“เลาะแบบมีสเต็ป ม่วนแบบมีสไตล์ เป็นผู้สาวยุคใหม่ ใจต้องกล้า หน้าต้องด้าน”
โลกเรามาไกล เนื้อหาในหลายเพลงลูกทุ่งฟังแล้วหลายคนอาจจะคันใจใน ‘ความก้าวหน้า’ แต่ถ้าคิดอีกทีเราก็ในยุคที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเนื้อตัวของตัวเอง แนวคิดเรื่องความเป็นกุลสตรี ความดีงามผุดผ่องเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในเพลงที่แทงใจเหล่านั้นพอฟังซ้ำอีกครั้งเราก็อาจจะแอบอมยิ้มว่า ก็ไม่ผิดนะ ฟังดูเป็นแนวทางชีวิตของผู้หญิงยุคใหม่ที่แกร่ง มั่น สู้ และควบคุมชีวิตของตัวเองได้
เราอาจจะเริ่มรู้จักเหล่านักร้องหญิงที่มาพร้อมความมั่นใจ เรามีกระทั่งงานศึกษาที่ศึกษาว่า ใบเตย อาร์สยาม เป็นหนึ่งในการนำเสนอภาพของผู้หญิงยุคใหม่ มีความมั่นใจ มีความฝัน และสามารถทำงานดูแลตัวเองได้
เราเริ่มมีภาพของผู้หญิงที่ออกไปสนุกสนานในพื้นที่สาธารณะ ไปเต้นรำออกลีลาม่วนซื่นอยู่ที่หน้าฮ้าน แต่ถ้าเรามองย้อนไป ในโลกที่ผู้หญิงต้องกดทับความปรารถนาและตัวตนของตัวเองไว้ เพลงลูกทุ่งนับตั้งแต่ยุคแม่ผึ้ง—พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็เริ่มพูดถึงความปรารถนา พูดเรื่องร่างกายของผู้หญิง อาจจะใช้ความฝัน ใช้ความเปรียบ ซึ่งเสียงและตัวตนของผู้หญิงก็ค่อยๆ ดังขึ้นผ่านเหล่าตัวแม่ที่ร่วมเป็นเสียงสะท้อนของผู้หญิงด้วยกัน
ยิ่งถ้าเรามองว่าเพลงลูกทุ่งเป็นพื้นที่กึ่งสงครามที่แสดงภาพแทน โดยเฉพาะความรักความสัมพันธ์ ลองนึกภาพเพลงลูกทุ่งโดยเฉพาะที่มักจะมาจากเสียงของผู้ชาย ภาพผู้หญิงมักถูกนำเสนอว่าหลายใจบ้าง ว่าร้ายบ้าง เชื่อถือไม่ได้บ้าง พอเรื่อยมาถึงยุคหลังก็ดูเหมือนว่าเหล่าสาวๆ ก็มีการปฏิวัติและแย้งภาพของผู้หญิงเหล่านั้นผ่านแนวคิดที่ก็พอจะนิยามได้ว่าเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิงแบบหนึ่ง
ท่ามกลางวัฒนธรรมหน้าฮ้านและการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิง The MATTER จึงชวนสำรวจความหมายและแนวทางของผู้หญิงยุคใหม่ผ่าน 8 เพลงลูกทุ่งร่วมสมัยที่นอกจากจะฮ่อนได้ จับระบำรำฟ้อนกันให้ฟางปลิวได้แล้ว ในนิยามของความแรดที่เคยเป็นคำกล่าวหาและแสนหวาดกลัว ในที่สุดอาจจะกลายเป็นอำนาจที่พวกเธอรับรู้และมีแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ
โป๊ (ใจมันเพรียว), ใบเตย อาร์สยาม
“ใครๆ เขาก็รู้ ว่าหนูอ่ะเปิดเผย
หนูสั้นของหนูอย่างเนี้ย หนูเน้นเซ็กซี่เฉยๆ
หนูถือว่าแบ่งกันชมอ่ะ มุมก้มหรือมุมเสย
ไม่สั้นเสมอหู อย่าเรียกหนูว่าใบเตย”
ขอยกให้คุณแม่ใบเตยขึ้นไว้เป็นอันดับ 1 แม้ว่าเพลงจะเก่าไปสักหน่อย แต่ใบเตยถือเป็นหนึ่งในนักร้องหญิงที่กล้าออกมาปฏิวัติการแต่งกายตั้งแต่ราวสิบปีที่แล้ว ในตอนนั้นแน่นอนว่าเกิดแรงกระเพื่อม ทั้งต่อต้านและสนับสนุนพอสมควร เพลงและการแต่งตัวของใบเตยมักจะเน้นไปที่ความมั่นใจ หลายเรื่องเป็นการยืนยันสิทธิของผู้หญิงและโต้แย้งอคติทั้งเรื่องการแต่งตัวโป๊ การเป็นผู้หญิงที่ต้องเป็นกุลสตรีเรียบร้อย ใบเตยทรงอิทธิพลขนาดมีงานศึกษาชื่อ ‘ภาพลักษณ์ผู้หญิงสมัยใหม่ในบทเพลงลูกทุ่งของใบเตย อาร์สยาม’ ว่าด้วยการพูดถึงตัวตนสมัยใหม่ของผู้หญิงที่ไม่ได้มีแค่การแต่งกาย แต่หมายถึงทัศนคติ การมีความฝัน ความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีความมั่นคงและความมั่นใจในการใช้ชีวิต
ไม่แรดอยู่ยาก, จ๊ะ อาร์สยาม
“ไม่แรดอยู่ยาก แรดมากอยู่ได้
ผู้ชายส่วนใหญ่แพ้ทางดาวยั่ว
ไม่แรดอยู่ยาก หรือ ต้องแรดมากๆ ผู้ชายถึงไม่พราก
งั้นอยู่ยาก (งั้นอยู่ลำบาก)…..พวกแรดชอบพรากผัว”
จ๊ะถือเป็นอีกหนึ่งนักร้องสาวที่โดดเด่นและเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอ ด้วยความที่เพลงของจ๊ะมักเป็นเพลงสองแง่สองง่ามและพูดถึงเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา ในด้านหนึ่งประเด็นเรื่องผู้หญิงและการรู้จักร่างกาย รวมถึงความปรารถนาโดยเฉพาะเรื่องเพศเป็นสิ่งที่สังคมมักจะกดทับและใช้ตราเพื่อควบคุมผู้หญิงเอาไว้
หลังจากเข้าค่ายอาร์สยามแล้ว จ๊ะเองก็ยังปล่อยเพลงที่กล้าให้ผู้หญิงพูดเรื่องจริงและลักษณะร่วมสมัยออกมาตรงๆ เพลงไม่แรดอยู่ยากเป็นอีกเพลงที่เก๋ และเชื่อเถอะว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในวงสนทนาของเพื่อนๆ ว่า เอ้อ เรื่องเพศมันเป็นส่วนหนึ่งของความรักและความสัมพันธ์ คือจ๊ะอาจจะนิยามมันว่าเป็นความแรด แต่ประเด็นคือความเข้าใจเรื่องเพศ ทั้งเรื่องที่ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นสาวพรหมจรรย์และปฏิเสธความปรารถนาของตัวเอง หรือมองไม่เห็นว่าความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มีเงื่อนไขที่เราต้องคุยกันมากมาย
โสดผัวทิ้ง, กล้วย คลองหอยโข่ง
“เป็นโสดผัว เป็นผู้หญิงเคยผ่านมือชาย
หนูเคยโดนผัวเก่าทำร้าย ย่ำยีหัวใจจนปี้ป่น
เป็นโสดผัวทิ้ง อยากมีใครรักจริงสักคน
ช่วยทำให้หนูหลุดพ้น จากวังวนความเสียใจ”
ในยุคหนึ่งเราใช้คำว่าพรหมจรรย์เพื่อประเมินคุณค่าของผู้หญิง ด้านหนึ่งผู้หญิงจึงมีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ไว้เพื่อนำไปสู่การแต่งงานและเพื่อคนที่ตนรัก เพลงโสดผัวทิ้งจึงเป็นอีกเพลงที่ให้ผู้หญิงออกมายอมรับไปเลยว่า ‘เคยผ่านมือชายมาก่อน’ ในเนื้อเพลงฟังดูทีเล่นทีจริงนั้นก็กำลังพูดว่าผู้หญิงที่อาจจะเคยถูกวัดคุณค่าจากการมีสามีมาแล้ว จริงๆ พวกเธอก็อาจจะแค่ซวยไปเจอผู้ชายที่ทิ้งเธอไป แล้วพวกเธอก็เป็นคนที่ยังตามหาความสัมพันธ์ที่ดีที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตยิ่ง
ผัวมา, กุ้ง สุภาพร
“ถ้าอ้ายนี่ เป็นสามีที่ดีน้อ ถ้าอ้ายนี่ เป็นผัวที่ดีน่อ
คงสิบ่พบพ้อ จั่งซี่แม่นแน่นอน ลองคิดย้อน ว่าอ้ายเฮ็ดดอกอีหยัง
เคยมาดูแล ลูกเมีย อยู่บ่อ้าย เทิงตีฮ้าย เฮดดีกะป้อยด่า
กินสุราเมาปิ้น บ่วายเว้น แต่ละวัน เป็นอ้ายนั้น สิทนอยู่ดอกแนวใด๋”
เก๋ราวกับเรื่อง The Bridges of Madison County—นวนิยายว่าด้วยการมีชู้ที่ปล่อยให้เป็นไปตามหัวใจ เพลงผัวมาเป็นเพลงหมอลำ ซึ่งมักจะมีการเล่าเรื่อง มีเรื่องราวบางอย่างมาลำให้ฟัง เพลงผัวมามีความเก๋หลายระดับ คือ มีความเป็นหนัง เป็นเรื่องเล่า ซีนของเพลงค่อนข้างคลาสสิก เพลงพูดเรื่องการมีชู้แล้วผัวจับได้ตามมาเอาเรื่อง ทีนี้ประเด็นเรื่องการมีชู้โดยทั่วไปมีอคติทางเพศอยู่ คือ การมีชู้ของผู้หญิงมักจะถูกตราหน้าหนักกว่า และหลายเรื่องก็เหมือนจะให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง เช่นเพลงนี้ก็ให้สิทธิผัวเอาปืนมายิงเมีย ซึ่งตัวเรื่องเข้มข้นและพลิกกลับเมื่อ ผู้เล่า (narrator) ใช้วาทศิลป์ตลบกลับความผิดการมีชู้ของตัวเองว่า การที่เธอมีชู้ก็เพราะว่าตัวสามีของเธอเองนั่นแหละ ชีวิตคู่พังเพราะตัวสามีของเธอด้วย แถมยังยอมตายสังเวยความผิดอย่างกับเรื่องโศกนาฏกรรมแบบคลาสสิก
แอวลั่นปั๊ด, ปริม ลายไทย
“ได้ยินเสียงดังตึบๆ
เเอวกะคึก อยากบันเลง
อาการเป็นจั่งอยากเด่ง
เส้นเเอวเข่ง อีกเเล้วเรา”
สมัยก่อนเรามีข้อห้ามที่ห้ามเฉพาะผู้หญิง เช่น การเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้า หรือหลายครั้งคือการสูบบุหรี่ที่ผู้หญิงจะถูกตัดสินมากกว่าผู้ชาย ซึ่งระยะหลังการเที่ยวการดื่มก็ถือเป็นการความสำราญตามความเหมาะสม ในทางภาคอีสานเราจะเริ่มเห็นวัฒนธรรมหน้าฮ้าน คือเหล่าสาวอีสานที่โชว์ลวดลายอยู่หน้าฮ้านหมอลำ แอวลั่นปั้ดก็เหมือนเป็นอีกเพลงที่ว่าด้วยวัฒนธรรมหน้าฮ้านที่ก็ไม่มีอะไร แค่ชอบไปสนุกสนานตามประสา
ฮ่อน, เมล ตวิษา
“อีฉันนี่เป็นสาวแล้วเดะ อายุกะซาวกว่าปี อีฉันบ่แม่นเด็กน้อย
หมู่ฝูงกะมีหลายบ่ค่อย นำก้นกันต้อยๆ สิคอยดูแลกัน
อีแม่บ่ต้องเป็นห่วงดอก ไปใสหนูสิโทรบอก บ่ต้องห่วงอีฉัน
เป็นผู้สาวแค่มักม่วนหน้าฮ้าน ตามสัญชาตญาณ ผู้สาวอีสานพันธุ์เลาะ”
เพลงฮ่อนคล้ายๆ แอวลั่นปั้ด คือว่าด้วยวัฒนธรรมหน้าฮ้าน วัฒนธรรมรถแห่ที่เพลงนี้ค่อนไปทางความไทบ้านแบบถึงพริกถึงขิง เนื้อเพลงมีความน่าสนใจคือเหมือนเด็กผู้หญิงพูดกับแม่ว่าจะไปหน้าฮ้าน เป็นการเปลี่ยนความหมายของคำว่า ‘ขาเลาะ’ ที่คนยุคหนึ่งมองว่าเป็นผู้หญิงที่เที่ยวสำมะเลเทเมา ผู้หญิงต้องถูกผูกติดอยู่กับบ้าน ในเพลงจะพูดถึงอายุที่อายุ 20 แล้วนะ แล้วก็มีเพื่อนหญิงพลังหญิงควงแขน ร่วมต่อคิวเต้น รวมท่าจนเสื่อกระพือ ดูแลกันเหมือน Sex and the City
ว่าหนูไม่เด็ดเคยเสร็จหนูยัง, บีบี คัพเค้ก
“ว่าหนูไม่เด็ดเคยเสร็จหนูยัง
เคยได้กับหนูกี่ครั้งลองเล่าให้ฟังหน่อยซี้
ที่บอกกับใครว่าหนูไม่ดี แล้วพี่เคยได้หนูยังอะ”
มาตามสไตล์สาวใต้ ในความสัมพันธ์ชายหญิงเราจะเจอการ ‘ครหา’ ฝ่ายหญิงประมาณว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีและเคยผ่านมือตัวเองมาแล้ว อันเป็นการคุยโวที่ค่อนข้างเป็นพิษ เพลงว่าหนูไม่เด็ดฯ ก็เลยเป็นการหวดกลับถึงการพยายามลดค่าผู้หญิงของผู้ชาย คือใช้วิธีตาต่อตา พูดกันตรงๆ ปากไม่ดีระวังปากแตกได้ แล้วที่ว่าเคยได้แล้วไหนว่ามาซิ ด้านหนึ่งก็เหมือนกับว่าปกติแล้วผู้หญิงจะถูกด้อยค่า และด้วยข้อห้ามเรื่องการพูดเรื่องเพศก็เลยทำให้พวกเธอต้องยอมเป็นขี้ปาก สำหรับเพลงก็พิเศษตรงการใช้คำว่าเสร็จ ซึ่งเป็นการกลับตำแหน่งที่ปกติสังคมจะมองว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียและเป็นฝ่ายถูกกระทำ
รุ่นนี้บ่มีคำว่าเหงา, ตั๊กแตน ชลดา
“หัวใจไร้คนเคียงคู่ แต่การเป็นอยู่ร่าเริงสดใส
หมดยุควิ่งตามผู้ชาย บ่มีคู่ใจบ่อดตายดอกเด้อ
หาเที่ยว หากิน ฟินเว่อร์ นัดเพื่อนเจอกันหน้าฮ้านหมอลำ”
ส่งท้ายด้วยการกลับมาของคุณแม่ตั๊กแตน ชลดา จากภาพของสาวโรงงาน ภาพผู้หญิงที่เคยถูกทิ้ง เคยรอผู้ชาย มายุคปี ค.ศ.2020 ตั้กแตน ชลดา ขี่ม้าข้ามทุ่งกลับมาพร้อมกับการประกาศตนว่าพอใช้ชีวิตมาพักหนึ่งแล้ว เพลงน้องๆ คนอื่นอาจจะวิ่งตามผู้ชายอยู่ แต่สาวรุ่นใหญ่อย่างเธอไม่จำเป็นแล้ว เธอไม่ต้องการผู้ชาย เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีเงิน เป็นโสด ใช้เงิน ใช้ชีวิต ก้าวไปข้างหน้า ไม่เหงา มีความนานาชาติ ก็คือลบภาพสาวที่นั่งร้องไห้ เก็บความรวดร้าว เช็ดน้ำตาอยู่เงียบๆ คือไม่มีแล้วจ้าไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ไม่ต้องมีฟงแฟน สวย รวย มั่นใจ สะบัดเปียใส่ผู้ชายสวยๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก