ปัญหาข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องน่าปวดหัวเฉพาะสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ในยุคหลังความจริง (post-truth) แล้ว การแพร่กระจายตัวของข่าวปลอมได้เกิดขึ้นในทั่วโลก และสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้คนมากมาย
เช่นเดียวกับข้อถกเถียงที่ว่า แล้วพวกเราควรจะแก้ไขปัญหาข่าวปลอมกันยังไงดีนะ? แน่นอนล่ะ ข่าวปลอมมันสร้างปัญหาให้กับสังคมจริงๆ แล้วพวกเรามีเครื่องไม้เครื่องมือแบบไหนกันบ้างที่จะจัดการมันอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้าเป็นประเทศที่มุ่งไปทางอำนาจนิยมหน่อยๆ ก็มักจะเชื่อว่าต้องใช้อำนาจแบบโหดๆ เดือดๆ และเราควรมอบให้ ‘รัฐ’ มีเครื่องมือกดปราบข่าวปลอมอย่างเต็มที่ ขณะที่สายเสรีนิยมกลับมองว่า วิธีการแบบอำนาจนิยมนั้นมันสุ่มเสี่ยงที่จะไปคุกคามสิทธิการแสดงออกของผู้คนมากเลยนะ ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันมีทางเลือกอื่นที่เสี่ยงหรืออันตรายน้อยกว่า เช่นการสร้าง ‘ภูมิคุ้มกัน’ ให้กับพลเมืองแทน
ฟินแลนด์—ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบการศึกษา (แถมยังมีเป็นประเทศที่พลเมืองมี media literacy เป็นอันดันต้นๆ ของยุโรป) เลือกใช้วิธีการแบบหลัง โดยเริ่มต้นสร้างการรู้เท่าทันสื่อและโลกดิจิทัลกันตั้งแต่ในห้องเรียน
ปัญหาข่าวปลอมในฟินแลนด์
ก่อนที่เราจะลงไปในรายละเอียดกัน อาจจะต้องเห็นบริบทคร่าวๆ ของฟินแลนด์ในสงครามของข่าวปลอมกันนิดหน่อยนะ เพราะหลายคนอาจสงสัยว่า แล้วฟินแลนด์เนี่ยมีข่าวปลอมกับประเทศอื่นๆ เขาด้วยเหรอ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟินแลนด์ต้องออกมาจริงจังกับข่าวปลอม คือความสัมพันธ์ที่มีกับรัสเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน เหตุการณ์ที่รัสเซียทำสงครามบุกไครเมียเมื่อปี 2014 ได้สร้างความสนใจในคนฟินแลนด์ไม่น้อย (อารมณ์ว่ามีสงครามเกิดขึ้นแถวๆ ริมรั้วบ้านเรา) เช่นเดียวกับการเผยแพร่ข่าวปลอมต่างๆ เข้ามาในโลกออนไลน์ของชาวฟินแลนด์
กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องราวของนักข่าวชื่อ Jessikka Aro เธอเคยทำข่าวสืบสวนสอบสวนเรื่องการสร้าง ‘russian troll factories’ หรือโรงงานผลิตข่าวเสียดสีและล้อเลียนต่างๆ ของรัสเซีย
หลังจากที่ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ Aro ก็ถูกข่าวปลอมจากมุมมืดโจมตีเธอแบบไม่หยุดหย่อน มีทั้งคลิปล้อเลียน เรื่องราวที่ให้ร้ายและบิดเบือนแบบไม่มีหลักฐาน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเธอบนโลกออนไลน์ และกลายเป็นกรณีศึกษาถึงเรื่องภัยอันตรายที่คนๆ หนึ่งต้องเผชิญกับสงครามข้อมูลบนโลกโซเชียลมีเดีย
“ฉันคิดว่าข่าวปลอมมันไม่ได้เป็นแค่ภัยคุกคามเสรีภาพการแสดงออก ความมั่นคงของประเทศ แต่ยังรวมถึงคุกคามต่อความมั่นคงของตัวฉันเองด้วย” Aro บอกกับ BBC
ด้าน Jussi Toivanen ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนของสำนักงานรัฐบาล บอกว่า ข่าวปลอมในฟินแลนด์โดยส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นผู้อพยพ การให้ร้ายสหภาพยุโรป รวมถึงการวิจารณ์บทบาทของฟินแลนด์ที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ NATO (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ที่มีสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นแกนนำ) และคนทุกกลุ่มทุกวัย สามารถตกเป็นเป้าของสงครามข่าวปลอมเช่นนี้ได้
รับมือปัญหาข่าวปลอมด้วยห้องเรียนและการศึกษา
รัฐบาลฟินแลนด์เริ่มแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างจริงจังช่วงปี 2014 โดยออกนโยบายที่ชื่อว่า ‘anti-fake news initiative’ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้พลเมืองได้รู้เท่าทันข่าวปลอม มีทักษะตรวจสอบข่าวต่างๆ ได้ด้วยตัวเองว่าสิ่งที่พวกเขากำลังอ่านอยู่นั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่
anti-fake news initiative ของฟินแลนด์ไม่ได้มีแค่นโยบายภาพรวมสวยๆ แต่ยังลงรายละเอียดลึกลงไปด้วยว่า พลเมืองในทุกกลุ่มอาชีพและทุกวัยจะต้องมีทักษะการรู้เท่าทันข่าวปลอมนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป นักเรียน นักข่าว ตลอดจนนักการเมือง โดยกลไกที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องคือสร้าง ‘ห้องเรียน’ ให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้และเสริมทักษะการรู้เท่าทันข่าวปลอม
ฝึกให้นักเรียนเป็นผู้ตรวจสอบความจริงด้วยตัวเอง
คุณรู้อะไรเกี่ยวกับ Brexit หรือเลือกตั้งใน EU บ้าง? คือคำถามที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ เมื่อครูโยนคำถามไปยังนักเรียน แล้วเปิดโอกาสให้พวกเขาลองไปค้นหาข้อมูลจากโลกออนไลน์ โอกาสที่พวกเขาจะได้วิเคราะห์ว่าข่าวแบบไหนปลอม ข่าวแบบไหนไม่น่าเชื่อถือก็จะเกิดขึ้น
“สิ่งที่พวกเราอยากให้นักเรียนรู้ก็คือ ก่อนที่พวกเขาจะไลก์หรือแชร์เรื่องราวในโซเชียลมีเดียนั้น อาจจะต้องคิดซ้ำอีกรอบว่าใครเป็นคนเขียนข่าวนี้ มันถูกเผยแพร่จากที่ไหน และเขาจะสามารถหาข้อมูลเดียวกันนี้จากแหล่งที่มาอื่นๆ ได้รึเปล่า” Kari Kivinen ผู้อำนวยการโรงเรียน Helsinki French Finnish School หนึ่งในโรงเรียนที่ฝึกให้เด็กๆ ได้วิเคราะห์ข่าวปลอมระบุ
การสอนและเสริมทักษะให้นักเรียนรู้ทันโลกดิจิทัลและข่าวปลอมต่างๆ เป็นความร่วมกันกันของกระทรวงการศึกษาของฟินแลนด์ กับ Faktabaari องค์กรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือที่เรียกกันว่า fact-checking โดยความร่วมมือกันในครั้งนี้ แต่ละโรงเรียนจะได้รับเครื่องมือการสอนที่ใช้ได้ตั้งแต่ชั้นเรียนประถมจนถึงมัธยมปลาย
กระบวนการสอนที่เกิดขึ้นในห้องจะมีขั้นตอน ดังนี้
- เลือกเนื้อหาหรือประเด็นข่าวที่สนใจ
- ตรวจสอบข่าวจากแหล่งอ้างอิงอื่นๆ
- เขียนวิเคราะห์การค้นพบเหล่านั้น
- นำข้อวิเคราะห์และข้อสรุปมาคุยกันในชั้นเรียนพร้อมกับเพื่อนๆ
- เผยแพร่ผลการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการ
ไม่เพียงแค่นั้น บรรดาครูในฟินแลนด์ก็จะช่วยให้ความรู้ว่า รูปภาพแบบไหนที่มีแนวโน้มจะถูกตัดต่อขึ้นมาเพื่อชักจูงให้เราหลงกล หรือภาพข่าวแบบใดน่าจะเป็นข่าว clickbait
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในฟินแลนด์เชื่อว่า นอกจากทักษะการตรวจสอบข่าวปลอมแล้ว สิ่งที่นักเรียนของพวกเขาได้รับคือ การคิดวิพากษ์ (crtitical thinking) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบการศึกษาในฟินแลนด์ด้วยเช่นเดียวกัน
การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้าได้รู้เท่าทันข่าวปลอม หรือสามารถคิดวิเคราะห์ และเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อได้ด้วยตัวเองนั้น กำลังเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในโลกยุคที่โลกเรามีข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นแทบทุกวินาที เพราะทักษะเหล่านี้จะอยู่ติดตัวพวกเขาไปอีกนาน
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาข่าวปลอมนั้นอาจต้องพึ่งพากลไก หรือวิธีการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน ทั้งเสียงของรัฐบาลที่ต้องกดดันไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าต้องจริงจังกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
รวมถึงทางฝั่งสื่อมวลชนเองก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความจริงให้สมกับฐานะการเป็น gate keeper ที่มีคุณภาพให้กับสังคม เช่นเดียวกับรัฐที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อการจัดการข่าวปลอม หรือกลายเป็นผู้สร้างข่าวปลอมเสียเอง
อ้างอิงจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon