เรื่องไม่เป็นเรื่องแท้ๆ แต่ก็กลายเป็นดราม่าจนได้ สำหรับกรณี ‘สีปากกา’ ที่ใช้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งว่า จำเป็นต้องเป็นสีน้ำเงินเท่านั้นหรือไม่ หรือใช้สีอื่นๆ ได้
เมื่อมีข่าวว่า ประธาน กกต. รวมถึงเลขาธิการ กกต. ย้ำว่า ต้องใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น ซึ่งแย้งกับคำพูดของปลัด กทม. ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ที่บอกว่า ใช้ปากกาสีอะไรก็ได้ !
ปัญหานี้ เริ่มมาจากข้อความที่แชร์ต่อๆ กันมาในไลน์วานนี้ว่า ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้ทุกคนที่จะไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ต้องพกปากกากันไปเอง – ซึ่งสำนักงาน กกต.กลาง ก็ออกแถลงโต้ว่า ข้อความนี้ “ไม่จริง” ! เมื่อผู้สื่อข่าว The MATTER สอบถามไปทางสำนักงาน กกต.ประจำ กทม. ก็บอกว่า ในคูหาเลือกตั้งมีปากกาให้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพกปากกามากันเอง
ใครที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในวันนี้ (22 พ.ค. 2565) ก็จะพบว่า ในหน่วยเลือกตั้ง มีปากกาให้ใช้อย่างเหลือเฟือ ทั้งตอนที่เซ็นยืนยันว่ามาเลือกตั้ง เซ็นขั้วบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (บัตรสีน้ำตาล) และเซ็นขั้วบัตรเลือกตั้ง ส.ก. (บัตรสีชมพู) ในคูหาที่เอาไว้กาลงคะแนน ก็ยังมีปากกาให้ใช้อีก
แต่แทนที่ปัญหานี้จะหมดไป กลับสับสนขึ้นไปอีก เมื่อใครบางคนออกมาพูดย้ำว่า ต้องกาบัตรเลือกตั้งด้วยปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็น ‘บัตรเสีย’ !
โดยผู้ที่จะวินิจฉัยว่า บัตรนั้นๆ เป็นบัตรเสียหรือไม่ ก็คือ ‘คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง’ (กปน.)
หากลองไปพลิกข้อกฎหมายเกี่ยวกับบัตรเสียในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 100 และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 175 ก็จะไม่พบเรื่อง ‘สีปากกา’ ว่าเป็นหนึ่งในปัจจุบันการพิจารณาเรื่อง ‘บัตรเสีย’ แต่อย่างใด
โดย พ.ร.บ.เลือกตั้องท้องถิ่นฯ มาตรา 100 กำหนดบัตรเสียไว้ 7 กรณี
- บัตรปลอม
- บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของ กปน.
- บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
- บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด เว้นแต่เป็นการลงคะแนน “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”
- บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร แล้วทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด”
- บัตรที่มีลักษณะตามที่ กกต. กำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
ขณะที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 175 กำหนดกรณีบัตรเสียไว้ 12 กรณี
- บัตรปลอม
- บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
- บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
- บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด เว้นแต่เป็นการลงคะแนน ‘ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด’
- บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร แล้วทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมาย ‘ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด’
- บัตรที่มิใช่บัตรซึ่งกรรมการประจ าหน่วยเลือกตั้งมอบให้
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้กับผู้สมัครซึ่งมีจุดตัดอยู่นอก ‘ช่องทำเครื่องหมาย’
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนซึ่งมีจุดตัดอยู่นอก ‘ช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด’
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนใน ‘ช่องทำเครื่องหมาย’ ที่ไม่มีผู้สมัครหรือผู้สมัครที่ถูกถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเสียชีวิตก่อนวันเลือกตั้ง
- บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท
- บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนให้กับผู้สมัครใน ‘ช่องทำเครื่องหมาย’ เกินกว่าหนึ่งเครื่องหมายใน ‘ช่องทำเครื่องหมาย’ เดียวกัน สำหรับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นคนเดียว
กปน. ของทั้งกว่า 6,800 หน่วย โปรดทราบ!
- เย็นนี้ หลังปิดหีบในเวลา 17.00 น. มารอติดตามผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก. แบบเรียลไทม์พร้อมกันที่: https://bkkvote65.thematter.co
#BKK65 #Brief #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #TheMATTER