วยคดีนี้อีกครั้ง โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับสถิติของ ม.112 ในระลอกใหม่นี้ พบว่า มีผู้ถูกกล่าวหา ด้วยคดีนี้ ไป แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 151 คน ใน 154 คดี จากการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมือง
โดยหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาด้วย ม.112 มากที่สุด คือ ‘เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์’ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วัย 23 ปี ที่ถูกแจ้งข้อหาคดี ม.112 ไปแล้วทั้งหมด 21 คดี โดยคดีล่าสุดนั้น ถูกแจ้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่เพนกวินอยู่ในเรือนจำ โดยทางศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เพนกวิน เป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหา ม.112 เป็นจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
คดี ม.112 เป็นคดีที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ทำให้ถ้าหากเพนกวิน ถูกศาลตัดสินโทษทุกคดีทั้งหมดนั้น ระยะเวลาจำคุกน้อยที่สุดคือ 63 ปี (3 ปี ใน 21 คดี) และมากที่สุดคือ 315 ปี (15 ปี ใน 21 คดี) โดยการคำนวณนี้ยังไม่รวมถึงกรณีที่ศาลอาจลดโทษ ในกรณีที่มีการรับสารภาพ
สำหรับผู้กล่าวหาใน 21 คดีนั้น แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งหมด 10 คดี ซึ่งรวมถึง ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 คดี และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น พนักงานสอบสวน หรือ ผู้กำกับสถานีตำรวจชนะสงคราม เป็นต้น ขณะที่คดีอื่นๆ อีก 10 คดี มีผู้กล่าวหาคือประชาชน โดยพบว่ามักเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่ปกป้องสถาบัน เช่น ว่าที่ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล จากกลุ่มไทยภักดี นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. หรือ สุพัฒน์ ปัสสาคร ประธานชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น และในอีก 1 คดี มีศรัลก์ โคตะสินธ์ ที่รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้กล่าวหา
คดีทั้งหมดนี้ ยังแบ่งเป็นการปราศรัย 14 คดี และการโพสต์ หรือแชร์ข้อความต่างๆ 6 คดี เช่น การโพสต์เกี่ยวกับการแบนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หรือการโพสต์และแชร์ข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับ the land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ และยังมีคดีที่ถูกกล่าวหาจากการแต่งคร็อปท็อป 1 คดีด้วย
โดยที่ผ่านมา เพนกวินถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวจากคดี ม.112 และแม้จะได้รับการประกันตัวออกมาในรอบแรกแล้ว แต่ก็ถูกถอนประกัน และมีการเข้าไปแจ้งข้อหา ม.112 และคดีอื่นๆ ในเรือนจำเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้จำนวนคดีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ได้ด้วย
ซึ่งหากนับจำนวนวันในปี 2564 นั้น ได้ผ่านมาแล้ว จำนวน 292 วัน แต่เพนกวินถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไปแล้ว 163 วัน โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยเป็นการเข้าเรือนจำรอบแรก 91 วันในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ก่อนถูกปล่อยตัวเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และรอบล่าสุด ที่เพนกวิน ถูกคุมขังตั้งแต่ 8 สิงหาคม จนถึงวันนี้ (19 ตุลาคม 2564) รวม 72 วัน และยังเป็นการเข้าไปเรือนจำ ที่เพนกวินติด COVID-19 ในนั้นด้วย แม้จะได้รับการรักษาหายแล้ว
และนี่คือคดี ม.112 ของเพนกวินทั้ง 21 คดี ได้แก่
- 22 ส.ค. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.ต.อดิศักดิ์ ไชยสัตย์
- 3 ก.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ลานหน้าบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.ท.ไพรัช บุปผา รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด
- 10 ก.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ท่าน้ำนนทบุรี ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.ท.ภาสกร ไชยทวีวงศ์ รองผู้กำกับสืบสวนสภ.เมืองนนทบุรี
- 19 ก.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม
- 14 พ.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม MobFest อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย-ถนนราชดำเนิน ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม และพวก
- 8 พ.ย. 63 – โพสต์ในเฟซบุ๊ก #ราษฎรสาส์น จดหมายถึงกษัตริย์ ถูกกล่าวหาโดย สุเฑพ ศิลปะงาม
- 29 พ.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11 ถูกกล่าวหาโดย วราวุธ สวาย
- 25 พ.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถูกกล่าวหาโดย วราวุธ สวาย
- 20 ส.ค. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นถูกกล่าวหาโดย สุพัฒน์ ปัสสาคร ชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น
- 21 ส.ค. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป หน้าศาลากลางหลังเก่า จังหวัดอยุธยา ถูกกล่าวหาโดย เจ้าหน้าที่ตำรวจอยุธยา
- 2 ธ.ค. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถูกกล่าวหาโดย ชุติมา เลี่ยมทอง กับพวก
- 20 ก.ย. 63 – โพสต์และทวิตข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับการแบนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถูกกล่าวหาโดย ศรัลก์ โคตะสินธ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ
- 8 พ.ย. 63 – โพสต์และแชร์ข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับ the land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ ถูกกล่าวหาโดย ชุติมา เลี่ยมทอง กับพวก
- 20 ธ.ค. 63 – กิจกรรม #แต่งครอปท็อป เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ถูกกล่าวหาโดย ว่าที่ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี
- 28 พ.ย. 63 – โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการนำพระแก้วมรกตไปขาย และการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถูกกล่าวหาโดย เจษฎา ทันแก้ว
- 23 พ.ย. 63 – ปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาโดย พ.ต.ท.ชติกร ศรีเมือง รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.สันทราย
- 25 ม.ค. 64 – ปราศรัยในการชุมนุม #กระชากหน้ากากไบโอไซน์ หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ทำการของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ถูกกล่าวหาโดย ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์
- 14 ม.ค. 64 – ปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้าสภ.คลองหลวง ถูกกล่าวหาโดย พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง
- 21 ธ.ค. 63 – ปราศรัยหน้า สน.บางเขน ระหว่างการเข้ารับทราบข้อหาคดี 112 ของทราย เจริญปุระ และนักกิจกรรม ถูกกล่าวหาโดย ตำรวจ สน.บางเขน
- 8 ธ.ค. และ 31 ธ.ค. 63 – โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 โพสต์ วิจารณ์กรณีการใช้พื้นที่สนามหลวง และกล่าวถึงกรณีหย่าร่างกับสุจาริณี ถูกกล่าวหาโดย นพดล พรหมภาสิต
- 28 ก.ค. 64 – โพสต์ภาพถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะกลับหัว พร้อมข้อความ “ด้วยรักและฟักยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” ถูกกล่าวหาโดยตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
อ้างอิงจาก