“ไม่ชอบเลย พวกที่งานไม่ทำเอา แต่เวลาได้คำชมเสนอหน้าไปรับก่อนใครเนี่ย”
“อันนี้คือแกหมายถึงเราหรือเปล่า?”
“ไม่จ้ะ ฉันแค่พูดลอยๆ ใครอยากรับก็รับไปสิ”
จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่านะ เวลาใครสักคนพูดอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วบอกว่า ‘พูดลอยๆ’ ให้คำพูดมันปลิวไปตามสายลม ไม่ได้เจาะจงถึงใคร ไม่ได้มีนัยอะไรแอบแฝง
แม้จะคนพูดยืนกรานด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ไม่ได้ตั้งใจจะเอ่ยถึงหรือเจาะจงไปหาใครจริงๆ แต่แท้จริงแล้วลึกๆ แอบมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า The MATTER ขอกวักมือมาทางนี้ เพราะเราอยากชวนทุกคนไปสำรวจเบื้องหลังการพูดลอยๆ ด้วยมุมมองทางปรัชญาแบบสโตอิก (Stoicism) กัน
มุมมองของสโตอิกกับการพูดลอยๆ
แม้ช่วงเวลาจะเดินทางเนิ่นนานผ่านมานับพันปี แต่ปรัชญาสโตอิก อันเป็นชุดความคิดทางปรัชญาสำคัญตั้งแต่ยุคสมัยกรีกโบราณไม่เคยหลับใหลไปพร้อมกับอารยธรรมกรีกเลย แต่มันยังคงมีคุณค่าและถูกนำมาใช้สำหรับอธิบายเรื่องต่างๆ ทั้งตัวของมนุษย์เอง รวมไปถึงสิ่งรอบตัวที่เชื่อมโยงกับมนุษย์อยู่เสมอ
ปรัชญาสโตอิกมีหลักการที่ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด โดยใจความสำคัญของปรัญชาดังกล่าว เน้นไปที่การเข้าใจความเป็นไปของโลก ผ่านการใช้หลักเหตุและผล ในการแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เพื่อให้เราหันมาโฟกัสเฉพาะสิ่งที่ควบคุมได้ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและรับมือกับเรื่องต่างๆ รอบตัวได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยแนวคิดอันกว้างขวางในการมองโลกและตัวมนุษย์ ทำให้สโตอิกสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจมิติด้านต่างๆ ของมนุษย์ได้ นั่นจึงรวมไปถึง การพูดลอยๆ ซึ่งถือเป็นแง่มุมหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์เรา ที่อาจต้องใช้หลักการเหตุและผลมาทำความเข้าใจ
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจหลักการพื้นฐานของกระบวนการสื่อสารกัน ว่ามันจะต้องประกอบไปด้วย ผู้ส่งสาร สาร และผู้รับสาร ทว่าการพูดลอยๆ นั้น แน่นอนว่ามันออกจะแตกต่างไปจากกระบวนการการสื่อสารนี้ เพราะมันเป็นการสื่อสารแบบไร้ซึ่งผู้รับสาร แต่มันจะเป็นแบบนั้นจริงไหม เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
หากมองตามแนวคิดแบบสโตอิกแล้ว การพูดลอยๆ อาจมีผู้รับสารได้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะในแนวคิดแบบสโตอิก จะค่อนข้างให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘เจตนา’ ซึ่งถือเป็นเบื้องหลังสำคัญในการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ โดยนักปรัชญาในสายนี้ มักมองว่าการกระทำของมนุษย์เราว่า ล้วนมีเหตุผลหรือมีจุดประสงค์อยู่เสมอ แบรนดอน ทัมลิน (Brandon Tumlin) หนึ่งในนักคิดสายสโตอิก นำเสนอเอาไว้ผ่านวารสาร The Stoic Gym ว่า เจตนาไม่เพียงแค่สำคัญ แต่มันคือหนึ่งในแก่นหลักของแนวคิดนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมนุษย์เราต่างก็มีเป้าหมายบางอย่างในการกระทำของตนเอง เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของความต้องการ
หากจะยกตัวอย่างตามคำอธิบายของแบรนดอน เราอาจย้อนมองดูตัวเองว่า เวลาเราตั้งใจทำอะไรสักอย่าง เราก็มุ่งหวังให้ผลลัพธ์ออกมา แล้วเป็นไปตามเป้าหมายทีวางเอาไว้ เช่น เราตั้งใจทำงานให้เสร็จไวขึ้น เพื่อจะได้รีบกลับบ้าน หรือเรารีพลายสตอรี่คนที่ชอบ ก็เพื่อหวังจะได้คุยและสานความสัมพันธ์ต่อ
ถึงแม้บางการกระทำจะดูเหมือนจะไม่มีเหตุผลอะไร แต่มันกลับมีเจตนาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาของเราซุกซ่อนเอาไว้อยู่เบื้องหลัง นั่นจึงทำให้เจตนาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ที่ช่วยให้การกระทำต่างๆ ของมนุษย์เกิดขึ้นมา
เพราะการจะกระทำสิ่งใดขึ้นมานั้น หลายครั้งย่อมต้องมีความตั้งใจเป็นเบื้องหลังอยู่เสมอ ในงานศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของเจตนาต่อการกระทำ ผ่านการมองด้วยแนวคิดแบบสโตอิก ของ ลูโดวิกา อดาโม่ (Ludovica Adamo) และ โซเฟีย ลอมบาร์ดิ (Sofia Lombardi) พบว่า เจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำต่างๆ ของมนุษย์เรานั้น มีที่มาจากการประเมินสถานการณ์อย่างมีเหตุผล ก่อนจะดำเนินการตัดสินใจกระทำสิ่งเหล่านั้น
ในงานศึกษาดังกล่าวได้ใช้คำว่า ‘Hormē’ ซึ่งหมายถึงแรงกระตุ้น (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า impulse) สำหรับขยายความคำว่า เจตนา ในมุมมองของสโตอิก โดย hormē เป็นตัวกระตุ้นเบื้องต้นที่นำไปสู่การสร้างเจตนา เพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อการดำเนินการทำสิ่งต่างๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงาน สิ่งนี้ถือเป็น hormē หรือแรงกระตุ้น เพื่อให้เรามุ่งไปสู่การกระทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนั่นคือ การหยุดทำงานและลุกไปนอน ดังนั้น หากอธิบายให้ง่ายก็คือ เราไม่ได้ลุกไปนอนโดยไม่มีเหตุผล แต่เราลุกไปนอนเพราะเหนื่อยจากการทำงาน
ฉะนั้นแล้ว เมื่อเราย้อนกลับมาที่เรื่องของการพูดลอยๆ ในมุมมองแบบสโตอิกก็คงปฏิเสธได้ไม่ค่อยเต็มปากเท่าไหร่นัก หากจะบอกว่า พูดขึ้นมาเฉยๆ หรือไม่ได้เจาะจงใครเป็นพิเศษ เพราะมันก็อาจมีเหตุผลหรือเจตนาอะไรบางอย่างอยู่เบื้องหลัง เพื่อกระตุ้นให้เราต้องพูดลอยๆ ขึ้นมา แล้วหวังว่าคำพูดนั้นจะส่งไปหาคนที่เราต้องการจะพูดด้วยนั่นเอง
จากสโตอิกสู่การมองสภาวะทางจิตเบื้องหลังเจตนา
เจตนาเพียงอย่างเดียว จะสามารถกระตุ้นให้เรากระทำนู้นนี่ได้ขนาดนี้จริงหรือ? แล้วจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะพูดอะไรสักอย่างขึ้นมา โดยไม่มีเจตนาใดๆ แอบแฝงอยู่เลย?
หากมองผ่านมุมมองแบบสโตอิก ก็คงตอบได้ว่าการพูดอะไรสักอย่างขึ้นโดยไร้ซึ่งเหตุผลหรือเจตนานั้นอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระทำโดยส่วนใหญ่ล้วนมีแรงกระตุ้นซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของเจตนา เพื่อทำให้เกิดการกระทำต่างๆ อยู่เสมอ
ทั้งนี้ จากงานศึกษาข้างต้นยังได้นำเสนอถึง ‘ลำดับสภาวะจิตใจ (Sequence of Mental States)’ เพื่อตอกย้ำให้เราเห็นชัดเจนว่า ก่อนจะทำอะไรก็ตาม ย่อมผ่านกระบวนการทางความคิดมาก่อน แล้วถึงค่อยเกิดการกระทำต่างๆ ขึ้นมา
โดยลำดับสภาวะจิตใจ เป็นกระบวนการทางปัญญา ที่บุคคลต้องผ่านไปก่อนถึงจะดำเนินการสิ่งต่างๆ ได้ มี 5 ลำดับ ได้แก่ การรับรู้ (Sensation) การนำเสนอ (Presentation) การยินยอม (Assent) แรงกระตุ้น (hormē) และท้ายสุด การกระทำ (Action) โดยในปรัชญาสโตอิก ลำดับนี้มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจว่า การตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเกิดขึ้นได้อย่างไร และการกระทำเริ่มต้นขึ้นอย่างไร
ตัวอย่างการมองเหตุการณ์ด้วยกระบวนการลำดับสภาวะจิตใจ เช่น เมื่อเราเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวัน เราก็เริ่มคิดแล้วว่า จะลุกขึ้นปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเดินสับๆ กลับบ้านเลยดีไหม ถัดมาเราจึงต้องประเมินในใจ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเราดำเนินตามความคิดข้างต้น เอาล่ะ เมื่อรู้สึกว่า จะทำตามตามใจเราแน่ๆ hormē ก็จะกระตุ้นให้เราดำเนินการตามสิ่งที่ตัดสินใจ และในท้ายสุดเราก็จะกระทำตามความปรารถนาของเราตั้งแต่ต้น ด้วยการลุกขึ้น แล้วเดินออกประตูกลับบ้านนั่นเอง
เมื่อเราเข้าใจลำดับสภาวะจิตใจแล้ว ก็จะเริ่มเห็นกระบวนการทางความคิดของมนุษย์ ที่หลายต่อหลายครั้งเวลาจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ย่อมต้องเกิดการคิด ไตร่ตรอง และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วจึงค่อยสร้างการกระทำต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้ผลลัพธ์ดำเนินไปตามความต้องการของเรา
นั่นจึงยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การพูดลอยๆ นั้น อาจไม่ได้ลอยจริงตามชื่อเรียก ทว่าผู้พูดย่อมต้องมีการคิดทบทวนมาประมาณหนึ่งแล้ว จึงค่อยดำเนินการพูดและสื่อสารข้อความต่างๆ ออกมา เพื่อหวังให้คำพูดเหล่านี้นำไปสู่ผลลัพธ์บางอย่างนั่นเอง
ท้ายสุดแล้ว การกระทำใดๆ อันมีผลมาจากความคิดของมนุษย์ ย่อมไม่ใช่การเกิดขึ้นแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่มันมีกระบวนการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับรู้และประเมินผล มาช่วยในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ของมนุษย์อยู่
รู้อย่างนี้แล้ว คราวหน้าถ้าเราพูดลอยๆ ถึงคนที่ชอบเอาดีเข้าตัว เอาชั่วโยนให้คนอื่น แกก็ช่วยรับไปด้วยล่ะกันนะ ^^
อ้างอิงจาก