COVID-19 ได้ระบาดระลอกใหม่ในไทยอีกครั้ง ซึ่งมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในสมุทรสาคร หรือบ่อนการพนันในระยอง และล่าสุดกับคลัสเตอร์ของ ดีเจพิธีกร ‘มะตูม เตชินท์ พลอยเพชร’ ที่มีการระบุว่ากลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ และนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการใช้อธิสิทธิ์พิเศษในการจัดงานรวมตัว ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคหรือไม่
สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับ ‘คลัสเตอร์ดีเจมะตูม’ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีเคสการปกปิดข้อมูลอย่างไร และคลัสเตอร์นี้ระบาดในวงกว้างแค่ไหน The MATTER จะมาสรุปให้ฟัง
- เมื่อวันที่ 20 ม.ค. มะตูม ได้เปิดเผยผ่านอินตราแกรมส่วนตัวว่า ตนเองได้ติดเชื้อ COVID-19 พร้อมระบุไทม์ไลน์การเดินทางในช่วงวันที่ 7 ม.ค. – 20 ม.ค.โดยในไทม์ไลน์คาดว่าจะติดจากเพื่อนคนหนึ่งที่เดินทางมาร่วมงานวันเกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ชั้นดาดฟ้า โรงแรมบันยันทรี ซึ่งภายหลังเพื่อนคนนั้นได้โทรมาแจ้งมะตูมว่าผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก มะตูมจึงเดินทางไปตรวจ และพบเชื้อเช่นกัน
- ภายหลังผู้ร่วมงานปาร์ตี้วันเกิดของมะตูมในวันที่ 9 ม.ค. ได้เดินทางไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 ก่อนทางกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาเปิดเผยว่า เคสการติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับมะตูม มีผู้ติดเชื้อรวม 19 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อมีหลากหลายอาชีพ ทั้งนักร้อง-นักแสดงวัย 23 ปี, ตำรวจวัย 34 ปี, ผู้จัดการ PR รวมถึงนักข่าวช่องดัง
- ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงที่มาของเหตุการณ์การติดเชื้อ ว่าแท้จริงแล้ว เกิดจากการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคหรือไม่ โดยเฉพาะสถานที่จัดปาร์ตี้ นั้นเป็นร้านอาหาร ซึ่งตามประกาศของ กทม. ได้ห้ามร้านอาหารทุกประเภทในเขตพื้นที่ นั่งรับประทานอาหาร ช่วงเวลา 21.00 น. – 6.00 น. รวมถึงห้ามขายเครื่องดื่มทุกชนิด เพื่อลดการรวมตัวของประชาชน และป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่
- ประกอบกับมีกระแสว่า ผู้ติด COVID-19 รายหนึ่ง ซึ่งเป็นดารานักร้อง และมีประวัติเข้าร่วมงานฉลองวันเกิดของมะตูม ปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์การเดินทางของตน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก อีกทั้งยังมีบางส่วนเรียกร้องให้ภาครัฐสอบสวน และดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวระหว่างบุคคลมีชื่อเสียง และคนธรรมดา
- ภายหลัง ข้าวโอ๊ต คริษฐ์ พรรณธรรม สมาชิกวง Axis ได้ออกมายอมรับว่า ตนเป็นผู้ติดเชื้อที่ปกปิดข้อมูลตามข่าว พร้อมชี้แจงผ่านรายการแฉ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่าเข้ารักษาตัวตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. ซึ่งช่วงวันที่ 12-13 ม.ค. เริ่มมีอาการไม่สบาย แน่นจมูก คิดว่าป่วยเป็นภูมิแพ้ จึงได้ฝากคนรู้จักซื้อยามากินเอง และไม่ได้ออกไปไหน
- คริษฐ์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในวันเกิดมะตูมว่า มีการจัดงาน 2 วัน คือวันที่ 8 ม.ค. เป็นวันที่เพื่อนๆ รวมตัวกันไปเซอร์ไพรส์มะตูมที่คอนโด และวันที่ 9 ม.ค. เป็นวันที่มีการจัดงานวันเกิดที่โรงแรมบันยันทรี
- ซึ่งคริษฐ์ได้ถือเค้กไปเซอร์ไพรส์วันเกิดมะตูมวันที่ 8 ม.ค. และรูปถือเค้กที่มีการเผยแพร่เป็นรูปของวันที่ 8 ม.ค. ส่วนวันที่ 9 ม.ค. ตนไม่ได้เข้าร่วมงาน แต่เดินทางไปที่โรงแรมบันยันทรี เพื่อแวะเจอเพื่อนคนหนึ่งแล้วก็กลับ โดยเพื่อนคนนั้นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงานวันเกิดของมะตูม จึงคาดว่าจะติด COVID-19 มาจากเพื่อนคนดังกล่าว
- คริษฐ์ยังกล่าวอีกว่าที่ผ่านมาไม่ได้จงใจปกปิดไทม์ไลน์ตามที่มีรายงานออกมา แต่ส่วนที่ไทม์ไลน์หายไป เนื่องจากขณะนั้นมีอาการป่วย แต่ไม่ได้คิดว่าเป็น COVID-19 จึงพยายามกินยาด้วยตัวเอง จนรู้สึกว่าดีขึ้น แต่เมื่อเห็นข่าวมะตูมออกมาแถลงว่าป่วย COVID-19 ตนก็รีบไปตรวจ
- นอกจากนี้ คริษฐ์ได้อธิบายเพิ่มว่า ไทม์ไลน์ที่เปิดเผยนั้น มีบางส่วนที่ไม่เป็นความจริง เพราะไม่ตรงกับที่แจ้งเจ้าหน้าที่ไปก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้จงใจปิดบังข้อมูล แต่กำลังรอผลยืนยันจากทางแพทย์ว่า อาการติดเชื้ออยู่ในขั้นไหน กำลังเป็นหรือกำลังจะหาย ทางแพทย์จะให้คำตอบในวันที่ 31 ม.ค. เพราะตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลมาแทบไม่มีอาการเลย
- นอกจากเคสปกปิดข้อมูลของคริษฐ์ ยังพบว่ามีผู้ร่วมงานที่ติด COVID-19 อีกหลายคนที่หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลการเดินทาง อาทิ อาชีพเชฟร้านอาหาร ไม่ให้ข้อมูล วันที่ 17-18 ม.ค., อาชีพผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไม่ให้ข้อมูล วันที่ 17-21 ม.ค. และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ข้อมูล ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค. และ 14-21 ม.ค.
- การปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ และการกระทำที่ดูเหมือนละเมิดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ประชาชนหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านแฮชแท็ก #ดีเจมะตูม กันมากมาย อีกทั้งยังมีคนในวงการหลายคนออกมาเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
- หลังจากระแสข่าวเรื่องนี้ออกไป อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จากไทม์ไลน์จัดปาร์ตี้วันเกิดกันในวันที่ 9 ม.ค.อยู่ในช่วงที่ภาครัฐขอความร่วมมืออย่าจัดงานเลี้ยง ดังนั้นถือเป็นการละเมิด แต่เราไม่ได้ห้าม และต้องไปตรวจสอบอีกครั้งว่างานปาร์ตี้ดังกล่าวโรงแรมเปิดให้รับประทานหลัง 3 ทุ่ม รวมถึงจำหน่ายแอลกอฮอล์หรือไม่ ซึ่งถ้าหากตรวจพบก็ถือว่าผิดทั้งเจ้าของปาร์ตี้ ผู้ร่วมงานและโรงแรม หน้าที่ตรวจสอบตรงนี้ได้มีการสั่งการไปแล้ว
- ล่าสุดวันนี้เอง (28 ม.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า จากกรณีคลัสเตอร์ดีเจมะตูม พบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 113 ราย เสี่ยงต่ำอีก 53 ราย โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พบว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ เดินทางไปหลายสถานที่ อีกทั้งการให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน และบางรายปกปิดข้อมูล
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัยมัย กทม. โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมถึงเข้าข่ายผิดกฎหมายอื่นๆ ได้แก่
– ความผิดฐานขัดขวาง ไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
– ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
– สถานที่ใช้จัดงานเลี้ยงอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่โรค ไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
– บุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงก็อาจเข้าข่าย ฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรม มั่วสุมในสถานที่แออัด
- กทม. เอง ก็ได้ออกมาแถลงความคืบหน้าในการตรวจสอบประวัติผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับมะตูม เบื้องต้นหน่วยงานยังประสบปัญหาการตรวจสอบข้อมูล เนื่องจากบางรายไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล และจากกรณีกฎหมายที่บังคับการเปิดเผยไท์ไลน์นั้น กทม. ระบุว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่หากผู้ป่วยจงใจปิดบังข้อมูลต่อไป หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
- เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่การเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์นี้ไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับประชาชนเท่านั้น ยังนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงการเป็น ‘อภิสิทธิ์ชน’ และการจับตามองการทำงานของภาครัฐฯ หลังจากที่หลายคนมองว่า ที่ผ่านมาข้อบังคับ และมาตรการต่างๆ มีผลบังคับใช้เฉพาะบุคคลทั่วไป นี่จึงจะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พิสูจน์ว่า กฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติจริงหรือไม่ ?
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2021303
https://mgronline.com/entertainment/detail/9640000008469
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2550861
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_5827891
https://www.thairath.co.th/news/local/2020407
https://thematter.co/brief/134196/134196
https://www.bbc.com/thai/thailand-55837574
#Recap #TheMATTER