มันคือความจริงที่เจ็บปวด—หลายวันมานี้ มีข่าวให้เราเห็นถึงด้านที่น่าเศร้าในสังคมไทยไม่เว้นแต่ละวัน
เมื่อเช้านี้ผมได้อ่านข่าวผู้หญิงวัย 43 ปีที่จังหวัดบุรีรัมย์ พยายามฆ่าตัวตายเพราะเครียด เนื่องจากรายได้ไม่พอใช้จ่ายและต้องแบกรับหนี้สินจำนวนมาก ขณะเดียวกัน สามีของเธอที่เคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้กลับมาอยู่ที่บ้านอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ COVID-19
สามีและภรรยาคู่นี้ทะเลาะกันอย่างหนัก จนภรรยาตัดสินใจว่าอยากจะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายแล้วลูกสาวก็เข้ามาขอร้องจนสถานการณ์คลี่คลายยิ่งขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อหลายวันก่อน ข่าวในโทรทัศน์หลายช่องนำเสนอภาพที่ชาวบ้านเดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอคำตอบว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท ทั้งที่คุณสมบัติของพวกเขาน่าจะเข้าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้ว
หลายคนตั้งคำถามกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และหลายคนที่ถึงกับร้องไห้ออกมาเพราะเจ็บปวด และเครียดจากสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อชีวิตที่ต้องหาเช้ากินค่ำที่แต่เดิมก็ลำบากอยู่แล้ว ได้กลายเป็นสิ่งสาหัสในชีวิตเมื่อ COVID-19 เข้ามา
“ตายเพราะโรคอดตาย ไม่มีเงินกิน” คือเสียงของประชาชนรายหนึ่งที่เดินทางไปกระทรวงการคลัง ที่บอกถึงปัญหาที่สังคมไทยของพวกเรากำลังเผชิญกันได้เป็นอย่างดี
เมื่อพวกเราอยู่กับโรคระบาดมาหลายเดือน มาถึงตรงนี้ คำว่า หยุดอยู่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อ มันก็ถูกตั้งคำถามด้วยเหมือนกัน แน่นอนว่า การหยุดอยู่บ้านคือมาตรการที่น่าจะดีที่สุดแล้ว เพื่อป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาด (อันนี้ต้องขีดเส้นใต้ย้ำหนักๆ เอาไว้เลย ว่าการกักตัวอยู่บ้านคือเรื่องที่เราควรทำกันอยู่แล้ว)
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็คงไม่สามารถพูดกันได้ง่ายๆ ว่า ทุกคนจะแบกรับมาตรการ Social Distancing นี้ได้เท่าเทียมกัน หลายคนต้องจำเป็นเสี่ยงออกไปทำมาหากินข้างนอกบ้าน เพื่อเอาชีวิตรอดจากความอดยากในแต่ละวันด้วยเหมือนกัน
งานวิจัยพบว่าคนจนได้รับผลกระทบมากที่สุด
กลุ่มนักวิชาการและนักวิจัย จาก 6 มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแถลงถึงการสำรวจเรื่อง ‘ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง’ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 18 จังหวัด เป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 เมษายน และเก็บแบบสำรวจได้ทั้งหมด 507 ชุด
อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปผลการวิจัยว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนจนเมืองเกือบทั้งหมด (89.90 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าพวกเขาได้ ‘ปกป้องตัวเอง’ ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย
ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ตรงข้อค้นพบที่ว่า คนจนเมืองที่ตอบแบบสอบถามกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า อาชีพที่พวกเขาทำอยู่นั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้
“ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐ ที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลาง หรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงาน โดยเครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้” เอกสารงานวิจัย ระบุ
ส่วน อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงข้อสังเกตเรื่องมาตรการเยียวยาจากรัฐ โดยเสนอถึงการปรับหลักคิดเรื่องการเยียวยาจากรัฐ จากเดิมที่มักมองว่ามันคือการสงเคราะห์ผู้เดือนร้อน ให้เป็น การให้สวัสดิการถ้วนหน้า
“มันเป็นนโยบายสังคมสงเคราะห์ มันจะพุ่งเป้าไปยังคนยากคนจน พอจนยากคนจนปุ๊ป คนก็ต้องมามีเกณฑ์ว่า จนไม่จน เหมือนกรณีนี้คือได้รับผลกระทบ หรือไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งความยุ่งยากก็คือว่า เวลาจะบอกว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานรัฐยังไม่ได้มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอ” อ.สมชาย อธิบาย
“ครั้งนี้มันเป็นผลกระทบขนาดใหญ่ และคนได้รับผลกระทบกว้างขวาง น้อยมากที่จะหาคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ เราจึงเสนอว่า นโยบายที่รัฐจะขยับครั้งนี้มันต้องคิดถึงในฐานะที่รัฐกำลังจะสร้างสวัสดิการทางสังคม เพื่อทำให้ประชาชนรับมือกับไวรัสครั้งนี้”
อ.สมชาย ยังได้อธิบายต่อถึงสภาวะทางการเงินที่คนยากจนกำลังต้องสู้อยู่เอาไว้ด้วย “เราพบว่า มีกลุ่มคนที่ซึ่งกว้างขวางพอสมควร ที่ไม่อาจจะอยู่บ้าน ที่ไม่อาจจะ work from home และรวมถึงมีเงินเก็บที่จะพยุงตัวเอง เงินเก็บน้อยมาก อยู่ได้ไม่นาน บางคนอาจจะอยู่แทบไม่ได้เลย ข้อมูลที่เราเก็บมา พยายามฉายให้เห็นภาพคนที่อยู่ในสังคม และต้องเผชิญปัญหากับไวรัสครั้งนี้รุนแรงเป็นอย่างมาก”
ข้อมูลและข้อสังเกตจากกลุ่มนักวิชาการในครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพว่า ไม่เพียงแค่คนจนในเมืองจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่พวกเขายังต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงในภายนอก เพราะอาชีพที่เขาทำอยู่ในทุกวัน มันไม่สามารถ work from home ได้
พอสรุปงานวิจัยมาถึงตรงนี้ ผมก็นึกถึงภาพกลุ่มประชาชนที่เดินทางไปกระทรวงการคลังขึ้นมาอีกครั้ง และประโยคที่ว่า ‘อาจจะอดตายก่อนติดไวรัส’ ก็ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้นหลายเท่าตัวทีเดียว
คำถามคือสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะมองกันได้เพียงแค่เป็น ‘กระบวนการคัดสรรทางธรรมชาติ’ แต่มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม ที่ทำให้คนที่ไม่ได้มีความแข็งแรงทางการเงิน ต้องเดือดร้อนมากกว่ากลุ่มอื่น ความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ คือสิ่งนี้พวกเราไม่สามารถจะเบือนหน้าหนีไปได้ เพราะพวกเราเองก็ต่างยืนอยู่บนความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
เมื่อพวกเราคือส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ และการเห็นอกเห็นใจคือสิ่งสำคัญในสังคม
เวลาเราพูดถึงคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เป็นพื้นฐานคือ ปัญหาเรื่องการเข้าถึง-ถือครองทรัพยากรทางสังคมได้ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อช่องว่างระหว่าง คนที่เข้าถึงทรัพยากร กับ คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร ถูกถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนแต่ละฐานะล้วนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ด้วยกันทั้งหมด
คนที่มีก็มีมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่มี ก็เจ็บปวดมากขึ้นเหมือนกัน เมื่อไวรัสเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วโลก (ไม่เพียงแค่ประเทศไทย) คนที่ยากจนก็รับมือกับมันได้ยากมากกว่า เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งรายได้แบบเดิม และเข้าไม่ถึงทรัพยากรและเงินที่จะช่วยผยุงชีวิตกันได้ง่ายๆ
“การลงพื้นที่สัมภาษณ์พบว่า บางบ้านไม่มีทีวีจะดูแล้ว เพราะเอาไปจำนำ นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบแบบสอบถาม 26.05 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย” นักวิชาการ ระบุ
แทนที่การกล่าวโทษว่า คนจนไม่สามารถปรับตัวได้ และพาตัวเองไปเสี่ยงติดเชื้อ หรือไม่ยอมสู้เพื่อส่วนรวม สังคมไทยอาจจะจำเป็นที่ต้องช่วยกันรักษาพื้นที่ของ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (empathy) และเข้าใจว่า คนทุกคนไม่ได้มีเรี่ยวแรงต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในช่วงวิกฤตไวรัสได้เท่ากัน
ในทางหนึ่ง พวกเขาอาจจะต่อสู้มากกว่าที่เราเห็นผ่านทางข่าวในทีวีอีกด้วยซ้ำ ความทุกข์ที่พวกเขาสะท้อนผ่านการสัมภาษณ์ของนักข่าว อาจจะมีมากมายกว่าที่เราเห็นได้เหมือนกัน
จริงที่มาตรการกักตัวและ Social distancing คือสิ่งจำเป็นและพวกเราต้องช่วยกัน แต่โจทย์สำคัญที่สังคมช่วยกันคิดด้วยเหมือนกัน คือ เราจะสร้าง ‘New Normal’ หรือมาตรฐานทางสังคมใหม่อย่างไร ที่ไม่ให้คนยากจนต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในวันที่ปัญหาไวรัสแพร่ระบาดและความเหลื่อมล้ำทางสังคมมันผสมกันอยู่ในวิกฤตครั้งนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.posttoday.com/social/local/620980
https://www.youtube.com/watch?v=iH7JzsjpsZg
https://www.facebook.com/104997847844232/videos/610579839537966/
https://www.mcot.net/viewtna/5e9441cee3f8e40af8430947