พอมานั่งนับนิ้วดู เอ๊ะ…นี่เรากำลังจะอายุ 25 แล้วเหรอ?
เมื่อรู้ว่าอายุของตัวเองกำลังจะเข้าสู่วัย 25 เรื่องราวเบญจเพสก็ลอยเข้ามาในหัวทันที ความกังวลมากมายเริ่มก่อขึ้นในหัว เพราะความเชื่อตั้งแต่โบร่ำโบราณเกี่ยวกับอาถรรพ์เลขวัยดังกล่าว ที่ผู้คนมักประสบกับเคราะห์ร้าย ดวงตก หรือพบเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ
แม้การพูดถึงวัยเบญจเพสจะดูยึดโยงกับความเชื่อเสียเป็นส่วนใหญ่ หากลองมองในอีกมุมหนึ่ง ช่วงอายุดังกล่าวของหลายๆ คนก็เหมือนเป็นวัยที่พบเจอกับความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าช่วงอายุ 25 เป็นการก้าวข้ามผ่านจากช่วงวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว
ด้วยเหตุนี้เอง วัยเบญจเพสจึงอาจไม่ใช่เพียงแค่อาถรรพ์ตามความเชื่อ แต่ยังเกี่ยวกับวิกฤติวัยกลางคนช่วงต้นที่เรียกว่า ‘Quarter-Life Crisis’ อันเป็นวิกฤติซึ่งพาปัญหาร้อยแปดอย่างที่แสนยากจะรับมือมาผู้ใหญ่ตอนต้นทุกคนต้องเผชิญ
ทว่าก่อนจะไปถึง Quarter-Life Crisis เราลองมาดูกันก่อนสักนิดว่า ทำไมความเชื่อเรื่องเลข 25 หรือวัยเบญจเพสเลขนี้ ถึงสร้างความหวาดกลัวและวิตกกังวลให้ใครหลายคนได้ขนาดนี้กัน?
คำว่า เบญจเพส มาจากคำภาษาบาลี ‘ปญฺจวีส’ หรือในภาษาสันสกฤต ‘ปญฺจวิษฺต’ โดยปัญจะ, เบญจะ หมายถึง 5 และวีส,เพส หมายถึง 20 เมื่อทั้ง 2 คำมารวมกันจึงมีความหมายว่า 25 นั่นเอง โดยความเชื่อดังกล่าวถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่โบราณ คนไทยเชื่อกันว่า หากอายุถึงรอยต่อ 25, 35, 45, 55, 65 ถือเป็นช่วงวัยที่จะเกิดเคราะห์กรรม ทำให้ในช่วงวัยดังกล่าวอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ดี หรือจุดเปลี่ยนผันสำคัญในชีวิตได้ ยิ่งใครที่ดวงตกมากๆ ก็อาจประสบพบเจอกับความโชคร้ายขั้นรุนแรง จนอาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุได้ หลายคนจึงแนะนำให้ไปทำบุญ อุทิศส่วนกุศล กรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร เพื่อต่อชะตาชีวิตให้ตนเองตามความเชื่อ
Quarter-Life Crisis กับปัญหาช่วงวัยเบญจเพส
หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตอาจเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยเบญจเพส ปัญหามากมายถาโถมเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน ทำเอามนุษย์วัยที่เพิ่งจะ 25 อย่างเราถึงกับไปต่อไม่ถูกเลยทีเดียว
ถ้ามองผ่านเลนส์ความเชื่อแล้วก็คงมีคนเดินมาตบไหล่เราพร้อมบอกว่า “นี่แหละ วัยเบญจเพส” แต่หากมองในมุมหนึ่งอาจเห็นได้ว่า ช่วงวัย 25 ของใครหลายคนเป็นวัยที่จะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในหลายด้านของชีวิต เนื่องจากเราเพิ่งผ่านพ้นการเป็นวัยรุ่นแล้วกำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว ทั้งหน้าที่การงาน การเงิน ตลอดจนความสัมพันธ์ เรื่องราวมากมายเหล่านี้กำลังเริ่มมีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น
การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยดังกล่าวจึงอาจมองผ่านมุมมองเรื่อง Quarter-Life Crisis หรือวิกฤติวัยกลางคนช่วงต้นได้ด้วยเช่นกัน เพราะหลายปัญหาที่เข้ามาในช่วงวัย 25 ของแต่ละคนนั้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงอันยากจะหลีกเลี่ยงได้
ดร.โอลิเวอร์ โรบินสัน (Dr. Oliver Robinson) หัวหน้าคณะนักวิจัยจาก University of Greenwich ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Quarter-Life Crisis ผ่านการสำรวจกลุ่มคนในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นกว่า 1,100 คน พบว่า วิกฤติดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในช่วงวัยระหว่างอายุ 25-35 ปี โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ช่วงเข้าสู่วิกฤติ – เมื่อเข้าสู่วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง หลายคนเริ่มรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตวัยผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิต อาทิ ปัญหาด้านการงาน ครอบครัว หรือกระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ จนนำไปสู่ความสับสนและวิตกกังวล
- ช่วงจมอยู่กับปัญหา – ในระยะนี้ผู้คนมักเกิดความรู้สึกดิ้นรน หรือจมอยู่กับปัญหา ซึ่งอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า ปัญหาต่างๆ ล้วนถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว จนกลายเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของชีวิต
- ช่วงแห่งการอยากเอาชนะ – เมื่อเริ่มมีสติมากขึ้น หลายคนจะพยายามคิดทบทวนชีวิต และตระหนักต่อการเอาชนะปัญหาต่างๆ เหล่านี้
- ช่วงการหาทางออก – ทุกวิกฤติมีทางออกอยู่เสมอ เราจะเริ่มเข้าใจความต้องการของตนเอง และมองหาวิธีการสำหรับจัดการปัญหาทั้งหลายที่เคยถาโถมเข้ามาใน 2 ระยะก่อนหน้า
หากพิจารณาอาถรรพ์เบญจเพสผ่านแนวคิด Quarter-Life Crisis ของดร.โอลิเวอร์ เราจะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันในแง่การเข้ามาของปัญหาอันมีสาเหตุมาจากการผันแปรของช่วงวัย จนเหมือนกับว่าในวัยเบญจเพสของเราจำเป็นต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่โหมกระหน่ำเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว
ตัวอย่างเช่น เราอาจต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการงานและความสัมพันธ์พร้อมกัน จนเข้าสู่ช่วงจมอยู่กับปัญหา เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็จะเริ่มตระหนักถึงการอยากขจัดปัญหาเหล่านี้ และท้ายที่สุดปัญหาต่างๆ ก็จะถูกคลี่คลาย ถ้าเราเริ่มจับหลักและหาทางออกของปัญหาเหล่านี้ได้
บางคนอาจคิดว่า เบญจเพสเป็นเคราะห์กรรมเฉพาะของแต่ละบุคคล แต่วิกฤติเหล่านี้ของชีวิตกลับเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยแห่งความเปลี่ยนแปลง โดยงานศึกษาเกี่ยวกับการรับมือต่อปัญหาในช่วง Quarter-Life Crisis ของ Malang State University ชี้ให้เห็นว่า มีวัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเลยที่ประสบกับวิกฤติดังกล่าว อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการเติบโตและการแปรเปลี่ยนของช่วงวัย จนนำมาซึ่งทางเลือกในชีวิตของวัยรุ่น ทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และนำไปสู่ผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา
ดังนั้น ปัญหาร้อยแปดอย่างที่เราเจอในช่วงวัยเบญจเพสอาจจะไม่ใช่โชคชะตา หรือเคราะห์กรรมเสียทั้งหมดทีเดียว แต่มันคือส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงวัย ซึ่งสามารถประสบพบเจอแตกต่างกันไปตามชีวิตของแต่ละคน
รับมือกับปัญหาที่เกิดยังไงดี?
มาถึงจุดนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาถรรพ์วัยเบญจเพส หรือ Quarter-Life Crisis เราเชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากยกมือดัก กวักมือเรียกให้มันเข้ามาหาตัวเองอย่างแน่นอน
แต่ถ้าปัญหาเลือกเราเป็นเป้าหมาย และพร้อมพุ่งเข้าหาเราแล้ว ในฐานะผู้ถูกเลือกก็คงต้องหาทางรับมือกับเรื่องนี้ให้ได้ แคร์รี ฮาวเวิร์ด (Carrie Howard) โค้ชด้านความวิตกกังวล ได้นำเสนอวิธีการรับมือกับวิกฤติดังกล่าวเอาไว้ผ่านเว็บไซต์ verywell mind ให้มนุษย์วัยผู้ใหญ่ตอนต้นทั้งหลายได้ลองไปทำตามกัน ดังนี้
- รู้จักเข้าใจตัวตนและสะท้อนตัวเองอยู่เสมอ – เราเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้ปัญหาถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แต่บางครั้งชีวิตก็ต้องมีอุปสรรคเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา การได้ทำความเข้าใจและสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเราอยู่เสมอจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่แคร์รีแนะนำ โดยทุกคนสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่การให้เวลากับตัวเองทบทวนเรื่องราวต่างๆ รวมถึงวางแผนชีวิตให้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเข้ามาในอนาคต เป็นต้น
- รู้จักปล่อยวางความคาดหวัง – เมื่อถึงวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง เราย่อมต้องพบเจอกับการตัดสินใจมากมายในชีวิต แถมยังมาพร้อมกับความคาดหวัง ไม่ว่าจะจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก สังคม หรือกระทั่งตัวเราเอง ทั้งหมดล้วนมีส่วนในการสร้างความกดดันทั้งสิ้น และเพื่อไม่ให้ความคาดหวังเหล่านี้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาต่อตัวเรา แคร์รีจึงได้แนะนำให้เรารู้จักปล่อยวางความคาดหวังเหล่านี้ลง พร้อมทั้งฝึกเห็นใจและยอมรับต่อตัวเองให้ได้ แม้หลายอย่างจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังก็ตาม
- รู้จักให้ตัวเองได้ตัดสินใจและเปลี่ยนแปลง – เพราะทุกปัญหามีทางออก แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องออกทางออกที่ถูกกำหนดไว้เพียงอย่างเดียว แคร์รีมองว่าในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นนี้ถือเป็นช่วงวัยที่เราสามารถทดลอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิตตัวเองได้อยู่เสมอ เมื่อปัญหาถาโถมเข้ามา เราอาจลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ตัดสินใจ และเปลี่ยนแปลงทางออกของปัญหา โดยวิธีนี้ยังเป็นการเปิดช่องทางให้เราได้เจอทางใหม่ๆ ในชีวิตด้วยเช่นกัน
หากใครลองทำตามวิธีที่แคร์รีแนะนำแล้ว แต่ยังคงรู้สึกไม่สบายใจต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราอยู่ ก็อาจลองหันไปไหว้พระขอพร ทำบุญสะเดาะเคราะห์ บริจาคโลงศพ หรือวิธีการใดๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคลก็ได้ เพราะวิธีเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ในการช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้ตัวเราได้เหมือนกัน
ท้ายที่สุดแล้ว การเผชิญหน้ากับวัยแห่งความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหลายๆ คน แต่หากเรามีสติและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติใดๆ เราจะสามารถลุล่วงไปได้อย่างสำเร็จแน่นอน
วัยเบญจเพศปีนี้ไม่หวั่นหรอกนะ เข้ามาได้เลย เราพร้อมรับมือแล้ว!
อ้างอิงจาก