“ผมเป็นคนมีกรรม”
หลังเหตุสลายการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากจบลงไปไม่ถึงเดือน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)’ โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ ตรวจสอบและค้นหาความจริง เยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ และหามาตรการไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงซ้ำอีกในอนาคต
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ต้องเดินทางมายังบ้านพักส่วนตัวของข้าราชการอัยการเกษียณย่านบางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อเชิญเขาไปเป็นประธาน คอป. ในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงกฎหมาย
คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด จึงตอบรับงานใหญ่เป็น ‘ครั้งที่สาม’ ในชีวิต หลังเคยเข้าร่วมตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535 ชุดที่มีโสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ที่เมื่อทำงานจบ “ผมก็ไม่เคยได้เห็นตัวรายงานสรุปอีกเลย” และเคยเข้าร่วมตรวจสอบนโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ.2546 ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตนับพันในฐานะประธาน คตน. พร้อมสรุปว่าเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crime against humanity) “แต่รัฐบาลขณะนั้น (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็ไม่เห็นจะเอาไปทำอะไรต่อ”
ตลอด 2 ปี ที่ทำงานในฐานะประธาน คอป. ไม่เพียงเผชิญอุปสรรคจากฝ่ายผู้ชุมนุม เพราะมองว่าถูกตั้งมาโดยคู่ขัดแย้ง
เมื่อรายงานสรุปข้อเท็จจริงถูกเผยแพร่ออกมา ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก (เพราะไปเน้นย้ำบทบาทของ ‘ชายชุดดำ’ ค่อนข้างมาก) ว่าเป็นการออกใบอนุญาตให้รัฐบาลขณะนั้นและกองทัพพ้นผิดไม่ต้องรับโทษ
ในอีกด้านหนึ่ง หลายๆ ข้อเสนอเพื่อพาประเทศออกจากวังวนความขัดแย้ง ก็ถูกเมินเฉย
สิบปีผ่านไป คณิตจึงพูดได้เต็มปากว่า “ไม่มีใครทำอะไรเลย”
แม้จะยืนกรานว่า ภารกิจของ คอป.ในวันนั้น “ยังไม่ล้มเหลว” ก็ตามที
ทศวรรษแห่งความว่างเปล่า
The MATTER ไปเยี่ยมเยือนคณิตที่บ้านพักส่วนตัว ในวัย 83 ปี เขายังมีสุขภาพแข็งแรง มีความทรงจำที่แจ่มชัด และทุกวันนี้ก็ยังเขียนบทความแสดงความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองเผยแพร่อยู่เรื่อยๆ
บทความล่าสุดของเขา เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพื่อสะท้อนปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ
เมื่อถามถึงงานในฐานะอดีตประธาน คอป. คณิตก็เล่าให้ฟังว่า หลังทำงานเสร็จสิ้นและได้ผลผลิตมาเป็นเอกสารหนา 276 หน้า คณิตก็นำเงินส่วนตัวพิมพ์รายงานดังกล่าวเป็นหนังสือถึง 5 ครั้ง จำนวน 6,500 เล่ม แจกจ่ายไปยังห้องสมุดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมอบให้กับ ส.ส. ส.ว. และรัฐบาล
แต่ไม่เพียงทราบข่าวเรื่องหนังสือเล่มดังกล่าวถูกฉีกกลางสภา ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กระทั่ง รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเข้ามาในปี พ.ศ.2557 ตอนที่จะชวนเขาไปร่วมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) แม้เขาจะปฏิเสธรับตำแหน่งไป แต่ได้นำหนังสือดังกล่าวแจกจ่ายไปให้ผู้มีอำนาจยุครัฐประหารอ่านอีก 300 เล่ม
แต่ผลยังออกมาในรูปแบบเดิม – ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งที่โดยส่วนตัว คณิตประเมิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ไว้ในทิศทางบวกว่า อาจทำได้เหมือน พัก ช็อง-ฮี อดีตผู้นำเกาหลีใต้ที่มาจากยึดอำนาจ ผู้ใช้อำนาจเผด็จการอย่างเข้มข้น แต่เดินหน้าปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และสามารถพัฒนาเกาหลีใต้ให้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้น เขาจึงตัดสินใจ play down (ลดบทบาท) ตัวเองในทางการเมืองลงไป ใช้ชีวิตในฐานะข้าราชการเกษียณด้วยเงินบำนาญ ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ทั้งเดินบนสายพานหรือไปเล่นกอล์ฟ และเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่ตัวเองผลักดันมาตลอดชีวิต ‘การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’
มีอะไรอยู่ในรายงาน คอป.บ้าง?
หลายคนอาจยังไม่เคยได้อ่านรายงานของ คอป. ซึ่งเผยแพร่มาในปี 2555 เราขอสรุปให้อ่านกันสั้นๆ (ใครอยากอ่านตัวเต็มเข้าไปดูได้ที่นี่) รายงานดังกล่าวมีความหนา 276 หน้า ไม่รวมภาคผนวก แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
- บทนำ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคณะกรรมการ
- สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น
- สรุปสาเหตุและรากเหง้าของปัญหา
- เหยื่อ การฟื้นฟู และการเยียวยา
- ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆ
เนื้อหาที่สำคัญจะอยู่ในส่วนที่ 2. ที่เล่าถึงผลสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 พร้อมลงลึกรายละเอียด 13 เหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ ความรุนแรงที่สถานีดาวเทียมไทยคม, เหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.2553, การใช้มาตรการปิดล้อมของ ศอฉ. 13-18 พ.ค.2553, การเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ฯลฯ
แม้ คอป.จะออกตัวไว้ในรายงานว่า มีอำนาจจำกัด ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมืออยู่บ้าง (โดยเฉพาะจากฝ่ายผู้ชุมนุมที่ไม่ไว้ใจ เพราะตั้งมาโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์) แต่ข้อมูลหลายๆ ส่วนในรายงานก็มาจากเอกสารเชิงลึกของราชการในช่วงเวลานั้นๆ เช่น คำสั่งของกระทรวงกลาโหม สำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่รวมไปถึงการได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจและทหาร – เรียกง่ายๆ ว่าน่าจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสรุปข้อเท็จจริงออกมา รายงานของ คอป.ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะไปเน้นบทบาท ‘ชายชุดดำ’ ในหลายๆ เหตุการณ์ ทั้งที่บางกรณีเป็นเพียงข้อมูลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ เช่น รอยกระเทาะบนรางรถไฟฟ้า BTS ในวันที่ 19 พ.ค.2553 คล้ายกระสุนปืน ที่แม้ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นรอยกระสุนหรือไม่เพราะอยู่สูง แต่ก็อนุมานว่าอาจเป็นการยิงตอบโต้กับทหารโดยชายชุดดำ (ซึ่งทหารใช้อ้างความชอบธรรม ที่มีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมฯ) จนพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) หน่วยงานภาคประชาชนที่ทำงานคู่ขนานกับ คอป. ระบุว่าเป็น ‘ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด’ แก่เจ้าหน้าที่รัฐ
ขณะที่ในส่วนที่ 5. ว่าด้วยข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆ ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ทุกกลุ่มการเมือง สื่อมวลชน ไปจนถึงประชาชน ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อระลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นและให้ช่วยกันประคับประคองไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงซ้ำอีก “เพื่อนำไปสู่ความปรองดองยั่งยืนตลอดไป”
แต่อย่างที่คณิตว่าไว้ ข้อเสนอส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้เกี่ยวข้อง..
ความตายและความ(อ)ยุติธรรม
แม้คนใน คอป.จะพูดย้ำเสมอว่า การค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงปี พ.ศ.2553 “เป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริง หาสาเหตุ และวิธีแก้ไข ไม่ใช่การหาคนผิดมาลงโทษ”
แต่ในข้อเสนอของ คอป. ก็มีข้อหนึ่งระบุว่า “..ให้นำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องมีความเป็นธรรม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ..” ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 คน* และบาดเจ็บอีกกว่า 1,600 คน ควรจะต้องมีใครรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับฝ่ายผู้ชุมนุมหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
*ตัวเลขผู้เสียชีวิต ‘อย่างน้อย’ เพราะรายงานของ คอป.สรุปว่ามีผู้เสียชีวิต 92 คน แต่รายงานของศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า มี 94 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการที่แทบไม่มีผู้รับผิดชอบต่อ ‘ความตาย’ ในเหตุการณ์ดังกล่าวถูกลงโทษเลย แทนที่คณิตจะตอบคำถามเราตรงๆ กลับใช้วิธีการพูดถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยในภาพใหญ่ว่ายังมีข้อบกพร่อง ทั้งเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา การบริหารงานบุคคล ที่ใช้สายบัญชาการเป็นลำดับขั้นตอนเหมือนราชการทั่วไป และปัญหาของการศึกษากฎหมาย ทำให้ไม่สามารถนำตัวผู้มีอำนาจที่กระทำผิดมาลงโทษได้
“กฎหมายของบ้านเราดี แต่คนใช้กฎหมายแย่ นักกฎหมายบางคนทำทุกอย่างให้ได้อยู่ในอำนาจ แต่พอได้ตำแหน่งมาแล้วก็ไม่ทำอะไร บางคนผมเปรียบเป็นเหมือนคนเช็ดโต๊ะ คือคนอื่นทำเลอะไว้ แล้วเขามีหน้าที่มาเช็ค ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครฟังกัน”
เขายังย้ำหลายครั้งตลอดการสัมภาษณ์ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่ที่ ‘คนใช้กฎหมาย’
ก่อนหน้านี้ คณิตมักมีคำพูดหนึ่งติดปากคือคำว่า ‘หักดิบกฎหมาย’ ที่อ้างถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ้นผิดคดีซุกหุ้น เมื่อปี พ.ศ.2544 ที่เขามองว่าเป็นรากของความขัดแย้งซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ปี พ.ศ.2553 เพราะทำให้คนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม แต่ระยะหลัง ก็เกิดหลายๆ กรณี ที่คดีซึ่งเกี่ยวกับผู้มีอำนาจยุติสุดลง ท่ามกลางความคลางแคลงใจหลายฝ่าย เช่น คดีอุทยานราชภักดิ์ คดีนาฬิกายืมเพื่อน
ไม่รวมถึงปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่สาธารณชนรับรู้กัน แต่ไม่มีใครดำเนินการอะไร
“ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งให้กับคนไม่ได้ ก็ไม่มีทางยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้เลย” คณิตสรุป
เราถามปิดท้ายว่า ตลอดสิบปีที่ผ่านมา คิดว่างานที่ คอป.ทำมาทั้งหมดล้มเหลวไหม
แม้อดีตประธาน คอป. จะยืนยันว่า “ไม่ล้มเหลว” หากทุกๆ ฝ่ายโดยเฉพาะสื่อมวลชน ช่วยกันผลักดันต่อไป
แต่คล้อยหลังไม่นาน เจ้าตัวก็บอกกับเราว่า เป็นไปได้ว่า ‘เหตุการณ์ความรุนแรง’ เช่นปี พ.ศ.2553 หรือพฤษภาทมิฬในปี พ.ศ.2535 ยังมีโอกาสกลับมาเกิดขึ้นได้อีก
ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ได้รับการปฏิรูปใดๆ และกระบวนการยุติธรรมยังถูกตั้งคำถาม
เป็นคำพูดปิดท้ายชวนเศร้า จากผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงใหญ่ในประเทศไทยถึง 3 ครั้ง ในระยะเวลาเพียงยี่สิบปี
Photo by Fasai Sirichanthanun