สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 รอบที่สามในไทยดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลาย จำนวนจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจากวันละ 100 คนในต้นเดือนเมษายนเป็นมากกว่าวันละ 2,000 คนในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมของไทยแซงหน้าจีนเป็นที่เรียบร้อย แต่ที่สร้างความตกใจให้กับใครหลายคนคงหนีไม่พ้นการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ
ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องขังติดเชื้อรวมมากกว่า 20,000 คน คิดเป็นกว่า 15% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในไทย ขณะเดียวกันในบางเรือนจำ (เช่น เรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำจังหวัดนนทบุรี) มีสัดส่วนของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อต่อจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมดสูงกว่า 80% หรือพูดง่าย ๆ ว่า ‘ติดยกเรือนจำ’
อย่างไรก็ตาม ‘คลัสเตอร์เรือนจำ’ ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เนื่องจากเรือนจำและทัณฑสถานในไทยได้ชื่อว่ามีผู้ถูกจำคุกสูงติดอันดับโลก ตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า จำนวนผู้ถูกจำคุกเพิ่มขึ้นสามเท่าระหว่างปี พ.ศ.2553 ถึง พ.ศ.2564 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 มีผู้ต้องขังประมาณ 311,000 คนทั่วประเทศ ในขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 200,000 คน
ที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า จากการที่จำนวนประชากรในเรือนจำหนาแน่น ส่งผลให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังไม่สู้ดีนัก ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ตามที่ต้องการ อาหารและน้ำมีจำกัด สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงปัญหาด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอ
จึงกล่าวได้ว่า สุขอนามัยในเรือนจำมีปัญหาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรค COVID-19 การแพร่เชื้อ HIV/AIDs และโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรคและโรคหัดนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การระบาดครั้งใหญ่ของโรค COVID-19 ในเรือนจำจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่าในแง่ของการที่รัฐมองข้ามสวัสดิการของผู้ต้องขัง
คำถามก็คือ ทำไมเรือนจำในประเทศไทยจึงแออัด?
ในเดือนเมษายน พ.ศ.2564 กว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังถูกคุมขังในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ระหว่างปี พ.ศ.2561 ถึง พ.ศ.2564 ในขณะที่จำนวนนักโทษเด็ดขาดที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีจำนวนค่อนข้างคงที่ จำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดที่ยังไม่มีถูกตัดสินว่ามีความผิด (อยู่ระหว่างการอุทรณ์-ฎีกา, ไต่สวน-พิจารณา, และสอบสวน) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50
หลายฝ่ายมองว่า กฎหมายยาเสพติดที่รุนแรงมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เรือนจำไทยแออัด ผลการศึกษาล่าสุดของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในสองมาตราที่อธิบายถึงความแออัดของเรือนจำในประเทศไทย ประการแรก การแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ในปี พ.ศ.2545 ด้านเกณฑ์การสันนิษฐานว่ามีเจตนาขายเมธแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ลดลงอย่างมากจากปริมาณ 20 กรัมเป็น 375 มก. เกณฑ์นี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ (รวมถึงออสเตรเลียและสิงคโปร์)
กฎหมายอีกฉบับที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับจำนวนนักโทษในเรือนจำคือพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 พระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้ผู้ที่ถูกตรวจพบว่าใช้หรือครอบครองยาเสพติดบางรายได้รับการบำบัดภาคบังคับแทนการถูกคุมขัง โดยยาที่มีในครอบครองต้องมีปริมาณน้อยจึงจะสามารถเข้าเกณฑ์บำบัดโดยไม่ต้องรับโทษได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีเมธแอมเฟตามีนในครอบครองมากกว่า 5 หน่วยหรือ 500 มก. จะไม่เข้าเกณฑ์บำบัดนี้
หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายสองฉบับนี้ จำนวนนักโทษในคดียาเสพติดลดลงในช่วงแรกๆ ปริมาณผู้มีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากผู้ต้องขังประมาณ 100,000 คนในปี พ.ศ.2551 เป็นมากกว่า 250,000 คนในปี พ.ศ.2563 ซึ่งส่วนหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ถูกคุมขังอาจมาจากการครอบครองปริมาณยาที่มากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากราคาของยาบ้าที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คงจะด่วนสรุปเกินไปว่า สรุปแล้ว กฎหมายสองฉบับนี้เป็นต้นตอที่ทำให้จำนวนนักโทษล้นคุกหรือไม่
คำถามที่ต้องคิดคู่ขนานไปก็คือ หากไม่มีกฎหมายสองฉบับนี้
จำนวนนักโทษในเรือนจำและทัณฑสถานของไทยจะมีจำนวนเท่าไหร่ น้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า
กฎหมายยาเสพติดสองฉบับนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของของ “สงครามยาเสพติด” ซึ่งถูกประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งนโยบายและทัศนคติที่ ‘tough on drugs’ นี้ ส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมจำนวนมากในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น แม้ว่านายกรัฐมนตรีได้ประกาศชัยชนะกับยาเสพติด แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากหลายฝ่าย รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee)
แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสงครามยาเสพติดประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการขจัดปัญหายาเสพติด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแออัดของเรือนจำได้คือ ‘ต้นทุนของสังคม’ ที่เสียไปในการสร้างเรือนจำและทัณฑสถาน การจ้างเจ้าหน้าที่/ผู้คุมเรือนจำ การดูแลสวัสดิการและการพัฒนาทักษะอาชีพของผู้ต้องขัง รวมถึง ‘รายได้’ ของนักโทษที่หายไป ต้นทุนเหล่านี้ต้องถูกนำมาพิจารณาบนโต๊ะเวลาที่นักกฎหมายจะพิจารณาวิธีที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด
ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องจากหลายองค์กร (เช่น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย, สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (International Federation for Human Rights), และ Human Rights Watch) ให้กรมราชทัณฑ์มีการปฏิรูปเรือนจำอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขัง คำถามก็คือว่า แล้วการพิจารณาปล่อยตัวนักโทษก่อนกำหนดอย่างรัดกุมจะเป็นไปได้อย่างไรในเรือนจำที่มีทรัพยากรจำกัด?
ไทยสามารถผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยตัวก่อนกำหนดให้ครอบคลุมผู้ต้องขังได้มากขึ้น เช่น ผู้ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีสำหรับความผิดที่ไม่รุนแรง จากจำนวผู้ถูกคุมขังกว่า 300,000 คนนี้ กว่าร้อยละ 20 ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งอาจอยู่ระหว่างการรอการอุทธรณ์ รอการพิจารณาคดี หรือรอการสอบสวน โดยบุคคลเหล่านี้อาจถูกปล่อยตัวพร้อมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ทั้งนี้ มีการปล่อยนักโทษจำนวนมากเป็นการชั่วคราวในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในหลายประเทศ (เช่น อินโดนีเซีย อิหร่าน และตุรกี) แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้น ควรให้ความสำคัญกับนักโทษในคดียาเสพติด เพราะมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดจากจำนวนผู้ถูกคุมจังทั้งหมด
การปล่อยตัวนักโทษชั่วคราวนี้ ไม่เพียงแค่ช่วยลดความแออัดในเรือนจำในช่วงที่มีการแพร่ของโรคระบาดเท่านั้น การศึกษาที่น่าสนใจในอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส พบว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวส่งผลต่อการกระทำผิดซ้ำ (recidivism) ในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดความเป็นไปได้ของการเกิดความแออัดในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนนักโทษอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ต้นเหตุที่แท้จริงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งลงโทษผู้กระทำผิดในคดีที่เกี่ยวพันกับยาเสพติดด้วยการจองจำ หนึ่งในทางเลือกที่เป็นไปได้คือ การใช้ระบบโทษปรับตามรายได้ (day-fine system) ซึ่งช่วยสร้างความเป็นธรรมในการลงโทษเพราะคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำผิดที่แตกต่างกัน และยังสามารถแก้ไขปัญหาความลักลั่นระหว่างโทษปรับในกฎหมายที่บังคับใช้ต่างช่วงเวลาอันเนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะถูกพูดถึงในงานเสวนาวิชาการด้านกฎหมายหลายครั้งหลายครา ปัญหาที่ยังไม่ได้นำวิธีการนี้มาใช้น่าจะเป็นเพราะทัศนคติของนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่อาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลง
นอกเหนือจากการลดจำนวนผู้ต้องขังแล้ว การฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่จากความล่าช้าของการกระจายวัคซีนในไทยทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลไทยจะจัดสรรวัคซีนในปริมาณที่มีจำกัดให้แก่เรือนจำพร้อมทั้งผลักดันการฉีดวัคซีนในคนหมู่มาก (สำหรับผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18-59 ปี) ที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนได้อย่างไร
หากจะดำเนินการฉีดวัคซีนในเรือนจำ คำถามต่อมาก็คือ แล้วผู้ถูกคุมขังมีสิทธิปฏิเสธการรับวัคซีนเฉกเช่นคนทั่วไปได้หรือไม่ อีกหนึ่งคำถามเกี่ยวกับสวัสดิภาพผู้ต้องขังที่ยังไม่มีคำตอบคือแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ การระบาดของโรคในเรือนจำชี้ให้เห็นว่ามาตรการป้องกันโรค COVID-19 นั้นยังทำได้ไม่ดีนัก ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีโรงพยาบาลสนามกี่แห่งสำหรับผู้ถูกคุมขังที่ติดเชื้อและไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าโรงพยาบาลสนามเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น (เช่น เตียง เครื่องช่วยหายใจ) เพียงพอหรือไม่
ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรค บุคคลที่ถูกลิดรอนเสรีภาพนั้นมีความเสี่ยงสูงต่อการติดโรคอยู่แล้ว แต่คุณภาพชีวิตของพวกเขากลับแย่ลงในเรือนจำที่แออัดยัดเยียด คงถึงเวลาแล้วที่ต้องคิดหาทางออกอย่างจริงจังและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาคนล้นคุกที่ค้างคามานาน