หากใครเคยเข้าห้องการเมืองในแอพฯ ‘คลับเฮ้าส์’ (Clubhouse) คุณอาจผ่านตาคนที่ชื่อ ‘Rukchanok Srinok’ มาบ้าง
ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงมาก่อน แต่เป็นเจ้าของบัญชีที่มีคนติดตามกว่า 7 หมื่นคน เป็นคนตั้งห้องการเมืองที่มีคนเข้าร่วมหลายพันเป็นประจำ และเป็นเจ้าของประโยคบอกเล่าที่พูดกับ ‘Tony Woodsome’ หรือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ว่า “แค่แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ แต่พวกเราต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เรียกเสียงฮือฮาในค่ำคืนนั้นไม่น้อย หลังจากวันนั้น เธอยังปรากฏตัวในคลิปสั้นๆ ที่ถ่ายจากหน้าศาลอาญา (การชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ.2564) เนื้อหาคือการวิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชนต่อการนำเสนอข่าวการชุมนุม
เพียงเท่านั้นก็ชัดเจนว่า เธอคืออีกหนึ่งคนที่ตื่นตัว ติดตาม และแสดงออกในเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น
แต่ย้อนไปตอนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์) เธอคือคนที่แทบไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง มองว่าม็อบไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และในนามของความรัก บางครั้งเธอก่นด่าคนคิดต่างด้วยถ้อยคำหยาบคาย
“เราเคยเป็นสลิ่มแบบที่พูดกันทุกวันนี้เลย” เธอพูดถึงตัวเองในอดีต
ช่วงเวลานั้น เธอแสดงความคิดเห็นของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2557 และชื่นชมนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การตั้งคำถามจากคนรอบตัวทำให้เธอฉุกคิดครั้งแล้วครั้งเล่า บนทางแยกของการเก็บหรือปล่อยความเชื่อเดิม เธอค่อยๆ ย้อนมองตัวเอง ศึกษา ทบทวน และลงไปสัมผัสชีวิตคนในม็อบ ก่อนจะรื้อถอนความศรัทธาคับแคบไปสู่การเปิดกว้างทางการเมือง จนทุกวันนี้ เธอกลายเป็นขาประจำของคลับเฮ้าส์และการชุมนุมทางการเมือง
การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปี เราจึงสนใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง
จริงหรือไม่ว่า การเติบโตของเด็ก สู่วัยรุ่น จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ หาใช่ชีวิตที่งอกงามอย่างเป็นอิสระ เราต่างถูกหล่อหลอมผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ นั่นหมายความว่า เส้นทางชีวิตของเธอคงคล้ายกับใครหลายคนในสังคมไทย — คนที่เคยเชื่อในอะไรบางอย่างสุดหัวใจ พร้อมทุ่มเถียงและฟาดฟัน โดยหาได้สนใจคุณค่าความเป็นมนุษย์เลย
ทั้งหมดนี้คือความคิดเห็นของเธอ คุณไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แย้งได้ เถียงได้ หรือด่าก็ยังได้ เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว
ขอแค่อย่าเพิ่งไล่ใครออกไปนอกประเทศก็พอ
เรื่องการเมืองเข้ามาในชีวิตคุณตอนไหน
เราเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี พ.ศ.2555 ตอนนั้นเรื่องการเมืองแทบจะเป็นศูนย์ เคยดูข่าวมาบ้าง เห็นว่ามีม็อบต่างๆ แต่มองว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรา ม็อบไหนก็น่ารำคาญ ผู้ใหญ่บอกว่า “ม็อบสร้างความวุ่นวาย” เราก็ฟังมาแบบนั้น คนแถวบ้านไปมาหลายม็อบ แล้วเล่าว่าได้เงิน ถ้าไม่ได้เงินก็กินข้าวฟรี เขาออกไปทำไมวะ เพราะได้เงินเหรอ คนออกมาเยอะเพราะจ่ายเงินใช่ไหม
เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า คนไทยต้องรักเจ้า และทักษิณโกง เราเชื่อโดยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ทำไมต้องรัก และโกงอะไร เราได้ยินมาว่าเป็นธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเสื้อแดง พอเข้าไปเจอเพื่อนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันอย่างเผ็ดร้อน เราไปเอาคำว่า ‘วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน’ มาซ้อนทับกับคำว่า ‘เสื้อแดง’ ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมเป็นแบบนั้น แต่ตอนหลังถึงเข้าใจ
เราถูกทำให้เชื่อว่า ‘เสื้อแดงคือล้มเจ้า’ ถ้าใครวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ก็ล้มเจ้า ก็เป็นเสื้อแดง
จำได้ว่าตอนรับน้อง เพื่อนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันด้วยความสุภาพ เราเงียบ หน้าสั่นเลย ทำยังไงดีวะ สำหรับเราตอนนั้น แตะต้องอะไรนิดหน่อยก็ไม่ได้เลย แค่เรียกชื่อเฉยๆ ว่า “ภูมิพล” ก็ไม่ได้แล้ว (สูดหายใจลึกๆ) ต้องเรียกแบบมียศนำหน้า เรียกว่าในหลวง หรือเรียกอะไรที่สุภาพกว่านั้น พอเป็นแบบนั้น เราเลยเลี่ยงที่จะคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อน
พอเกิดการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2557 สิ่งที่เราคิดคือ รัฐประหารสักที ม็อบจะได้จบไป แล้วก็จบจริงๆ ตอนนั้นเรารักลุงตู่มาก โพสต์สเตตัสชื่นชมว่า ลุงตู่ทำให้บ้านเมืองสงบ ดีมากเลย เริ่มมีคนหัวก้าวหน้ามาคอมเมนต์ว่า “รู้หรือเปล่าว่ารัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลังไปสิบปีเลย” แต่เราไม่เชื่อ ถอยหลังยังไงวะ พอมีรัฐประหาร ประเทศก็สงบ ก็ดีไง เลยไปตั้งสเตตัสประมาณว่า “ใครบอกว่าประเทศจะถอยหลังสิบปี ไม่เชื่อหรอก” ตอนนั้นใครมาบอกอะไรก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณตั้งคำถามกับรัฐบาททหารคืออะไร
ครั้งแรกๆ ที่เริ่มเปลี่ยนคือ เราแชร์รูปหมา (ทองแดง) เลียหน้าลุงตู่ โพสต์นี้ดังมาก ภาพนั้นมีคำบรรยายประมาณว่า ถ้าไม่จงรักภักดี คุณทองแดงจะเห่า เราอ่านแล้วแชร์ พร้อมกับเขียนแคปชั่นว่า “เนี่ยแหละ คนที่พ่อเลือก” มีเพื่อนมาพิมพ์ว่า “แค่หมาเลียหน้าแปลว่ามีความชอบธรรมแล้วเหรอ” “แค่หมาเลียหน้าแปลว่าเป็นคนดีแล้วเหรอ” เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าตัวเองตื้นเขินมาก เอาไม้บรรทัดอะไรมาวัดความชอบธรรมและความเป็นคนดี เราไม่ได้ตอบะไร แต่คิดว่าต่อไปถ้าจะชมลุงตู่ต้องเลือกเรื่องที่มีเหตุผลมากกว่านี้
เราเรียนธรรมศาสตร์ก็ต้องใช้รถตู้บ่อย พอมีข่าวว่ารัฐบาลจัดคิวรถตู้ และมีเรื่องจัดการทุจริตข้อสอบอะไรสักอย่าง เราโพสต์ชื่นชมยาวมาก ประเทศเรากำลังดีขึ้น มีการจัดการวินรถตู้ ช่วงนั้นมีข่าวเรื่องจัดการทุจริตข้อสอบ โน่นนั่นนี่ มีคนมาคอมเมนต์ว่า “การจัดการรถตู้เป็นหน้าที่ทหารเหรอ” “ทำไมรัฐบาลไม่จัดการขนส่งมวลชนให้ดีทั้งระบบ’ เราก็ไม่ตอบ แต่เริ่ม เออ ว่ะ หลังจากนั้นเวลาเราโพสต์อะไร มักมีคนมาคอมเมนต์แบบนี้เรื่อยๆ จนเราเริ่มถามตัวเองว่า หรือเราเองที่มีความคิดผิดฝาผิดตัว พอมีข่าวว่ารัฐบาลทุจริตโครงการต่างๆ เราเริ่มไปหาอ่านมากขึ้น ช่วงนั้นมีคนอ่านหนังสือ 1984 เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เขาก็ถูกจับ เราเกิดความคิดว่า หรือว่ารัฐประหารมันไม่โอเควะ
เวลาผ่านไป เราเริ่มไม่ชอบรัฐประหารแล้ว ประเทศสงบจริง แต่ไม่ได้สงบสุข แค่สงบโดยการเอาปืนจ่อหัวว่า “มึงอย่าพูด!” การรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะชนชั้นนำต้องการรักษาอำนาจ สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนอย่างมากคือทวิตเตอร์ ในนั้นมีคนบ่นขึ้นมาว่า “มึง เคยคิดหรือเปล่าว่า ทำไมเปิดวังให้คนเข้าไป (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี พ.ศ.2516) ถึงไม่สั่งให้คนหยุดยิง” “ใครเป็นคนเซ็นรัฐประหาร” การเปลี่ยนของเราค่อยๆ เปลี่ยนจากชอบรัฐประหาร มาเป็นกลางๆ และไม่ชอบรัฐประหาร เปลี่ยนจากความเป็นรอยัลลิสต์เป็นลิเบอรัลโปรเกรสซีฟ (Liberal-Progressive) ต้องใช้เวลาหลายปี เอาจริงๆ เราเพิ่งมาหูตาสว่างช่วงก่อนรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 นี่เอง
ถ้ามองย้อนกลับไป ความเชื่อแบบนั้นเกิดขึ้นได้ยังไง
เวลาศาสนาพุทธสอนว่า คนมีบุญจะเกิดในชนชั้นดีๆ เป็นคนรวย เป็นกษัตริย์ เราก็เชื่อแบบนั้น เพราะตอนนั้นเราอธิบายตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมฉันถึงจน การเชื่อเรื่องบุญกรรมเป็นอะไรที่ย่อยง่าย ขณะเดียวกัน เรามองว่าคนจนเพราะว่าขี้เกียจ เพราะไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ แต่พอได้เข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างมากขึ้น มุมมองแบบนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ เราได้ไปเวิร์กแอนด์ทราเวลที่อเมริกาตอนเรียนปี 4 เราทำงานแค่ 4 วัน ยังไม่ได้จ็อบสองเลย เป็นงานแม่บ้านในโรงแรม ถ้าเป็นเมืองไทยก็งานที่คนดูถูก แต่เราได้เงินพอใช้ชีวิตอย่างเป็นพลเมืองปกติ ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม มีวันหยุด มีชีวิตที่ดี แถมยังมีเงินเหลือกลับมาเที่ยวที่ไทยอีก ทำไมบ้านเราถึงไม่ได้ค่าแรงแบบนั้นวะ
การใช้ชีวิตที่นั่นเราขี่จักรยาน ก็เกิดคำถามว่า ทำไมบ้านเราไม่มีเลนจักรยาน ขนาดเป็นชานเมืองนะ ยังเจริญกว่าบ้านเราอีก ถ้าเป็นต่างจังหวัดบ้านเราก็ถนนลูกรัง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ทำไมบ้านเราไม่เป็นแบบนั้นวะ แต่เป็นแค่การตั้งคำถาม ยังไม่มีคำตอบ จนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น เป็นเมืองที่ทุกคนไปแล้วมีความสุข รถไฟฟ้ามีเยอะจนงง แต่ตอนนั้นบ้านเรามีสายเดียว หมดแล้ว ทำไมบ้านเราถึงมีรถไฟฟ้าแค่กรุงเทพฯ ญี่ปุ่นมีในโอซาก้า ฮอกไกโด ฯลฯ หรือมันเป็นปัญหาเรื่องการเมืองวะ
พอเราเรียนจบ ขายของ มีเงิน แล้วต้องเสียภาษี เมื่อไรก็ตามที่เราเสียอะไรสักอย่าง เราจะตั้งคำถามว่า เสียไปเพื่ออะไร พอเสียภาษีปุ๊บ เราสังเกตสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น ฟุตบาตเป็นยังไง ถนนเป็นยังไง ไฟส่องสว่างตามซอยเป็นยังไง เราเสียภาษี รัฐเอาไปทำอะไร
พอมีความ เอ๊ะ.. ก็หาอ่านทั้งทางออนไลน์และหนังสือ ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า คนจนไม่ได้เพราะขี้เกียจหรือโง่ โอเค เขาเกิดในครอบครัวที่จน อันนี้ใช่ แต่มันเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาและโครงสร้างทางสังคมด้วย
เราเองมีทุกวันนี้ได้เพราะการศึกษา แต่มันมีจังหวะชีวิตที่เราโชคดีด้วย มีคนเข้าช่วยเหลือตลอด แต่ถ้าคนอื่นไม่โชคดีแบบเราล่ะ ถ้าเขาเข้าไม่ถึงการศึกษา ไม่ได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย คุณจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองยังไง คุณจะบอกว่าคนจนเพราะโง่และขี้เกียจ แต่กรรมกรหลายคนตื่นตั้งแต่เช้าและทำงานจนดึก อะไรกันที่กดทับเขาอยู่
ทุนใหญ่ๆ ที่เสียภาษีมหาศาลคือลูกค้ารายใหญ่ของรัฐ เราเห็นการเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่มทุน มันมีอะไรในระบบที่คนไม่ได้ศึกษาคงไม่เห็น คนตัวเล็กๆ เห็นแต่ชีวิตประจำวันของตัวเอง ถ้าไม่มาศึกษา เรื่องนี้เหมือนเป็นนิทานเลย มันไม่ง่ายที่คุณจะบอกร้านโชห่วยว่า ไม่ใช่เพราะเซเว่นบริหารเก่งอย่างเดียว แต่มันมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่รัฐไม่เห็นหัวประชาชน
เวลาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง มักมีเรื่องเล่าว่า เจ้าสัวบางคนก็เคยจน แต่เขาค่อยๆ ไต่เต้าจนได้เป็นเศรษฐี
คนแบบนั้นเป็นหนึ่งในล้าน มันแค่กี่เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ เราเคยจนมาก่อน ปัจจุบันก็มีทุกอย่าง เราเชื่อว่าความขยันทำให้ตัวเองมีทุกวันนี้ แต่เราไม่เชื่อว่ามันจะเป็นแค่ความขยันอย่างเดียว ไม่มีคนที่แค่ขยันแล้วชีวิตจะพุ่งเป็นมหาเศรษฐีหรอก แต่เกิดจากจังหวะนี้เจอผู้ใหญ่คนนั้น เข้ามาแนะนำ มาตบๆ มาช่วยเหลือ จนได้ไปอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จ
เราไม่ควรเอาคนทั้งประเทศมาผูกไว้กับคำว่าโชคดี
ใช่ ทำไมทุกคนต้องรอความโชคดี รอใครหยิบยื่นให้ แค่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาดีๆ ได้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึง ยังมีความเหลื่อมล้ำ แม้แต่ในกรุงเทพฯ เด็กได้เรียนพิเศษกับเด็กไม่ได้เรียนพิเศษก็ต่างกันแล้ว คุณภาพของครูในแต่ละโรงเรียนก็ไม่เท่ากัน ครูเก่งๆ ก็อยากสอนเตรียมอุดมฯ อยากสอนสาธิตฯ นี่ไง ระบบการศึกษายังไม่โอบอุ้มทุกคนเลย
ในอดีตคุณเคยตั้งสเตตัสถึง อั้ม เนโกะ ด้วยถ้อยคำรุนแรง การโดนขุดมาด่าในปัจจุบัน คุณรู้สึกยังไง
ช่วงนั้นอั้ม เนโกะ ด่ากราดในหลวง ร.9 รุนแรงมาก ขณะที่เรารักมาก ขนาดคิดว่ายอมแลกอายุของตัวเอง 10 ปีเพื่อให้ท่านอยู่ต่อ 1 สัปดาห์ เป็นขนาดนั้นเลย เราเคยพิมพ์ว่า “อยากกระทืบแม่ง” พอมีคนขุดมา เราจำตัวเองตอนนั้นไม่ได้เลย ตกใจ ขยะแขยงตัวเอง มันน่ากลัวมาก เราร้องไห้ ไม่ได้ร้องไห้เพราะโดนด่า แต่ตกใจว่าตัวเองเป็นขนาดนี้เลยเหรอ เราเอาให้แฟนดูแล้วถามว่า “พี่เกลียดหนูไหม” เขาก็บอกเราว่า “ไม่เป็นไรหรอก” เราเคยเป็นสลิ่มแบบที่พูดกันทุกวันนี้เลย ด่าคนด้วยคำเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดร่างกาย เหยียดการศึกษา เราด่าจริงๆ ก็ต้องยอมรับผล
เวลามีคนทำคอนเทนต์ชื่นชมเรา แล้วมีคนเอาไปแปะในกลุ่มสลิ่ม ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่า “อีเด็กร่าน” “หน้าตาอย่างนี้ขายตัวแน่นอน” “เพิ่งโดนเย็ดมาล่ะสิถึงได้ขนาดนี้” เรางงว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับอะไรกับโดนเย็ด (หัวเราะ) แต่พอเราเห็นตัวเองในอดีต เมื่อก่อนมึงก็เป็นแบบนี้แหละ พอเรามองคนไม่เท่ากัน มันทำให้เราเป็นได้ขนาดนั้นเลย
ในใจของคุณคือความรักไม่ใช่เหรอ อะไรทำให้เกิดการกระทำแบบนั้นได้
เราอยู่การโฆษณาชวนเชื่อมาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าโรงเรียน มันไม่ใช่การสอนตรงๆ แต่รัฐพยายามผูกความดีของการเป็นคนจงรักภักดีเข้ากับศาสนา เอาศาสนามานิยามว่าใครเป็นคนดี ซึ่งคนดีหรือไม่ดีก็ผูกเข้ากับสถาบัน ถ้าคิดไม่ดีกับสถาบันจะนรกแดกกบาล ท่านเป็นเทพมาเกิด ตอนนั้นเราก็เชื่อ เออ ใช่ วันพ่อหรือวันแม่ก็ต้องกราบไหว้บูชา ทั้งที่เราไม่ได้รู้หรอกว่าท่านทำอะไร บอกให้เรารักก็รัก
ถ้าคุณเป็นแฟนคลับใครสักคน รักคนนั้นมาก ใครมาด่าก็คงไม่ชอบใช่ไหม แต่นี่ไม่ใช่แค่ความรัก มันคือความจงรักภักดี คนไทยทุกคนต้องรักในหลวง ใครไม่รักคือคนไม่ดี ยิ่งรักมากแปลว่าเราเป็นคนดีมาก ยิ่งเราแสดงออกว่ารักในหลวง เหมือนเราได้สำเร็จความใคร่ในตัวเอง ฉันแสดงออกมาก แปลว่าฉันเป็นคนดีตามบรรทัดฐานที่รัฐกำหนดไว้
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คุณตัดสินใจเลือกพรรคอะไร เพราะอะไร
เราเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพราะเขากล้าแตะกองทัพ ตอนนั้นมีข่าวการเสียชีวิตของน้องเมย (ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1) ก่อนหน้านั้นก็มีทหารเกณฑ์เสียชีวิตด้วย พรรคอนาคตใหม่มีนโยบายที่พรรคอื่นไม่มี พอเลือกแล้วก็ติดตามการทำงาน เออ มันเข้ามาตรฐานที่เขาทำมา แต่ (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีคดีหุ้นสื่อที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้แล้ว) ไปสภาวันแรกก็โดนไล่ออกมา เราเห็นความทุเรศในระบบ พอยุบพรรค (ถอนหายใจ) ถ้าจิตใจไม่บิดเบี้ยวเกินไป ใครก็รู้ว่าไม่ยุติธรรม อีกพรรคมีเรื่องโต๊ะจีนแต่ไม่ตรวจสอบ อันนี้กู้เงินเพราะอยากให้โปร่งใส โดนทันที ม็อบครั้งแรกที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน วันนั้นเราไปยืนดูสักพัก แล้วเดินเข้าไปกินข้าวในห้าง
หลังจากวันนั้น คุณไปม็อบอย่างต่อเนื่องเลยไหม
หลังจากนั้นก็มีวิ่งไล่ลุง แต่ไม่ได้ไป เพราะจัดเช้าเกิน (หัวเราะ) พอวันเฉลิมถูกอุ้มหาย ก็มีม็อบมาเรื่อยๆ ช่วงนั้นเราไม่ได้ไปเลย เราไม่รักเจ้าแล้ว แต่ยังไม่กล้าพูดถึงเขาในแง่ไม่ดี ถ้ามีคนเรียกว่า “ภูมิพล” “วชิราลงกรณ์” เรายังรู้สึกว่าไม่ควรเลย เหมือนเหมือนโดนเข็มจิ้มหรือหยิกที่ใจ แต่เราไม่รักแล้ว พอประกาศ 10 ข้อเรียกร้องต่อสถาบันกษัตริย์ จี๊ดเลย เราไม่คิดว่าจะมีใครกล้า แต่มีคนกล้าแล้ว หลังจากนั้นมา เรารู้สึกว่าความเจ็บจากแรงหยิกเบาลงเรื่อยๆ มันอดคิดไม่ได้นะ ขนาดว่าเราเปลี่ยนแล้ว ยังมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าโดนหยิก แต่คนที่รักมากๆ (เน้นเสียง) เขาจะเหมือนโดนไฟเผาขนาดไหน
หลังจากนั้นเราไปม็อบเรื่อยๆ ไปถือป้ายที่เขียนถึงสถาบันกษัตริย์ วันหนึ่งมีคนเสื้อแดงออกมาร่วม หลายคนอัพสเตตัสด่า “กูไม่ไปแล้ว พวกเสื้อแดงออกมา” เราก็คิดว่า ทำไมวะ คนเสื้อแดงออกมาร่วมกับเยาวชนไม่ได้เหรอ เลยตั้งสเตตัสด่ากลับ (หัวเราะ) จนกระทั่งม็อบครั้งหนึ่งมีการประกาศว่า “ขอคืนความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดง 99 ศพที่ตายไป” เราไม่เคยรู้ว่ามีคนตายเยอะแบบนั้น เรากลับไปหาอ่านบทความ (น้ำตาไหล) อ่านแล้วโกรธตัวเอง โกรธฉิบหาย ตอนนั้นเราไม่เคยด่าคนเสื้อแดงก็จริง แต่เราเกลียดโดยไม่รู้ว่ามีคนตาย เกลียดทั้งที่ยังไม่รู้จักอะไรเลย
เราเคยมองว่า คนเสื้อแดงคือหัวรุนแรง เป็นพวกล้มเจ้า เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง น่ารังเกียจ ตอนนั้นเราแฟลชแบ็กกลับไปว่า เรายืนอยู่ตรงนี้ มันเหมือนเขาที่ยืนตรงนั้น ที่ตอนนั้นคนเสื้อแดงโดนหาว่าล้มเจ้า ก็เป็นเหมือนเราตอนนี้ เราเอาตัวเองไปทาบทับกับเขา (เงียบคิด) ตอนนั้นเรารู้สึกว่า ขอโทษ (เงียบนาน น้ำตาไหล) เราอยากขอโทษพวกเขา
เวลาไปม็อบแล้วเจอคนเสื้อแดงรวมกลุ่มเต้น เราก็ไปยืนดูแล้วปรบมือ เราอัพสเตตัสดีเฟนด์ให้คนเสื้อแดง มีคนแชร์ไปบ้าง เพื่อนบางคนมาคุยกับเราว่า “เฮ้ย ไอซ์ กูไม่ได้ตามมึงมานาน เปลี่ยนไปขนาดนี้แล้วเหรอ” เขาบอกว่า “มึงรู้หรือเปล่า เมื่อก่อนกูไม่กล้าทักหามึงเลยนะ มึงน่ากลัวมาก รักเจ้าแล้วด่าไปหมด” มีคนมาบอกหลายคนเลย
วันที่เรามีพื้นที่ในคลับเฮ้าส์ ทุกครั้งที่มีการชุมนุม เราจะบอกสิ่งนี้กับทุกคน คนเสื้อแดงตาย 99 ศพ เรามองลึกไปมากกว่านั้น มองทาบทับกับตอนนี้ ทำไมเขาถึงโดน เพราะสื่อหลักประโคมข่าวคนเสื้อแดงในทางไม่ดีตลอด หล่อหลอมให้คนจำนวนมากคิดแบบนั้น ข่าวจากสื่อหลักทุกวันนี้ยังบอกเลยว่า ผู้ชุมนุมทำร้ายตำรวจ น้อยมากที่จะออกข่าวว่าผู้ชุมนุมบาดเจ็บจากโดนกระสุนยาง หรือสัมภาษณ์คนโดนฉีดน้ำ โดนยิง โอเค คนเจนนี้อาจไม่ดูทีวีแล้ว แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังดู ทำให้เขาได้รับความเข้าใจผิดๆ ไป มันคือการฉีกกระชากประเทศให้เป็นสองฝั่ง
ในโซเชียลมีเดียเผยแพร่คลิปที่คุณยืนพูดกับสื่อเรื่องการนำเสนอข่าว เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังหน่อย
วันนั้นหน้าศาลอาญามีสื่อมารวมกันเยอะ พี่คนนึงตะโกนว่า “ยกเลิก 112 ยกเลิก 112 ยกเลิก 112” แล้วสักพักก็เงียบ เราเห็นสื่อเยอะเลยตะโกนไปว่า “ถ่ายไปเนี่ย เอาไปออกบ้างนะ ช่องหลักน่ะตัวดีเลย ไม่ใช่ไปลงแค่พวกหนูขว้างปาตำรวจ แต่ลงบ้างว่าก่อนหน้านั้นตำรวจทำอะไร” เราอยากพูดอะไรมากกว่านี้ แต่ไม่กล้า อีกใจก็บอกตัวเองว่า ตรงนี้สื่อครบเลย ถ้าไม่พูดตอนนี้ ม็อบหน้าอาจไม่มีโอกาสแล้ว
เราหันไปเจอนักข่าวเนชั่นพอดี ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เนชั่นเป็นยังไงแล้ว แต่ก็ตัดสินใจพูดกับเขาดีๆ ด้วยเสียงดังว่า “พี่คะ รายงานข่าวให้เป็นกลางหน่อยนะ ผู้ชุมนุมโดนทำร้ายก็เอาไปออกบ้าง” ตอนแรกเขาเหมือนจะเดินหนี แต่พอเดินหนีไม่ได้ เลยยื่นไมค์ให้พูดเลย “ช่อง 3 7 9 เราดูหมดเลยว่ารายงานยังไง ช่อง 3 พูดมาได้ยังไงว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง” เพื่อนเราอยู่ตรงที่ช่องนั้นรายงาน เขาไปออกว่าไม่มีความรุนแรง ทั้งที่ตอนนั้นมีการฉีดน้ำและแก๊ซน้ำตา มีคนตะโกนใส่ด้วยว่า “ตอแหล!” แต่พอออกอากาศเขาก็ตัดออก
เรามองว่าสื่อมีผลให้คนเกลียดกัน มันคือการสร้างความชอบธรรมให้รัฐมาใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าสิ่งที่สื่อทำอยู่จะไม่เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รู้ได้ยังไงว่าครั้งหน้าจะไม่ใช่กระสุนจริง
วันนั้นเราพูดมากกว่านั้นอีกว่า “ถ้าพวกพี่รายงานเป็นกลางมากกว่านี้ นำเสนอว่าฝั่งผู้ชุมนุมมีความรุนแรง ก็นำเสนอความรุนแรงจากฝั่งรัฐด้วย มันจะไม่สร้างความเกลียดชังให้คนในประเทศ ถ้าวันหนึ่งการเมืองดี สื่อมีเสรีภาพ พวกพี่จะไม่โดนทหารมานั่งเฝ้า พี่ช่วยกันได้ไหม”
วันนั้นเราเขียนป้ายว่า ‘ที่ปลอดภัยที่สุดของสถาบักษัตริย์คือใต้รัฐธรรมนูญ’ พอเราเอาป้ายขึ้น บอกนักข่าวไปว่า ถ่ายป้ายไปด้วย ช่างภาพรีบเอากล้องลงเลย จนเราต้องพูดว่า “ไม่ต้องถ่ายก็ได้ แต่ฟังก่อน” (หัวเราะ)
ทุกวันนี้ม็อบมีหลายกลุ่ม หลายประเด็น และหลายวิธีการ คุณเลือกไปม็อบยังไง
ถ้าว่างเราก็ไปทุกม็อบ เราเห็นด้วยกับทุกข้อเรียกร้อง ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เรามองว่า make sense แต่ถ้าคนเป็นรอยัลลิสต์ได้ยินคงเหมือนโดนหยิกในใจ
มองความรุนแรงในม็อบยังไง
ถ้ามีข่าวว่าผู้ชุมนุมพ่นสี หลายคนเข้าใจว่าอยู่ดีๆ ก็ไปพ่นสี ไปสาดสี แต่ก่อนหน้านั้นเขาอาจโดนสลายการชุมนุมมา มีวันหนึ่งเราอยู่ในการสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย รถน้ำฉีดมาเป็น 10 รอบ โดนแก๊สน้ำตาอีกหลายรอบ วันนั้นเราเป็นอาสาพยาบาลเอาน้ำผสมนมไปล้างตา ทั้งโกรธทั้งแค้น แต่ไม่รู้จะทำยังไง การกระทำนั้นมีที่มาบางอย่าง เหมือนเราโดนต่อยมา แต่ไม่ได้ต่อยกลับด้วย แค่สาดน้ำกลับ มันไม่เท่าเทียมกันด้วยซ้ำ แต่สื่อไม่นำเสนอที่มาของการกระทำนั้นเลย
คนรอบตัวมองการแสดงออกของคุณยังไง
เราอยู่กับแม่บุญธรรม เขาก็ไม่อยากให้ไป ถ้าวันไหนขอไม่ให้ไป เราก็ไม่ไปวันนั้น แล้วไปวันอื่นแทน (หัวเราะ) พี่ๆ ในบ้านก็ไม่อยากให้แสดงออกมาก เราก็รับปากว่าจะเบาลง พี่ป้าน้าอาก็บอกว่า “อย่าไปด่าเลย เดี๋ยวเขามาอุ้มหรอก” เราเลยถามกลับว่า “ถ้าผู้มีอำนาจอุ้มคนโดยไม่ผิดกฎหมาย ทำไมถึงยอมให้เกิดขึ้นล่ะ” เขากลับบอกว่า “เราก็ไม่รู้ว่าทำจริงหรือเปล่า” เดี๋ยวนะ เพิ่งบอกว่าเดี๋ยวโดนอุ้ม แต่มาบอกว่าอาจไม่ได้ทำก็ได้ สุดท้ายก็พูดกับเราว่า “มึงก็เป็นซะอย่างนี้”
มองว่าการไปม็อบช่วยให้ประเทศชาติดีขึ้นยังไง
การไปม็อบอาจไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้น แต่เราออกไปแสดงพลังให้รัฐเห็นว่า พวกกูจะไม่อยู่นิ่ง
หลายคนบอกว่า ออกมาก็ไม่ชนะหรอก แล้วยังไง คุณจะอยู่บ้านเฉยๆ เหรอ การออกมายืนในที่สาธารณะให้คนเยอะๆ ทำให้เขาเกรงกลัว เห็นว่าเรามีอำนาจต่อรอง มันดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ แล้วบอกว่า “ไม่สำเร็จหรอก”
ถ้ามีคนมาถามต่อหน้าว่า คุณไปม็อบเพื่ออะไร คุณจะอธิบายยังไง
เราจะถามเขาว่า “รู้ไหมว่าม็อบเรียกร้องอะไร” ถ้าเขาบอกว่า “ก็ล้มล้างสถาบันไง” เราจะบอกว่า “ไม่ใช่ เข้าใจผิด ปฏิรูปกับล้มล้างไม่เหมือนกัน” หลังจากนั้นก็คุยต่อ เราจะอธิบายว่าม็อบเรียกร้องอะไร ปัญหาเชิงโครงสร้างคืออะไร บางคนใจกว้างก็ฟังต่อ บางคนไม่อยากฟังก็แค่เลิกคุย
การเป็นคนดังในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในคลับเฮ้าส์ ทำให้โดนจับตาจากทั้งคนชอบ คนไม่ชอบ และคนจากฝ่ายรัฐ คุณรู้สึกยังไงบ้าง
เราโดนทำคอนเทนต์ด้อยค่าแล้ว เช่น อีรักชนกหิวแสง อีกระหรี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นพวก sexual harassment เราไม่สนใจคำหยาบพวกนี้เลย แต่ถ้าใครบอกว่า “ขี้ข้าทักษิณ” “รู้ไหมว่าทักษิณโกง” เราจะเข้าไปถามว่า “ทักษิณโกงยังไงเหรอคะ” คิดเอาเองว่าอาจทำให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเราได้
กังวลเรื่องความปลอดภัยบ้างไหม
กลัวนะ กลัวโดนข้อหา กลัวโดน 112 กลัวจะโดนความรุนแรงจากรัฐ กลัวโดนอุ้ม แต่เราจะไม่เลิกทำ ถ้าคนกลัวกันหมดก็ไม่มีใครทำอะไร ถ้าแกนนำเคยทำให้เรากล้าออกมา เราทำแบบเดียวกันคงส่งผลให้คนอื่นกล้าบ้าง เราตั้งห้องในคลับเฮ้าส์ ด่านั่นด่านี่ แล้วพูดตลอดว่า “ทุกคนออกมาตั้งห้องกันเถอะ” “ทุกคนพูดถึงประเด็นสังคมกันเถอะ” “ทุกคนพูดถึงเรื่องที่คุณเดือดร้อนกันเถอะ” เชื่อเถอะว่ามีคนสนใจแน่นอน ห้องคนรวยมาอวยกันเองมีคนฟังไม่กี่ร้อย แต่ห้องการเมืองมีคนฟังเยอะเลย ช่วงแรกเราเคยมีคนติดตามหลักร้อย ก็ตั้งห้องแล้วมีคนมาฟังมาพูด มันคือบรรยากาศที่เราอยากให้เกิดขึ้น
การส่งเสียงเยอะๆ จะช่วยให้เกิดอะไรขึ้น
มันทำให้รัฐเกิดความรู้สึกว่า พวกเรามีอำนาจต่อรอง ไม่ได้นั่งเฉยๆ แล้วให้เขาทำอะไรก็ได้ หลายคนบอกว่า บ่นในโซเชียลไม่มีผลอะไรหรอก บ่นไปก็แค่นั้น เราไม่เชื่อนะ อย่างกรณีฌอน (ฌอน บูรณะหิรัญ) หรือกรณีของเนชั่น คุณจะบอกว่าไม่ได้มาจากโซเชียลเหรอ ถ้าการพูดในโซเชียลไร้สาระ ทำไมแบรนด์ใหญ่ๆ ต้องมาทำการตลาดในโซเชียล ทำไมต้องมี IO แปลว่ามันสำคัญ ถ้าคุณไม่พร้อมมาม็อบ พิมพ์ปัญหาของคุณออกมาสิ รู้อะไรก็เล่า
การออกไปม็อบอันตรายไหม
ถ้าปราศจากความรุนแรงจากรัฐ ม็อบไม่มีอะไรเลยนะ คนออกมาในที่สาธารณะ นั่งฟังปราศรัย ชูป้ายสิ่งที่เรียกร้อง แล้วก็กลับบ้าน สิ่งที่ทำให้ม็อบน่ากลัวคือความรุนแรงที่มาจากรัฐ
หลังจากแกนนำโดนจับไปหลายคนแล้ว คุณมองว่าตัวเองจะแพ้ไหม หรือมองว่าชนะเพราะเวลาอยู่ข้างเรา
เวลาไม่ได้อยู่ข้างเราหรอก มันก็อยู่ข้างรัฐด้วย ถ้าเขามีทรัพยากร มีอำนาจเงินภาษีจากประชาชน มีความชอบธรรมในการใช้กฎหมาย มีกองทัพ มีอาวุธ ถ้าคำว่าชนะคือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจต่างๆ ถามนักวิชาการปริญญาสิบเจ็ดใบก็ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน แต่ถ้าถามว่าสังคมจะกลับไปเหมือนเดิมไหม เราเชื่อว่าไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนไปทุกวันด้วย
เราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะไปสุกงอมวันไหน แต่วันนี้เรากำลังเดินไปสู่จุดนั้น อาจเป็นปีนี้ อีก 2 ปีตอนเลือกตั้ง 6 ปีตอนเลือกตั้งอีกครั้ง หรือ 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นวันไหน เราเชื่อว่าสังคมไทยไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว
Photo by Asadawut Boonlitsak
Illustration by Waragorn Keeranan