‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินคำพูดนี้บ่อยๆ และมันกลายมาเป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางการเมือง ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับบรรยากาศมาคุทางการเมือง แต่ประเทศทางฝั่งอเมริกาใต้อย่าง ‘เปรู’ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงเช่นกัน
สำหรับประเทศเปรู เพิ่งมีการประกาศแต่งตั้งฟรานซิสโก ซากัสติ (Francisco Sagasti) เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวในวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งฟรานซิสโกถือเป็นประธานาธิบดีรักษาการคนที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วง 8 วันที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งเดือน ประเทศเปรูเปลี่ยนผู้นำประเทศไปแล้ว 3 คน ซึ่งประเด็นร้อนนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ไม่สงบที่กำลังทะลุในประเทศเปรู
ต้องเท้าความก่อนว่า เหตุการณ์วุ่นวายในครั้งนี้เริ่มต้นจากการลงมติถอดถอนประธานาธิบดีมาร์ติน วิซคาร์รา (Martin Vizcarra) ออกจากตำแหน่งในวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหารับสินบนจากบริษัทเอกชน และไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ
การออกจากตำแหน่งของวิซคาร์รา สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนเปรูอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุของการออกจากตำแหน่งเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับอดีตประธานาธิบดีเปโดร พาโบล คุชซินสกี (Pedro Pablo Kuczynski) ที่ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังโดนฟ้องร้องข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่นในปี ค.ศ.2018 จึงมีคนสังเกตว่านี่คือการ ‘ก่อรัฐประหารผ่านสภา’ หรือไม่ เพราะหลังจากวิซคาร์ราออกจากตำแหน่ง มานูเอล เมอริโน (Manuel Marino) ตัวตั้งตัวตีในการขับไล่ประธานาธิบดีคนเก่าก็ขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำชั่วคราวแทน
ด้วยความไม่พอใจกับมติถอดถอนประธานาธิบดีของกลุ่มฝ่ายค้าน ประชาชนจึงออกมารวมตัวกันบริเวณจัตุรัสพลาซ่าซันมาร์ติน ในกรุงลิมา ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามสกัดกั้นการชุมนุมด้วยการปิดไฟบริเวณดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงรวมตัวกันเดินทางไปยังรัฐสภา ก่อนการชุมนุมจะต้องยุติลง หลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงมีการใช้กระบองทุบตีผู้ชุมนุม และใช้กระสุนยางด้วย การปราบปรามจราจลดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน
นอกจากนี้ กลุ่มนักข่าว นำโดยสำนักข่าว Lime TV ได้เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจงใจใช้แก๊ซน้ำตา และกระสุนปลอมกับสื่อมวลชน และมีนักข่าวบางส่วนที่โดนกระบองตีเข้าที่ศีรษะจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล นาตาลี เซาท์วิค (Natalie Southwick) ผู้ประสานงานคณะกรรมการความปลอดภัยสื่อ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และรัฐบาลจงใจขัดขวางการดำเนินงานของสื่อ เพื่อไม่ให้ข่าวความรุนแรงดังกล่าวเผยแพร่ออกไป
โดยหลังเกิดเหตุการณ์นี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) องค์การนิรโทษกรรมสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) รวมถึงประธานสภาออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ ได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีชั่วคราวลาออกทันที ซึ่งภายหลังมานูเอล เมอริโน ก็ตัดสินใจลาออกในวันที่ 15 พ.ย. นับว่าดำรงตำแหน่งเพียง 5 วัน ซึ่งการตัดสินใจนี้สร้างความยินดีให้กับผู้ชุมนุมอย่างมาก มีประชาชนออกมาเฉลิมฉลองกันมากมาย รวมถึงมีการบีบแตรเพื่อแสดงความดีใจในความสำเร็จดังกล่าว
หลังจากที่มานูเอลลาออก การเมืองเปรูก็ตกอยู่ในสภาพสุญญากาศไม่นาน รัฐสภาได้มีการลงมติเพื่อคัดเลือกผู้นำเฉพาะกาลคนใหม่ทันที ซึ่งผู้ที่มารับตำแหน่งก็คือฟรานซิสโก ซากัสติ (Francisco Sagasti) สมาชิกพรรคโมราวัย 76 ปี ซึ่งชนะมติเสียงข้างมากถึง 97 เสียงต่อ 26 เสียง โดยซากัสติจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นไปตามวาระของประธานาธิบดีวิซคาร์ราที่ถูกถอดถอนไปก่อนหน้านี้ และจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามกำหนดการเดิมคือวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.2021
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/…/perus-congress-elects-francis…
https://www.vice.com/…/peru-is-about-to-appoint-its-third-p…
https://apnews.com/…/martin-vizcarra-peru-lima-coronavirus-…
https://edition.cnn.com/…/peru-interim-president…/index.html