1
ในที่สุด ท่าทีของทั้งรัฐบาล และท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็ได้สร้างให้ ‘fake news’ เป็นปีศาจตัวใหม่ในสารบบการเมืองไทยได้สำเร็จ โดยเฉพาะคนหลัง ที่ยกให้ ‘ข่าวปลอม’ กลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล ด้วยการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์สว่า พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นศูนย์กลางการปั่น fake news ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หลงเชื่อ ทำให้ผลการเลือกตั้ง ‘สวิง’ ไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง จนหวาดวิตกว่าจะเกิดปัญหาแบบสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แบบในช่วงทศวรรษที่ 1970s-1980s ขึ้นมาอีก
น่าสนใจก็ตรงที่ พล.อ.อภิรัชต์ ยกว่านี่คือ ‘ยุทธภูมิไฮบริด’ ที่กองทัพบกยุคใหม่ต้องเจอ คือมีทั้งสมรภูมิจริง โดยยกเหตุระเบิด ‘ป่วน’ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และยกเรื่อง ‘fake news’ ในโซเชียลมีเดียที่ปลุกปั่นคนรุ่นใหม่ว่าเป็นภัยคุกคามที่กองทัพต้องสู้
หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ ก็เพิ่งแนะนำหนังเรื่อง The Great Hack ที่ว่าด้วยการขโมยข้อมูลโซเชียลมีเดียของบริษัทวิจัยข้อมูลเพื่อดึงข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊กไปทำแคมเปญเลือกตั้ง รวมถึงใช้ ‘fake news’ เพื่อปั่นหัวพวกขวาจัด ให้หวาดกลัวฮิลลารี คลินตัน จนทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีในที่สุด
และ หลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 เพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็เป็น พล.อ.อภิรัชต์ คนเดียวกัน ที่ออกมาโจมตีพวก ‘ซ้ายจัดดัดจริต’ อยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พร้อมทั้งบอกว่า โซเชียลมีเดียคือ ‘อาวุธ’ ที่กองทัพยังเข้าไม่ถึง..
2
ถามว่าท่าทีของ ‘กองทัพ’ ต่อโลกไซเบอร์ ถือเป็นเรื่องใหม่หรือไม่ ก็ไม่ เอาเข้าจริงตั้งแต่ยุค ‘เว็บบอร์ด’ เริ่มแพร่หลาย ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ก็มีความพยายามจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ให้ร้ายกองทัพเช่นกัน
ในช่วงนั้น ผมซึ่งกำลังเป็นนักเรียนรักษาดินแดน และเผอิญเรียนด้านนี้พอดี ถูก ผบ.ศูนย์ฝึกเรียกไปให้ช่วยตอบโต้ข้อมูลที่ให้ร้ายทหาร ในขณะนั้นศูนย์รวมน่าจะอยู่ที่เว็บบอร์ดประชาไท เว็บบอร์ดพันทิป รวมถึงเว็บบอร์ด “เสธ.แดง” ของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ตลอดจนในยูทูบ โดยผบ.ศูนย์ฝึก ไปถึงครูฝึกคอย ‘ไกด์’ ว่าควรใช้ข้อความแบบไหนในการตอบโต้
ตอนนั้น ผมได้ยินคำว่า ‘ไอโอ’ หรือ information operation เป็นครั้งแรก และเข้าใจว่าศูนย์ฝึกนั้น มีห้อง ‘วอร์รูม’ เล็กๆ คอยมอนิเตอร์ข้อมูลข่าวสารที่ให้ร้ายกองทัพด้วย โดยมีการผลัดเปลี่ยนกำลังกันเข้าเวร คอยตอบเว็บบอร์ด
หากจำกันได้ ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีเอกสารหลุดออกมาจากรัฐบาล คมช. เกี่ยวกับ ‘กรอบการทำงาน’ ด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยข้อ 2.4 ว่าด้วยการตอบโต้การถูกโจมตีทางอินเทอร์เน็ต เพื่อต่อต้าน ‘อำนาจเก่า’ จนกลายเป็นศัพท์ไว้ล้อเลียนข้อความเชียร์รัฐบาล ว่าเป็น “พวก 2.4”
เท่าที่ทราบ ไม่ได้มีแค่นักเรียน รด. ผลัดเดียว แต่นักเรียน รด. ผลัดต่อมา ก็ทำหน้าที่คล้ายกัน พิจารณาจาก ‘ข้อความ’ ที่สังเกตได้ว่ามาจากการที่ครูฝึกบอกว่าควรตอบแบบไหน ควรใช้ข้อความแบบไหน โดยในระยะหลัง นอกจากตอบโต้ข้อมูลที่ใส่ร้ายทหารแล้ว ก็ให้เพิ่มข้อความเกี่ยวกับความ ‘จงรักภักดี’ หรือการ ‘ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์’ เข้าไปด้วย
ที่น่าแปลกใจก็คือ อีกเกือบ 10 ปีต่อมา ผมถึงได้เห็นชื่อ ผบ. ศูนย์ฝึก รด. คนนั้นอีกครั้ง ในฐานะนายทหารที่ถูก ‘ให้ออกจากราชการ’ เพราะไปเกี่ยวพันกับเรื่อง ‘หัวคิว’ อุทยานราชภักดิ์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ บรรดาสื่อมวลชนก็ยังไม่รู้ว่าท่านอยู่ที่ไหนบนโลก รู้แต่ว่าท่าน ‘หนีทัน’ เท่านั้นเอง
3
แต่ที่เล่ามาทั้งหมดคือยุคก่อนการมาถึงของ ‘โซเชียลมีเดีย’ ณ เวลานั้น สื่อที่มีอิทธิพลมากกว่า และสามารถปลุกคนลงท้องถนนได้มากกว่ายังคงเป็น ‘เคเบิลทีวี’ ไล่เรียงมาตั้งแต่ เอเอสทีวี เอเชียอัพเดท พีซทีวี ไปจนถึงบลูสกายทีวี ซึ่งเข้ามาในช่วง ‘คาบเกี่ยว’ กับการมาถึงของเฟซบุ๊ก จนสามารถปลุกมวลชน กปปส. ไปชุมนุมได้หลายแสนคน กระทั่งเป็นเหตุแห่งการรัฐประหารครั้งล่าสุด
แต่เคเบิลทีวีคือโลกที่ ‘พวกเขา’ ยังสามารถคุมได้ และในห้าปีที่ผ่านมาก็จัดการได้อยู่หมัด ผ่านประกาศ-คำสั่งของคณะรัฐประหาร ทีวีทั้งหมดที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นบางแห่งถูกปิดไปแล้ว บางแห่งเลย์ออฟพนักงานไปจำนวนมาก ต้องไปทำบริษัททัวร์แทน และบางแห่งก็เหลือแค่ชื่อ
การมาถึงของ ‘โซเชียลมีเดีย’ จึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นโลกที่ทหารไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป ทำได้มากสุดก็คือการใช้กฎหมาย และใช้อำนาจทางกายภาพ ‘คุกคาม’ ผู้ใช้ที่ ‘ล้ำเส้น’ เพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าเฟซบุ๊ก มีความเสี่ยง จากการต้องยืนยันตัวตน การไหลไปยังทวิตเตอร์หรือยูทูบที่มีระบบตรวจสอบตัวตนน้อยกว่า ก็กลายเป็นอีกโลกหนึ่ง ที่กองทัพเห็นแล้วต้องตกใจเช่นกัน
แต่การใช้โซเชียลมีเดียก็เอื้อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘echo chamber’ หรือ ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ ได้มากกว่า อันที่จริงน่ากลัวกว่า fake news เสียอีก เพราะในแง่หนึ่ง เมื่อใครก็แล้วแต่สามารถจับเท็จ fake news ได้ ก็มีโอกาสสูงที่เรื่องใดเรื่องนั้นจะไม่ถูกแชร์ต่อ
แต่เรื่อง echo chamber นั้นตรงกันข้าม เพราะเรื่องและรูปมักจะถูกผลิตโดยคนกลุ่มเดียวกัน แชร์ต่อด้วยคนกลุ่มเดียวกัน และปลูกฝังความเกลียดชังด้วยคนกลุ่มเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และหากเป็น ‘ข่าวลวง’ แต่เป็นเรื่องที่ ‘ถูกจริต’ คนกลุ่มเดียวกัน ก็ย่อมได้รับการแชร์ต่อไม่รู้จบ
ตัวอย่างชัดๆ ของ echo chamber ก็คือ หากมีคนแย้งว่าไม่เห็นด้วยกับข้อความหรือความเห็นนั้นๆ ก็เป็นไปได้สูงที่เจ้าของข้อความจะใช้วิธี ‘อันเฟรนด์’ หรือ ‘บล็อก’ ให้คงเหลือแต่คนที่คิดเห็นเหมือนกัน แล้วปลุกอารมณ์ต่อไปเรื่อยๆ
4
ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ก็มีการใช้ประโยชน์จาก echo chamber อย่างเป็นระบบ พรรคการเมืองน้องใหม่พรรคหนึ่งส่งข่าวว่าหัวหน้าพรรคได้รับยกย่องจาก ‘สื่อ’ อังกฤษว่าเป็นม้ามืดในการเลือกตั้ง แฟนคลับพรรคแชร์ต่อกัน จนเรื่องไปถึง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ใหญ่ ในที่สุดสื่อไทยเล่นข่าวนี้ด้วย โดยไม่ได้เช็กที่มาว่า ‘สื่ออังกฤษ’ ที่ลงมีคนไลก์อยู่แค่หยิบมือ มีระดับ engagement ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็กลัวหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งมาก ถึงขั้นเอาคลิปเสียงอ้างแหล่งที่มาไม่ได้ ไปออกในรายการ และดึงเอาถ้อยความส่วนหนึ่งมาใช้กับภาพนิ่ง ส่งต่อกันในกลุ่มไลน์ หรือกรุ๊ปเฟซบุ๊กที่มีคนคิดเห็นเหมือนกันหลักหมื่นหลักแสน
ข้อนี้ หากวัดความเป็น fake news ก็วัดลำบาก เพราะคนพูด พูดจริง แต่ถูกตัดต่อข้อความมาบางส่วน ทำให้บริบทผิดเพี้ยนไปทั้งยวง แต่เอาเข้าจริง ในวงจรอำนาจแบบไทยๆ หากข่าวลวงข่าวไหนไม่เป็นอันตรายต่อผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ได้ถูกเรียกให้เป็นเรื่องหลอกลวง
หรือการเอาเรื่อง ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ผูกนู่นโยงนี่ เพื่ออ้างว่าเป็นเรื่องจริง ยกตัวอย่างแอคเคาต์ที่ถูกเฟซบ๊กปิดไปเร็วๆ นี้ อย่าง โทนี คาตาลุชชี ก็ไม่เคยได้รับการยืนยันจากรัฐบาลไทยว่าเป็น fake news เพราะเนื้อหาที่ผลิตออกมา แม้จะโยงใยสืบสาวว่ามีที่มาจากรัสเซีย และมีกระบวนการสร้างตัวตนปลอมจริง แต่รัฐบาลได้ประโยชน์จากทฤษฎีนี้จริง ฉะนั้นย่อมไม่ถูกเรียกว่าเป็นข่าวลวง
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าเราจะไม่สามารถจัดการกับ fake news หรือข่าวปลอมได้ง่ายๆ
และแม้ว่าเราจะปลูกฝังเรื่องการ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ มากเท่าไหร่ แต่ fake news ก็จะอยู่กับเราต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการกำหนดนิยามของคำว่า ‘ปลอม’ ให้ชัด ขณะเดียวกัน เมื่อยังมีสิ่งที่เรียกว่า echo chamber อุดมอยู่ในสังคม ข่าวที่ ‘หวังผล’ บางอย่างจะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ในเมื่อมีคนได้ประโยชน์จากข่าวนั้นๆ อยู่เสมอ
ในหลายประเทศอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไปในการจัดการข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการปลุกเรื่องการ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ หรือการใช้เครื่องมือรัฐและเอกชนในการร่วมกันสืบหาต้นตอ-ต้นกำเนิดของข่าวปลอม ไปจนถึงการสร้างกลไกผู้กำกับดูแล หรือระบบตรวจเช็กข้อมูล
แต่ในบ้านเราไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น เพราะ fake news จำนวนมาก ผูกอยู่กับคำว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ ที่ผู้มีอำนาจพร้อมจะหลับตาข้างหนึ่ง มองไม่เห็นว่าความเกลียดชังแท้จริงแล้วก็คือ ‘ภัยคุกคาม’ ที่อาจบ่อนทำลายความมั่นคง และความสงบสุขเช่นกัน
และในทางกลับกัน ก็เลือกที่จะมองข่าวโจมตีกองทัพ และโจมตีรัฐบาลให้เป็น ‘ข่าวปลอม’ แทน โดยไม่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์
ในที่สุด fake news ก็กลายเป็นปีศาจตัวใหม่ของวงการสื่อสารมวลชนไทย จากที่ก่อนหน้านี้เคยสร้างให้ hate speech เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรณรงค์ให้หยุดยั้ง ซึ่งในที่สุดก็ไม่สำเร็จ เพราะ hate speech ออกทั้งจากปากผู้มีอำนาจรัฐ และออกจากปากฝั่งการเมืองที่ตัวเองเชียร์
หากอยากจัดการให้จริง ก็ขอแนะนำให้ใช้โมเดลแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน นั่นคือปิดโซเชียลมีเดียข้ามชาติทุกอย่าง สร้างโซเชียลมีเดียขึ้นมาเอง และสร้างระบบมอนิเตอร์จากรัฐอย่างเข้มข้น
เพราะเมื่อข้อมูลทุกอย่างออกจากรัฐอย่างเดียว fake news ก็ไม่มีจริงอีกต่อไป…