คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติขึ้นค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนจาก 20 บาท/คน/วัน มาเป็น 21 บาท/คน/วัน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงินแค่นี้จะพอทำอะไรให้เด็กๆ กิน โดยที่ได้สารอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
.
อันที่จริง เงินค่าอาหารกลางวันไทย ก็มีไม่มากนักนับแต่อดีต เช่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็น 13 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็น 20 บาท/คน/วัน และตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จะเป็น 21 บาท/คน/วัน
.
หน่วยงานรัฐไทยอย่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงจัดทำแพล็ตฟอร์มรวบรวมเมนูอาหารเพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ใช้ประกอบการจัดทำเมนูอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 หรือถึงปีนี้ก็ครบ 10 ปีพอดี โดยมีเมนูอาหารให้เลือกมากกว่า 1,000 เมนู ให้แต่ละโรงเรียนนำไปใช้ในการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่ยังทำให้เด็กๆ ได้สารอาหารที่เพียงพอ
.
แพล็ตฟอร์มดังกล่าวมีชื่อว่า Thai School Lunch
.
ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพล็ตฟอร์มดังกล่าว มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อปท. และ กทม. ไปจนถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั่วประเทศ รวมกว่า 5.7 หมื่นโรงเรียน
.
ในงานแถลงผลงานในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ NECTEC กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ NECTEC ประกาศว่า Thai School Lunch “ถือเป็นความภูมิใจ” เพราะทำแล้วมีคนนำไปใช้งานจริง และใช้งานอย่างต่อเนื่อง
.
ผู้อำนวยการ NECTEC ยังบอกอีกว่า ในปี พ.ศ.2564 จะต่อยอดโครงการนี้ ด้วยโครงการ Farm to School ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน ให้เกษตรกรได้วางแผนการผลิตเพื่อป้อนผลผลิตให้กับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งอาจปรับเมนูอาหารกลางวันให้สอดรับกับผลผลิตที่มีในท้องถิ่น โดยจะเริ่มนำร่องก่อนใน จ.สุรินทร์
.
การนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญอย่างเรื่องของงบประมาณ
.
.
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.prachachat.net/politics/news-610830
https://www.thansettakij.com/content/normal_news/468096
https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-software/thaischoollunch.html#
#Brief #TheMATTER