เมื่อเอ่ยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ภาพจำเดิมๆ ของใครหลายคนอาจเหมือนหนังที่ฉายเวียนซ้ำไม่จบสิ้น ทั้งภาพของปริมาณขยะพลาสติกที่ล้นเมือง อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 ไปจนถึงภาพอันน่าอนาถใจของสัตว์ทะเลที่ต้องเสียชีวิตเพราะขยะพลาสติก ยังไม่นับมลภาวะต่างๆ ที่มองไม่เห็น ซึ่งกลายเป็นเหมือนสารพิษที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่รู้ตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัวเลย เป็นปัญหาที่หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญ และร่วมกันแก้ไขปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่องค์กรระดับโลก ซึ่งโตโยต้า ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ไม่เคยละทิ้งปัญหาดังกล่าว และตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกมากมายในอนาคต แต่เจตนารมณ์นี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หากองค์กรต่างๆ ยังดำเนินโครงการรณรงค์ในรูปแบบเดิม แต่ขาดการสนับสนุนและความร่วมมือจากคนในสังคม จนกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดแคมเปญดีๆ อย่างเช่น แคมเปญ “ลดเปลี่ยนโลก กับโตโยต้า” ที่ได้ชักชวนคนในสังคมให้เข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมการบอกเล่าวิธีการช่วยโลกในแบบของตัวเองออกมาในโลกโซเชียลฯ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้คนรอบตัวหันมาเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้พลังเล็กๆ กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ในการร่วมมือกันสร้างโลกสีเขียวในฝันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้
นอกจากการรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านแคมเปญดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนอีกความหวังที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนของเราให้ดีขึ้น นั่นคือการคิดค้น “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ โตโยต้า ได้จับมือร่วมกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่าง สวทช. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อมองหาสุดยอดไอเดียนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถพัฒนาให้ใช้แก้ปัญหามลภาวะได้จริงในชุมชนของเรา
จุดเริ่มต้นจากแคมเปญ ‘ลดเปลี่ยนโลก กับโตโยต้า’
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จะมีอะไรดีไปกว่าการร่วมแรงร่วมใจกันลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เมื่อปลายปี 2562 โตโยต้าได้สร้างสรรค์แคมเปญ ‘ลดเปลี่ยนโลก กับโตโยต้า’ เพื่อให้ทุกคนสามารถช่วยเหลือโลกใบนี้ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ใกล้ตัว เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น การลดใช้ภาชนะพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก ฯลฯ ให้น้อยลง และหันมาใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุอย่างอื่นทดแทน หรือภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อลดการทิ้งขยะพลาสติก สาเหตุหนึ่งของปัญหามลภาวะนั่นเอง ก่อนจะส่งต่อแนวคิดด้วยการอัพโหลดภาพไปที่เว็บไซต์ www.ลดเปลี่ยนโลก.com โดยทุกๆ การลดขยะ 1 ครั้ง จะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน 1 บาท ที่จะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
ขณะเดียวกันโตโยต้าก็ได้ต่อยอดแนวคิดนี้ ด้วยการจับมือกับ พันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีร่วมกัน อย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ริเริ่มโครงการ ‘นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก’ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วประเทศส่งแผนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมเข้าประกวด ก่อนจะได้ 30 โครงการจาก 22 โรงเรียน ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาค เพื่อเข้าสู่ค่ายอบรมนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และคัดเลือกเหลือ 10 โครงการ (สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม) ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จนได้โครงการชนะเลิศที่ชื่อว่า ‘เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean bin)’ ผลงานของ 2 เยาวชนนักประดิษฐ์อย่าง ภานุรุจ นิลรัตน์และ สิทธิพร จันทานิตย์ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี โดยมีทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. เป็นที่ปรึกษาช่วยต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันจนออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้
เบื้องหลัง ‘เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean bin)’ นวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก
อย่างที่ทราบกันว่า ปริมาณขยะพลาสติกคือต้นเหตุของปัญหามลภาวะที่สำคัญ น่าสนใจว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการออกมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกหรือ single-use plastic จากห้างร้านต่างๆ ทำให้คนหันมาตระหนักมากขึ้น แต่ในช่วงโควิด-19 กลับมีปริมาณขยะพลาสติกสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ จากรายงานของกรุงเทพมหานคร เดือนเมษายน 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกสูงถึง 3,440 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 1,320 ตัน หรือกว่า 62 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
นอกจากขยะพลาสติกเหล่านี้ จะส่งผลต่อมลภาวะและการใช้ชีวิตของเราแล้ว การจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก ในทุกๆ ปีจะมีขยะอย่างน้อย 5 หมื่นตันถูกทิ้งลงทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ และแหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง
จึงทำให้เป็นที่มาของไอเดีย ‘เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean bin)’ ที่มีจุดประสงค์เพื่อจัดการเก็บขยะในทะเลให้มีประสิทธิภาพ โดยการออกแบบที่เป็นลักษณะทุ่นลอยน้ำ ใช้มอเตอร์ในการดูดน้ำเพื่อดึงเศษขยะเข้ามาสู่ถังขยะ มีการใช้ระบบ Digital Image Processing ซึ่งหากตรวจพบขยะ เครื่องจะสั่งการให้มอเตอร์สายพานดึงขยะเข้าถังและระบบโดยอัตโนมัติ มีจุดเด่นคือการใช้ชุดเก็บขยะที่ทำจากใยธรรมชาติของผักตบชวา นำเทคโนโลยีนาโนเข้ามาช่วยด้วยการเคลือบผิวด้วยอนุภาคนาโน (Nanoparticle Surface Coating) บนแผงโซล่าเซลล์และวัสดุ เพื่อป้องกันสนิม ทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น การทำงานสามารถเก็บขยะในทะเลไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัมต่อครั้งเลยทีเดียวอีกทั้งยังมีระบบการแจ้งเตือนเมื่อขยะใกล้เต็ม และสะดวกต่อการเปลี่ยนชุดเก็บขยะอีกด้วย
ต่อยอดไอเดีย สู่นวัตกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมที่ใช้ได้จริง
นอกจากเรื่องนวัตกรรมของ ‘เครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน (Nano Ocean bin)’ จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้จริงแล้ว ยังมีแผนในการนำมาปรับใช้กับแหล่งน้ำในชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบของการใช้นวัตกรรมแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต โดยความยอดเยี่ยมของผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้จะได้รับการพัฒนาต่อ ด้วยเงินสนับสนุนจากแคมเปญ ‘ลดเปลี่ยนโลก กับโตโยต้า’ จำนวน 1 ล้านบาท ที่มาจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในสังคมที่กล้าออกมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง จนสามารถเข้ามาช่วยต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ ให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาขยะและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนของเราได้มากขึ้น และความพิเศษอีกหนึ่งอย่างก็คือการได้นักวิจัยจาก สวทช. มาร่วมเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาร่วมกับเยาวชนเจ้าของโครงการ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้ทำงานได้อย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“และนี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมภารกิจการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่สามารถเป็นหน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งได้ หากแต่ว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในสังคม ที่จะต้องร่วมมือกันดูแลและแก้ไขปัญหา จากจุดเล็กๆ ใกล้ตัวเราเองเสียก่อน อย่างน้อยๆ คือในฐานะที่เราเป็นเจ้าของโลกใบนี้ร่วมกัน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสร้างสรรค์โลกสีเขียวที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริงๆ ในอนาคตของลูกหลานของพวกเราเอง”
Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Suthawee Chotrattanasak